สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงสถาปนาสมเด็จพระสังฆราช พระองค์ที่ 20

สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงประกอบพระราชพิธีสถาปนา สมเด็จพระมหามุนีวงศ์ เจ้าอาวาสวัดราชบพิธสถิตมหาสีมาราม เป็นสมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก พระองค์ที่ 20 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ ณ พระอุโบสถวัดพระศรีรัตนศาสดาราม ในพระบรมมหาราชวัง

วันนี้ (12 ก.พ.) เมื่อเวลา 18.34 น. ในการพระราชพิธีสถาปนาสมเด็จพระมหามุนีวงศ์ วัดราชบพิธสถิตมหาสีมาราม เป็นสมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก พระองค์ที่ 20 สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเสด็จพระราชดำเนินโดยรถยนต์พระที่นั่งจากพระที่นั่งอัมพรสถาน พระราชวังดุสิต ไปยังพระอุโบสถวัดพระศรีรัตนศาสดารามในพระบรมมหาราชวัง โดยเข้าทางประตูวิเศษไชยศรี รถยนต์พระที่นั่งเทียบที่ประตูเกยหลังวัดพระศรีรัตนศาสดาราม เสด็จเข้าพระอุโบสถ สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเสด็จฯ ไปทรงจุดธูปเทียนท้ายที่นั่งบูชาพระพุทธมหามณีรัตนปฏิมากร พระสัมพุทธพรรณี พระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกย์ พระพุทธเลิศหล้านภาไลย จากนั้นเสด็จฯ ไปที่อาสน์สงฆ์ ทรงประเคนผ้าไตรแด่สมเด็จพระราชาคณะ 6 รูป และพระราชาคณะที่ดำรงตำแหน่งกรรมการมหาเถรสมาคม 12 รูป รวม 18 รูป

สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงรับการถวายความเคารพของผู้มาเฝ้าฯ ประทับพระราชอาสน์ สมเด็จพระมหามุนีวงศ์ลงจากอาสน์สงฆ์ไปครองผ้าที่ในพระฉาก จากนั้นกรรมการมหาเถรสมาคมออกจากพระอุโบสถไปครองผ้าที่พระระเบียงข้างพระอุโบสถ เมื่อครองผ้าเสร็จแล้วกลับเข้ามานั่งยังอาสน์สงฆ์

สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงจุดธูปเทียนเครื่องนมัสการบูชาพระรัตนตรัย ทรงกราบ ประทับพระราชอาสน์ที่เดิม เจ้าหน้าที่กองศาสนูปถัมภ์ กรมการศาสนา นิมนต์พระกรรมการมหาเถรสมาคมไปนั่งที่อาสน์สงฆ์กลางพระอุโบสถ ทรงศีล

สมเด็จพระราชาคณะถวายศีลจบ สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้อาลักษณ์ กองอาลักษณ์และเครื่องราชอิสริยาภรณ์ สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีอ่านประกาศกระแสพระราชโองการสถาปนาสมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก ใจความว่า

บัดนี้เป็นที่ประจักษ์ว่าสมเด็จพระมหามุนีวงศ์ เป็นผู้เจริญยิ่งด้วยพรรษายุกาล รัตตัญญูมหาสถาวีรธรรม ยินดีในเนกขัมมปฏิบัติ ทั้งคันถธุระ และวิปัสสนาธุระ เป็นอจลพรหมจริยาภิรัต ดำรงมั่นในไตรสิกขามิได้เสื่อมถอย มีจริยาการสำรวมเรียบร้อย ไม่หวั่นไหวต่อโลกามิส เป็นคุรฐานียบัณฑิต ผู้มีกิตติประวัติอันผ่องแผ้ว สงเคราะห์พุทธบริษัท ปกครองคณะสงฆ์ เป็นอุปัธยาจารย์ของมหาชนมากมาย มีศิษยานุศิษย์แพร่หลายไพร่ศาล เป็นที่เคารพสักกรานแห่งมวลพุทธศาสนิก บริษัททั่วสังฆมณฑล ตลอดจนประชาราษฎร์ทั่วไป สมควรจะได้สถาปนาขึ้นเป็นสมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก ประธานาธิบดีแห่งสังฆมณฑล เพื่อเป็นศรีศุภมงคลแห่งพระบวรพุทธศาสนาสืบไป

จึงมีพระราชโองการโปรดสถาปนาสมเด็จพระมหามุนีวงศ์ขึ้นเป็นสมเด็จพระสังฆราช มีพระนามตามที่จารึกในพระสุพรรณบัฏว่า

สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ
สุขุมธรรมวิธานธำรง
สกลมหาสงฆปริณายก
ตรีปิฎกธราจารย
อัมพราภิธานสังฆวิสุต
ปาพจนุตตมสาสนโสภณ
กิตตินิรมลคุรุฐานียบัณฑิต
วชิราลงกรณนริศรปสันนาภิสิตประกาศ
วิสารทนาถธรรมทูตาภิวุฒ
ทศมินทรสมมุติปฐมสกลคณาธิเบศร
ปวิธเนตโยภาสวาสนวงศวิวัฒ
พุทธบริษัทคารวสถาน
วิบูลสีลสมาจารวัตรวิปัสสนสุนทร
ชินวรมหามุนีวงศานุศิษฏ
บวรธรรมบพิตร
สมเด็จพระสังฆราช

เสด็จสถิต ณ วัดราชบพิธสถิตมหาสีมารามราชวรวิหาร พระอารามหลวง กรุงเทพฯ เป็นประธานในสังฆมณฑลทั่วราชอาณาจักร

ขออาราธนาให้ทรงรับธุระพระพุทธศาสนา เป็นภาระสั่งสอน ช่วยระงับอธิกรณ์และอนุเคราะห์พระภิกษุสามเณรในสังฆมณฑลทั่วไป โดยสมควรแก่พระอิสริยยศซึ่งพระราชทานนี้ ทรงเจริญพระชนมายุ วรรณะ สุข พล ปฏิภาณ คุณสารสิริสวัสดิ์ จิรัฏฐิติวิรุฬหิไพบูลย์ในพระพุทธศาสนา เทอญ

จากนั้น สมเด็จพระมหามุนีวงศ์ได้รับสถาปนาเป็นสมเด็จพระสังฆราช พระองค์ที่ 20 เสด็จประทับที่อาสน์สงฆ์ซึ่งปูลาดไว้ด้านหน้า สมเด็จพระวันรัตกล่าว “สงฺฆราชฏฺฐปนานุโมทนา” แล้วสมเด็จพระธีรญาณมุนีนำสวด “โส อตฺถลทฺโธ” เสร็จแล้วสมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก เสด็จไปประทับที่อาสน์สงฆ์พร้อมด้วยพระกรรมการมหาเถรสมาคม ณ ท่ามกลางสังมณฑล ซึ่งมีเจ้าคณะใหญ่ เจ้าคณะภาคและเจ้าคณะจังหวัด สวดรับพร้อมกันจบแล้ว

สมเด็จพระสังฆราชเสด็จจากอาสน์สงฆ์กลางพระอุโบสถไปประทับ ณ อาสนะ ซึ่งปูลาดไว้ข้างพระแท่นเศวตฉัตร หัวอาสน์สงฆ์สังคมณฑล อธิบดีกรมการศาสนาเป็นผู้กราบทูลนำเสด็จประทับ พระกรรมการมหาเถระสมาคมตามไปนั่งที่อาสน์สงฆ์สังฆมณฑลพร้อมแล้ว สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเสด็จฯ ไปถวายน้ำพระมหาสังข์ทักษิณาวัฏแด่สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปรินายก สมเด็จพระสังฆราชทรงแบพระหัตถ์โดยมีพานแก้วรองรับ

ขณะนั้น พระสงฆ์ในสังฆมณฑลเจริญชัยมงคลคาถา โหรหลวงลั่นฆ้องชัย พราหมณ์เป่าสังข์ ภูษามาลาแกว่งบัณเฑาะว์ เจ้าพนักงานประโคมสังข์ แตร ดุริยางค์ พระสงฆ์ตามพระอารามทั่วราชอาณาจักร ซึ่งชุมนุมในพระอุโบสถเจริญชัยมงคลคาถา และย่ำระฆัง โดยมี นายปรีชาญ อินทรไพโรจน์ ผู้อำนวยการพระคลังข้างที่ รักษาการในตำแหน่งผู้อำนวยการวัดพระศรีรัตนศาสดาราม เป็นผู้รับหน้าที่ย่ำระฆัง ณ หอระฆัง วัดพระศรีรัตนศาสดารามในพระบรมมหาราชวัง การย่ำระฆังครั้งนี้ใช้ไม้เหง้าจากไผ่ตง “ตี 3 ลา” อันเป็นจังหวะจากช้าไปเร็ว เมื่อจบการตีแล้วจะย่ำระฆังเป็นจังหวะสม่ำเสมอจำนวน 20 ครั้ง ฉลองโอกาสสถาปนาสมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก พระองค์ที่ 20 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์

ต่อมาเจ้าหน้าที่กองอาลักษณ์และเครื่องราชอิสริยาภรณ์เป็นผู้เชิญทูลเกล้าฯ ถวายสมเด็จพระสังฆราช สมเด็จพระสังฆราชทรงรับแล้ว เจ้าหน้าที่กองศาสนูปถัมภ์ กรมการศาสนาเชิญไปตั้งไว้บนพระแท่นเศวตฉัตร ถวายพระตราตำแหน่งสมเด็จพระสังฆราช ผู้อำนวยการสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติเป็นผู้เชิญทูลเกล้าฯ ถวายสมเด็จพระสังฆราชทรงรับแล้ว เจ้าหน้าที่กองศาสนูปถัมภ์ กรมการศาสนาเชิญไปตั้งไว้บนพระแท่นเศวตฉัตร ถวายพัดยศ ไตรแพร เครื่องยศสมณศักดิ์ เจ้าหน้าที่สำนักพระราชวังเป็นผู้เชิญทูลเกล้าฯ ถวาย สมเด็จพระสังฆราชทรงรับแล้ว เจ้าหน้าที่กองศาสนูปถัมภ์ กรมการศาสนาเชิญไปตั้งที่โต๊ะเคียง ข้างพระแท่นเศวตฉัตร ประทับพระราชอาสน์ที่เดิม พระสงฆ์ในสังฆมณฑลเจริญชัยมงคลคาถาจบ

สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเสด็จฯ ไปถวายใบปวารณาแทนจตุปัจจัยไทยธรรมแด่สมเด็จพระราชาคณะซึ่งนั่งอยู่ที่อาสน์สงฆ์ ประทับพระราชอาสน์ที่เดิม ส่วนพระราชาคณะในสังฆมณฑลจะได้ลงจากอาสน์สงฆ์ เดินเข้าไปรับตามลำดับจำนวน 171 รูป สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงหลั่งทักษิโณทก พระสงฆ์ในสังมณฑลถวายอนุโมทนา ถวายอดิเรก จบแล้ว อธิบดีกรมการศาสนากราบทูลนำสมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปรินายก ไปประทับ ณ อาสน์สงฆ์ กลางพระอุโบสถ พระพักตร์ตรงพระทวารกลางพระอุโบสถเพื่อทรงรับเครื่องสักการะ

พระมหาเถระผู้ใหญ่ฝ่ายคณะธรรมยุต (สมเด็จพระวันรัต) และพระมหาเถระผู้ใหญ่ฝ่ายมหานิกาย (สมเด็จพระพุทธชินวงศ์) สมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ประธานองคมนตรี นายกรัฐมนตรี ประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ ประธานศาลฎีกา ถวายเครื่องสักการะแด่สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก แล้ว

สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก ทรงหันพระองค์กลับไปทรงกราบพระพุทธมหามณีรัตนปฏิมากร ทรงกราบ ผู้อำนวยการสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติเชิญพัดยศนำเสด็จออกจากพระอุโบสถลงทางพระทวารกลาง พระสงฆ์ในสังฆมณฑลออกจากพระอุโบสถตามสมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก ลงทางพระทวารท้ายอาสน์สงฆ์

สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก เสด็จลงทางพระทวารกลางพระอุโบสถ ทรงรับเครื่องสักการะของบรรพชิตญวณและจีน

จากนั้นเวลา 19.58 น. เสด็จจากพระอุโบสถ ไปประทับรถเบนซ์สีครีมพระราชทานจากสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ป้ายทะเบียน ร.ย.ล.0194 ที่ประตูเกย หน้าวัดพระศรีรัตนศาสดาราม เสด็จไปยังวัดราชบพิธสถิตมหาสีมาราม

เมื่อสมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปรริณายก เสด็จพ้นพระอุโบสถไปประทับรถยนต์พระประเทียบแล้ว สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเสด็จฯ ไปทรงกราบที่หน้าเครื่องนมัสการที่หน้าธรรมาสน์ศิลา ทรงรับการถวายความเคารพของผู้มาเฝ้าฯ เสด็จฯออกจากพระอุโบสถไปประทับรถยนต์พระที่นั่งที่ประตูเกยหลังวัดพระศรีรัตนศาสดาราม เสด็จฯ กลับ

ทั้งนี้ เครื่องยศสมณศักดิ์ของสมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปรินายก ประกอบด้วย พระตราตำแหน่งสมเด็จพระสังฆราช พัดยศ ไตรแพร บาตรพร้อมด้วยฝาและเชิงบาตรถมปัด พานพระศรี (มังสี 2 ตลับพู่ 1 จอก 1 ซองพลู 1 พร้อมพูล), ขันน้ำพานรองมีจอก ถาดสรงพระพักตร์ ขันน้ำพานรองมีจอก คลุมตาดรูปฝาชี หีบตราจักรี (หีบหลังเจียด) หีบพระโอสถหลังนูน คนโท กาทรงกระบอก หม้อลักจั่น ปิ่นโตกลม 4 ชั้น สุพรรณราช และสุพรรณศรี

The Establish Ceremony of the 20th Sangharaja of Thailand


พระราชโองการ ประกาศสถาปนาสมเด็จพระสังฆราช [สมเด็จพระมหามุนีวงศ์]

เว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษาได้เผยแพร่ประกาศ สถาปนาสมเด็จพระมหามุนีวงศ์ขึ้นเป็นสมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก ประธานาธิบดีแห่งสังฆมณฑล เพื่อเป็นศรีศุภมงคลแห่งพระบวรพุทธศาสนาสืบไป

เมื่อวันที่ 12 ก.พ. เว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษาได้เผยแพร่ประกาศ สถาปนาสมเด็จพระสังฆราช ตามข้อความที่ว่า

สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร มีพระราชโองการโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้ประกาศว่า โดยที่ตำแหน่งสมเด็จพระสังฆราชสกลมหาสังฆปริณายกว่างลง สมควรที่จะสถาปนาสมเด็จพระราชาคณะขึ้นดำรงตำแหน่งสมเด็จพระสังฆราชเพื่อจักได้บริหารการพระศาสนาให้สมบูรณ์สืบไป

จึ่งทรงพระราชดำริว่า สมเด็จพระมหามุนีวงศ์เป็นพระเถระผู้เจริญในสมณคุณยินดีในเนกขัมมปฏิบัติสมบูรณ์ด้วยศีลสมาจารวัตร รัตตัญญูมหาเถรกรณธรรม ดำรงสถาพรอยู่ในสมณพรหมจรรย์ตลอดมาเป็นเวลาช้านาน ได้ประกอบกรณียกิจเป็นหิตานุหิตประโยชน์แก่พุทธจักรและราชอาณาจักรอย่างไพศาล ดังมีอรรถจริยาปรากฏเกียรติสมภารในประกาศสถาปนาสมณศักดิ์เป็นสมเด็จพระราชาคณะมหาสังฆนายกเมื่อวันที่ ๕ ธันวาคม พุทธศักราช ๒๕๕๒ แล้ว นั้น

ครั้นต่อมา สมเด็จพระมหามุนีวงศ์ ยิ่งเจริญด้วยอุตสาหวิริยาธิคุณสามารถรับภารธุระพระพุทธศาสนา เป็นพาหุลกิจนิตยสมาทานมิได้ท้อถอย ยังการพระศาสนาให้เรียบร้อยและเจริญมั่นคงยิ่งขึ้นเป็นลำดับตลอดมา

ในการบริหารและการปกครองคณะสงฆ์
สมเด็จพระมหามุนีวงศ์ได้รับแต่งตั้งให้เป็นเจ้าอาวาสวัดราชบพิธสถิตมหาสีมารามราชวรวิหาร พระอารามหลวง กรุงเทพมหานคร เป็นกรรมการมหาเถรสมาคม แม่กองงานพระธรรมทูต และที่ปรึกษาเจ้าคณะภาค ๑๔ – ๑๕ (ธรรมยุต) ประธานกรรมการคณะธรรมยุต กรรมการเถรสมาคมธรรมยุต เป็นพระอุปัชฌาย์ นายกสภามหาวิทยาลัยมหามกุฏราชวิทยาลัยและนายกกรรมการบริหารมูลนิธิมหามกุฏราชวิทยาลัยในพระบรมราชูปถัมภ์

ด้านการศึกษา
รับเป็นอาจารย์สอนธรรมวินัยแก่พระภิกษุสามเณร เป็นกรรมการสนามหลวงแผนกธรรมและแผนกบาลี เป็นประธานศูนย์ธรรมศึกษาในสำนักเรียนวัดราชบพิธสถิตมหาสีมาราม และเป็นองค์อุปถัมภ์โรงเรียนวัดราชบพิธ

ด้านการศึกษาสงเคราะห์
เป็นกรรมการฝ่ายการศึกษาสงเคราะห์ของมหาเถรสมาคม ได้จัดมอบทุนสนับสนุนและส่งเสริมแก่นักเรียนที่มีผลการเรียนดีแต่ขาดแคลนทุนทรัพย์ทั้งสามัญศึกษาและปริยัติศึกษาเพื่อให้ศิษยานุศิษย์มีโอกาสได้รับการศึกษาชั้นสูงยิ่งขึ้น

ด้านสาธารณูปการ
เป็นประธานกรรมการควบคุมดูแลการปฏิสังขรณ์เสนาสนะวัดราชบพิธสถิตมหาสีมารามให้มีสภาพมั่นคงสง่างามดังที่ปรากฏในปัจจุบัน นอกจากนั้นยังได้อุปการะการสร้างและปฏิสังขรณ์เสนาสนะให้แก่วัดต่างๆ เป็นจำนวนมาก

ด้านการสาธารณสงเคราะห์
ได้รับเป็นประธานมูลนิธิพระอาจารย์ฝั้น อาจาโร และสนับสนุนช่วยเหลือทางราชการในการสงเคราะห์ผู้ประสบภัยต่างๆ ตามเหตุการณ์ทุกครั้ง

ด้านการเผยแผ่พระพุทธศาสนา
ได้รับอาราธนาแสดงธรรมเทศนาในวันธรรมสวนะให้แก่ผู้มารักษาศีลปฏิบัติธรรม เป็นผู้บุกเบิกนำพระพุทธศาสนาไปเผยแผ่ที่นครซิดนีย์ รัฐนิวเซาท์เวลส์ เครือรัฐออสเตรเลีย รวมทั้งได้วางรากฐานการเผยแผ่พระพุทธศาสนาอย่างมีรูปแบบ ทำให้พระพุทธศาสนาฝ่ายเถรวาทมีความมั่นคงในไพรัชประเทศ มีวัดและพระสงฆ์ไทยอยู่ประจำที่เครือรัฐออสเตรเลียหลายแห่ง รวมทั้งเป็นผู้แทนมหาเถรสมาคมในคราวที่ประเทศไทยเป็นเจ้าภาพจัดงานวันวิสาขบูชาวันสำคัญสากลของโลก ณ สำนักงานใหญ่ องค์การสหประชาชาติ นครนิวยอร์ก สหรัฐอเมริกา

บัดนี้เป็นที่ประจักษ์ว่า สมเด็จพระมหามุนีวงศ์ เป็นผู้เจริญยิ่งด้วยพรรษายุกาล รัตตัญญูมหาสถาวีรธรรม ยินดีในเนกขัมมปฏิบัติ ทั้งคันถธุระและวิปัสสนาธุระ เป็นอจลพรหมจริยาภิรัต ดำรงมั่นในไตรสิกขามิได้เสื่อมถอย มีจริยาการสำรวมเรียบร้อย ไม่หวั่นไหวต่อโลกามิส เป็นคุรุฐานียบัณฑิต ผู้มีกิตติประวัติอันผ่องแผ้ว สงเคราะห์พุทธบริษัท ปกครองคณะสงฆ์ เป็นอุปัธยาจารย์ของมหาชนมากมาย มีศิษยานุศิษย์แพร่หลายไพศาล เป็นที่เคารพสักการแห่งมวลพุทธศาสนิกบริษัททั่วสังฆมณฑลตลอดจนประชาราษฎรทั่วไป สมควรจะได้สถาปนาขึ้นเป็นสมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก ประธานาธิบดีแห่งสังฆมณฑล เพื่อเป็นศรีศุภมงคลแห่งพระบวรพุทธศาสนาสืบไป

จึ่งมีพระราชโองการโปรดสถาปนา สมเด็จพระมหามุนีวงศ์ ขึ้นเป็นสมเด็จพระสังฆราชมีพระนามตามที่จารึกในพระสุพรรณบัฏว่า

สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สุขุมธรรมวิธานธำรง สกลมหาสงฆปริณายก ตรีปิฎกธราจารย อัมพราภิธานสังฆวิสุต ปาพจนุตตมสาสนโสภณ กิตตินิรมลคุรุฐานียบัณฑิต วชิราลงกรณนริศรปสันนาภิสิตประกาศ วิสารทนาถธรรมทูตาภิวุฒ ทศมินทรสมมุติปฐมสกลคณาธิเบศร ปวิธเนตโยภาสวาสนวงศวิวัฒ พุทธบริษัทคารวสถาน วิบูลสีลสมาจารวัตรวิปัสสนสุนทร ชินวรมหามุนีวงศานุศิษฏ บวรธรรมบพิตร สมเด็จพระสังฆราช

เสด็จสถิต ณ วัดราชบพิธสถิตมหาสีมารามราชวรวิหาร พระอารามหลวง กรุงเทพมหานคร เป็นประธานในสังฆมณฑลทั่วราชอาณาจักร

ขออาราธนาให้ทรงรับธุระพระพุทธศาสนา เป็นภาระสั่งสอน ช่วยระงับอธิกรณ์ และอนุเคราะห์พระภิกษุสามเณรในสังฆมณฑลทั่วไป โดยสมควรแก่พระอิสริยยศซึ่งพระราชทานนี้ ทรงเจริญพระชนมายุ วรรณ สุข พล ปฏิภาณ คุณสารสิริสวัสดิ์ จิรัฏฐิติวิรุฬหิไพบูลย์ ในพระพุทธศาสนา เทอญ

ให้ทรงมีพระราชาคณะและพระครูฐานานุกรมประดับพระอิสริยยศ ๑๕ รูป คือ พระมหาคณิสร พุทธศาสนิกนิกรปสาทาภิบาล สกลสังฆประธานมหาสถาวีรกิจการี นายกบดีศรีรัตนคมกาจารย์ พระราชาคณะปลัดขวา ๑ พระจุลคณิศร สัทธรรมนิติธรมหาเถราธิการ คณกิจบรรหารธุรการี สมุหบดีศรีธรรมภาณกาจารย์ พระราชาคณะปลัดซ้าย ๑ พระครูวินยาภิวุฒิ ๑ พระครูสุตตาภิรม ๑ พระครูวิจารณ์ธรรมกิจ พระครูพระปริต ๑ พระครูวิจิตรธรรมการ พระครูพระปริต ๑ พระครูวินัยธร ๑ พระครูธรรมธร ๑ พระครูโฆสิตสุทธสร พระครูคู่สวด ๑ พระครูอมรสรนาท พระครูคู่สวด ๑ พระครูพิลาสบรรณวัตร ๑ พระครูพิพัฒบรรณกร ๑ พระครูสังฆวิธาน ๑ พระครูสมุห์ ๑ พระครูใบฎีกา ๑ ขอให้พระคุณผู้ได้รับตำแหน่งทั้งปวงนี้ มีความสุขสิริสวัสดิ์สถาพรในพระบวรพุทธศาสนา เทอญ

ที่มา