‘ดร.สุเมธ’ ร่วมต้านทุจริต เผยในหลวงสาปแช่งคนโกง

‘การกินการโกง กระทำต่อหน้าพระพักตร์ทั้งสิ้น เงินที่นับ ไม่กลัวบ้างหรือว่า มีใครจ้องมองอยู่ นับใบหนึ่ง ก็แช่งให้อายุสั้นไปปีหนึ่ง พระองค์ท่านจ้องเขม็งทุกใบ หามีจิตสำนึกไม่ว่า ระดับไหน ในหลวงจึงรับสั่ง ยิ่งรวยยิ่งโกง’

คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ร่วมกับสถาบันชุมชนท้องถิ่นพัฒนา (สทพ.) กองทุนสื่อประชาสังคมต้านคอรัปชั่น (กองทุน สปต.) องค์กรภาคประชาสังคม 11 องค์กร สภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ มูลนิธิประเทศไทยใสสะอาด องค์กรเพื่อความโปร่งใสในประเทศไทย และสำนักงานคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน (ก.พ.) ได้จัดสัมมนา ‘บทบาทภาคประชาชนในการป้องกันและแก้ไขการทุจริต’ ที่โรงแรมเดอะทวินทาวเวอร์ เมื่อวันที่ 16 มี.ค.ที่ผ่านมา

ในงานดังกล่าวผู้จัดได้เชิญ ดร.สุเมธ ตันติเวชกุล ประธานมูลนิธิประเทศไทยใสสะอาด กล่าวบรรยายพิเศษหัวข้อ ‘ภาครัฐและเอกชนร่วมต้านทุจริต’ โดยมีเนื้อหา ที่น่าสนใจหลายเรื่อง ‘กรุงเทพธุรกิจ’ จึงได้คัดลอกสาระสำคัญดังกล่าว จากหนังสือพิมพ์ไทยโพสต์ เพื่อให้สมาชิกได้อ่าน


พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงมีกระแสรับสั่งแก่ผู้ว่าราชการซีอีโอ เมื่อวันที่ 8 ตุลาคม 2546 ว่า ‘ถ้าทุจริตแม้แต่นิดเดียวก็ขอแช่งให้มีอันเป็นไป พูดอย่างนี้หยาบคาย แต่ว่าต้องให้มีอันเป็นไป แต่ถ้าไม่ทุจริต สุจริต และมีความตั้งใจมุ่งมั่น สร้างความเจริญ ก็ขอต่ออายุให้ถึง 100 ปี ใครมีอายุมากอยู่แล้ว ก็ขอให้แข็งแรง ความสุจริตจะทำให้ประเทศไทยรอดพ้นอันตรายภายใน 10 ปี เมืองไทยน่าจะเจริญ ข้อสำคัญต้องยึดความสุจริตให้สำเร็จ และไม่ทุจริตเสียเอง’

ในฐานะที่ได้ถวายงานมากว่า 20 ปี ไม่เคยได้ยินพระกระแสรับสั่งครั้งใดที่รุนแรงเท่ากับครั้งนี้เลย เพราะฉะนั้นปัญหาทุจริตเข้าขั้นรุนแรงอันตราย และขณะที่พระเจ้าอยู่หัวทรงทนไม่ได้ ยังรับสั่งอีกด้วยซ้ำไปว่า เป็นคำพูดที่หยาบคาย ที่พระองค์ท่านทรงได้พูดสิ่งเหล่านี้อยู่แล้วยังนิ่งเฉยอยู่ คงทำไม่ได้แล้ว

ปัญหาการคอรัปชั่นเหมือนโรคร้ายชนิดหนึ่ง พูดซ้ำแล้วซ้ำเล่าในหลายเวที ในการสัมมนาก็มีการทำเอกสาร ผลงานวิจัย 4-5 ครั้ง ทำให้ทราบกันดีว่าสาเหตุอาการของโรค แนวทางรักษาเป็นอย่างไรบ้าง แต่คนไข้ก็ทรุดหนักลงทุกวัน และอาการขณะนี้ถึงขั้นต้องผ่าตัดกันแล้ว จะพึ่งหมอคือภาครัฐอย่างเดียวคงไม่ได้ แต่ต้องอาศัยทุกภาคส่วนร่วมมือกัน

กระแสรับสั่งเมื่อวันที่ 8 ตุลาคม 2546 ว่า ถ้าโกงกินอย่างนี้บ้านเมืองพินาศแน่ บ้านเมืองเป็นของใคร เป็นของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวพระองค์เดียวหรือ แต่ประชาชนทุกหมู่เหล่าต้องมีส่วนร่วมรับผิดชอบรักษาแผ่นดิน ขณะนี้องค์กรทางสังคมเกิดขึ้นมามากมายต่างก็มีบทบาท วันนี้ผมอยากมีความหวังเล็กๆ ให้พวกเราร่วมพลังรู้รักสามัคคี เข้าไปขจัดโรคร้ายนี้ออกจากแผ่นดินให้ได้

แม้จะมีองค์กรภาครัฐทำหน้าที่ปราบปรามการทุจริตคอรัปชั่น แต่ส่วนใหญ่เป็นการกระทำปลายท่อ พบว่า กระบวนการสอบสวนสืบสวนยาวเหยียด กว่าจะถึงปลายทางใช้เวลาหลายปี อีกทั้งการวางกฎเกณฑ์ที่ตั้งขึ้นใหม่ตามรัฐธรรมนูญ มีการวางไว้สลับซับซ้อนมาก ขอยืนยันว่า เรามีรัฐธรรมนูญที่ดีที่สุดในโลก แต่ของดีบางครั้งใช้เป็นหรือเปล่าไม่รู้ เพราะเห็นหยิบมาตราใดขึ้นมาก็ต้องส่งตุลาการตีความทุกเรื่อง ทุกมาตรา เพราะเราไม่รู้ว่ามันคืออะไร ของดีที่ไม่รู้คือกิ้งก่าได้ทอง

‘ต้องขออภัยที่พูดรุนแรง แต่ความจริงไม่รุนแรง พูดตามสภาพที่เห็นอยู่ทุกเมื่อเชื่อวัน ก็พูดอย่างตรงไปตรงมา เพราะบางครั้งเราสร้างอะไรที่ดีขึ้นมา แต่เราไม่รู้จักว่ามันคืออะไร ก็ป่วยการที่จะสร้างขึ้นมา เพราะฉะนั้น พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวจึงทรงรับสั่งให้ทำอะไรแต่พอดี สมกับสถานะภูมิสังคม ประเทศไทยเป็นอย่างไรอย่าทำฝืนธรรมชาติ

นอกจากเราไม่พิจารณาความหลากหลาย ความแตกต่างในบ้านเมืองแล้ว ซ้ำร้ายยังเอาตัวบทกฎเกณฑ์ต่างประเทศมาใช้ ซึ่งไม่สอดคล้องกับเราเลย มันถึงได้ยุ่งเหยิงเหมือนทุกวันนี้ ของนำเข้าที่ว่าดี มันไม่ดีเสมอไป ตราบใดที่ไม่สอดคล้องกับภูมิสังคม ก็ใช้ไม่ได้ หรือกรณีของ Good Governance เราก็บ้าเห่อตามกัน นอกจากนั้น ยังเป็นต้นแบบของการโกงแบบบูรณาการ อย่างเอมรอน หรืออะไรก็ตาม อ่านดูก็แล้วกัน สมบูรณ์แบบของความดีและสมบูรณ์แบบทั้งความเลวที่แสดงให้เราเห็นด้วย ของดีๆ ในบ้านเมืองของเรามีดี เราจะครองแผ่นดินโดยธรรม Good Governance ในหลวงทรงประกาศมา 57 ปีแล้ว ตั้งแต่คำนี้ยังไม่เกิด เราประชาชนคนไทยอยู่ใกล้ของดีไม่เห็น

แต่พอ Good Governance เกิดขึ้นมาก็ตื่นเต้น บ้าเห่อกัน ก็มาแปลเป็นธรรมาภิบาล ธรรมรัฐ แล้วก็ไม่รู้เรื่องอีกว่ามันแปลว่าอะไร

‘พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงรับสั่งว่า Good Governance คือ ธรรมะ ไม่ต้องแปลธรรมาภิบาลอะไรให้เวียนหัว บูรณาการ ซีอีโออะไร ไม่ต้องแปล ธรรมะคือความดี พระองค์ทรงใช้ศาสตร์ของความดีในการครองแผ่นดิน 57 ปี ทรงใช้คำๆ เดียวเท่านั้นเอง ทศพิธราชธรรม แต่น่าเสียดายว่าของดีในบ้านเมืองเราเป็นหลักปฏิบัติให้อย่างดีสอดคล้องกับภาวะสิ่งแวดล้อม ธรรมชาติ หลักนิยม วิธีคิดของเราด้วยซ้ำไป แต่เราไม่เคยดู’

ในการบรรยายทุกครั้งได้เตือนข้าราชการ การกินการโกง กระทำต่อหน้าพระพักตร์ทั้งสิ้น ยังไม่เข้าใจอีก เงินที่นับกัน ไม่กลัวสิ่งที่ตัวเองนับบ้างหรือว่ามีใครจ้องมองตัวเองอยู่ บางทีก็แช่งด้วยซ้ำไป นับใบหนึ่งก็แช่งที ใบหนึ่งก็อายุสั้นอย่างน้อยปีหนึ่ง และสุดท้ายก็ต้องไปอยู่คุก พระองค์ท่านจ้องเขม็งมาทุกใบ หามีจิตสำนึกไม่ว่าระดับไหน ในหลวงจึงรับสั่งยิ่งรวยยิ่งโกง

ในส่วนของการสร้างเครือข่ายต่อต้านการคอรัปชั่นนั้น กลุ่มที่สำคัญและคิดว่าเป็นอาวุธร้ายแรงกว่า ป.ป.ช.ก็คือสื่อมวลชน เนื่องจากคนเลวไม่ค่อยกลัว ป.ป.ช.เพราะพวกนี้มีวิธีกลเม็ดหลีกเลี่ยง แต่เขากลัวสังคม ดังนั้น สื่อไม่ใช่มีหน้าที่สื่อข่าวอย่างเดียว แต่ต้องรักษาประเทศชาติด้วย เสริมความเข้มแข็งในส่วนนี้ แม้ว่ามีแต่ข่าวไม่ดีทางหน้าหนึ่ง แต่ก็ขอหน้าสองหน้าสามเสนอเรื่องคนดีบ้าง หรือไม่ก็ขอให้เสนอข่าวทำลายเรื่องไม่ดีขึ้นหน้าหนึ่งบ้าง ถ้าร่วมมือกันอย่างนี้แล้ว เครือข่ายต่อต้านการทุจริตจะเข้มแข็งมากขึ้น

‘พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงมองการณ์ไกล จะทรงตรัสอะไร คิดหลายตลบ พระองค์ท่านให้เวลา 10 ปี ขจัดการโกงกิน ยาวกว่านายกฯ ที่จะขจัดความยากจน 6 ปี 10 ปีในชีวิตของเราดูนานแต่แผล็บเดียว’


ที่มา นสพ. กรุงเทพธุรกิจ 18 มี.ค. 2547