เขาคือใคร โจนาธาน ไอฟว์

ปีหนึ่งจะมีเรื่องของสุดยอดนักออกแบบผู้อยู่เบื้องหลังความสำเร็จของแอ็ปเปิ้ล คอมพิวเตอร์สักเรื่องหนึ่ง ทำให้ต้องรีบอ่านและเรียบเรียงออกมาเป็นภาษาไทย อ่านแล้วก็เข้าใจเบื้องหลังมากขึ้นอย่างนั้นจริงๆ แม้สำบัดสำนวนของ BusinessWeek ค่อนข้างจะสลับซับซ้อน ผมก็มุ่งมั่นที่จะเรียบเรียงเรื่องนี้ออกมาให้ดีที่สุด หวังว่าทุกท่านจะได้รับเรื่องราวดีๆ เช่นกัน

เขาคือใคร โจนาธาน ไอฟว์
มารู้จักกับผู้อยู่เบื้องหลังมหัศจรรย์การออกแบบของแอ็ปเปิ้ล

โดย ปีเตอร์ เบอโรส์

เมื่อช่วงฤดูใบไม้ผลิที่ผ่านมา มีการรวมตัวกันของสุดยอดนักออกแบบหลายท่านอันทำให้งานประชุมสัมมนา Radical Crafts ต้องสั่นสะเทือน งานนี้จัดโดยวิทยาลัยการออกแบบศิลป์แห่งพาซาดีนา แคลิฟอร์เนีย (the Art Center College of Design in Pasadena, Calif.) รายชื่อที่ปรากฏได้แก่ ไอแซค มิสราไฮ (Isaac Mizrahi) นักออกแบบเครื่องแต่งกาย มาบรรยายถึงเรื่องราวต่างๆ ที่ช่วยผลักดันให้เขามีชื่อเสียง, แดนนี่ ฮิลลิส (Danny Hillis) ผู้คิดค้นปัญญาประดิษฐ์ (Artificial intelligence) นำชุดแสดงภาพภูมิประเทศด้วยคอมพิวเตอร์ที่สามารถแสดงภาพสถานที่ต่างๆ บนโลกนี้ออกมาได้ แม้กระทั่งเทือกเขาหิมาลัยในรูปแบบ 3 มิติ, ธีโอ แยนเซ่น (Theo Jansen) นักประดิษฐ์ชาวดัชต์ นำเอาสัตว์ประหลาดชายหาดทำด้วยท่อพีวีซีขนาดประมาณรถโฟคก์เต่ามาแสดง มันสามารถเดินไปมาบทเวทีได้ ดูราวกับปูอวกาศจากหนังของจอร์จ ลูคัส

Jonathan Ive

Jonathan Ive – โจนาธาน ไอฟว์

แต่เจ้าของเรื่องราวในบทความนี้ดูเหมือนจะไม่ค่อยหวืวหวานัก เขาค่อยๆ เดินขึ้นเวทีด้วยทรงผมที่สั้นเกรียนและเสื้อทีเชิ้ตสีเข้ม ผู้บริหารของแอ็ปเปิ้ลคอมพิวเตอร์ระดับรองประธานอาวุโสสายการออกแบบอุตสาหกรรม โจนาธาน ไอฟว์ ดูไปแล้วเขาน่าจะเป็นนักศึกษาปริญญาโทที่หลงทางระหว่างกำลังไปซื้อกาแฟดื่มสักถ้วย ชายชาวอังกฤษวัย 39 ปีผู้นี้ ค่อยๆ หย่อนตัวนั่งลงบนเก้าอี้และเริ่มโต้ตอบด้วยน้ำเสียงนุ่มนวลกับคำถามจากพิธีกรและบรรณาธิการคุณภาพ ชี เพิร์ลแมน (Chee Pearlman) ไม่ว่าจะได้รับเชิญไปบรรยายกี่ครั้ง โจนาธานก็จะออกตัวเสมอที่จะไม่ขออวดอ้างความสามารถในการออกแบบขั้นเอกอุของเขา รวมไปถึงเรื่องใดที่เกี่ยวข้องกับการทำงานร่วมกับ สตีฟ จอบส์ สุดยอดเจ้านายผู้ที่สะกดคำว่าผิดพลาดไม่เป็น

บุรุษผู้ต้องรับผิดชอบสูงสุดรองจากจ็อบส์ในแอ็ปเปิ้ลในเรื่องที่ทำให้ผู้คนหลงใหลเคลิบเคลิ้มไปกับผลิตภัณฑ์ที่โด่งดังมากมาย เลือกจะคุยเกี่ยวกับขั้นตอนการทำงานที่เขาเรียกมันว่า “ความเชี่ยวชาญในการออกแบบ (the craft of design)” เขาพูดถึงคณะทำงานเล็กๆ ของเขาและวิธีการทำงานร่วมกันอย่างภาคภูมิใจ เขาเล่าว่ามันจำเป็นต้องใส่ใจเฉพาะประเด็นและโครงการที่สำคัญจริงๆ เท่านั้น เขาเล่าต่อว่าความเข้าใจอย่างลึกซึ้งถึงขั้นตอนการผลิตสินค้านั้นสำคัญมาก เริ่มตั้งแต่วัสดุที่ใช้ เครื่องมือต่างๆ ที่ใช้ ไปจนถึงประโยชน์ใช้สอยของสินค้าชิ้นนั้นเอง เวลาส่วนใหญ่ของเขาใช้ไปในการใส่ใจว่าสินค้าชิ้นนั้นมันทำงานอย่างไร

เรื่องเหล่านี้ไม่ค่อยน่าสนใจใช่ไหม ยิ่งถ้าเป็นเรื่องของนักออกแบบผู้โด่งดังอย่างเขา เขามักจะไม่ค่อยมีข่าวคราวอะไร ยิ่งข้อมูลเชิงลึกยิ่งไม่ต้องถามถึงเลย นั่นเพราะไอฟว์ไม่ใคร่อยากจะเป็นที่รู้จักทั่วไปนัก และยิ่งงานในหน้าที่ของเขาต้องรักษาความลับทุกเรื่องเกี่ยวกับแอ็ปเปิ้ล จริงแล้วไอฟว์ไม่ค่อยชอบเล่าอะไรให้ฟังสักเท่าไหร่ ใครๆ ก็ประหวั่นหากแอ็ปเปิ้ลเกิดไม่พอใจขึ้นมา แม้แต่ราชศิลปะสมาคมของอังกฤษ (the Royal Society of the Arts in England) ที่ช่วยฟูมฟักเขามาเมื่อ 20 ปีก่อนก็ตาม แอ็ปเปิ้ลมีวิธีสื่อสารต่อสาธารณะในวิธีของตัวเอง โดยเฉพาะการเปิดตัวผลิตภัณฑ์ใหม่อย่างเช่นในวันที่ 12 กันยายนที่ผ่านมา ไม่มีใครทราบล่วงหน้าว่าจะมีอะไรเกิดขึ้น

และบทสัมภาษณ์ของไอวฟ์บนเวทีวันนี้ก็เป็นการยืนยันคำพูดของผู้คนที่ใกล้ชิดกับบริษัทว่าเขาคือบุรุษผู้อยู่หลังม่านของแอ็ปเปิ้ลอย่างแท้จริง ขณะที่จ็อบส์กำหนดทิศทางและสร้างแรงบันดาลใจ ไอฟว์สร้างมันให้เป็นจริงด้วยการหลอมความคิดสร้างสรรค์ในแบบของแอ็ปเปิ้ลเข้ากับวัสดุอุปกรณ์และเครื่องไม้เครื่องมือต่างๆ ความสำเร็จของประดิษฐกรรมของแอ็ปเปิ้ลเกิดจากส่วนผสมที่ลงตัวระหว่างหัวหน้าคณะผู้ออกแบบกับเจ้านายผู้ทรงพลัง เพิร์ลแมนเสริมว่า “ดิฉันคิดว่าสตีฟ จ็อบส์ได้ค้นพบใครอีกคนในตัวโจนาธาน เขาคนนั้นเป็นคนที่ทำให้ทุกอย่างสำเร็จ และบางครั้งมันก็เกินความคาดหวังเสียด้วย แถมยังทำเช่นนั้นซ้ำแล้วซ้ำเล่า”

เรื่องราวมันเป็นมาตั้งแต่ 9 ปีก่อน เมื่อรายการ “สตีฟและจอนนี่โชว์” เริ่มเปิดตัวผลิตภัณฑ์ที่พลิกวงการอย่างต่อเนื่อง เริ่มต้นจากไอแม็คสีลูกกวาดที่เปลี่ยนความคิดเรื่องคอมพิวเตอร์ประจำบ้านในช่วงปลายทศวรรษ 1990 จนถึงไอพ็อดนาโนขนาดกระทัดรัด ขณะนั้นเองแอ็ปเปิ้ลได้สร้างความประหลาดใจอย่างมากให้กับตลาดเพลงดิจิตอลและทำอย่างนั้นต่อเนื่องมา จนนักวิเคราะห์ถึงกับพูดว่านั่นกำลังแย่งส่วนแบ่งตลาดขนาดใหญ่ไปจากตลาดของพีซีในช่วงหลายปีต่อจากนี้ไป บทเรียนจากการถีบตัวสูงขึ้นถึง 1,273% ของหุ้นของแอ็ปเปิ้ลตลอดช่วงสิบปีที่ผ่านมานี้ทำให้วงการตลาดสินค้าเทคโนโลยีตื่นตัวไม่น้อย แอ็ปเปิ้ลสร้างสินค้าที่ถูกออกแบบมาจากความต้องการของลูกค้าเป็นหลักและนั่นไม่เพียงแต่ทำให้แอ็ปเปิ้ลได้รับคำสรรเสริญ มันยังสร้างรายได้จำนวนมหาศาลและทำการปฏิวัติวงการไปเลยในคราวเดียวกัน แกดี้ อามิต (Gadi Amit) ผู้ก่อตั้ง NewDealDesign บริษัทรับออกแบบระดับคุณภาพในซานฟรานซิสโก เสริมว่า “คุณประโยชน์ที่แอ็ปเปิ้ลสร้างให้กับวงการก็คือ คุณสามารถเป็นมหาเศรษฐีได้ด้วยการเล่นกับอารมณ์ความรู้สึก โดยการออกแบบเป็นฟันเฟืองหลักในสร้างธุรกิจ”

ปฏิเสธไม่ได้เช่นกันว่าตัวจ็อบส์เองก็เป็นกำลังหลักของแอ็ปเปิ้ลในการสร้างนวัตกรรมใหม่ๆ ขณะที่เขาทำให้แฟนๆ ของแอ็ปเปิ้ลชื่นชอบได้แล้ว เขาก็ให้คำมั่นสัญญาว่าสิ่งที่คุณจะได้รับนั้นมันเยี่ยมยอดสมบูรณ์แบบ ชายผู้นี้เคยยืนยันให้จัดส่งแผ่นหินอ่อนจากอิตาลีที่จะใช้กับร้านแอ็ปเปิ้ลสโตร์ในแมนฮัตตันไปยังคูเปอร์ติโน แคลิฟอร์เนีย (Cupertino, Calif. – เมืองที่ตั้งของแอ็ปเปิ้ล -ผู้แปล) เพื่อที่เขาจะได้ตรวจสอบลายเส้นที่สั่งทำด้วยตัวเองก่อน และในขณะที่นักออกแบบที่อื่นมากมายต้องต่อสู้กับการตัดรายจ่าย คนทำงานที่แอ็ปเปิ้ลเข้าใจดีว่าอนาคตในงานของเขาขึ้นอยู่กับมาตรฐานระดับสูงของจ็อบส์นั่นเอง ตัวอย่างเช่นเรื่องเล่าเรื่องนี้ที่ไม่น่าจะเป็นความจริงที่ว่า จ็อบส์เคยสั่งให้นักออกแบบในคณะทำงานเครื่องแมครุ่นใหม่สร้างงานให้ไม่มีสกรูให้เห็นเลยแม้เพียงตัวเดียว เมื่อนักออกแบบคนนั้นสร้างเครื่องต้นแบบออกมา แม้จะมีสกรูที่มองภายนอกไม่เห็นอยู่หนึ่งตัวใต้มือจับ จ็อบส์ไล่เขาออกในทันที เรย์ ไรล์ลี่ (Ray Riley) ผู้เคยทำงานออกแบบในแอ็ปเปิ้ลและขณะนี้ดูแลแผนกนวัตกรรมขั้นสูงที่ไนกี้ (Nike’s Advanced Innovation Div.) เสริมว่า “แอ็ปเปิ้ลเป็นบริษัทที่ใช้งานออกแบบมากที่สุดในโลก และที่เป็นเช่นนั้นได้ก็เพราะสตีฟ จ็อบส์”

ไอฟว์เล่าต่อว่าเขาและนายของเขาจะคุยกันอย่างน้อยวันละครั้ง จริงแล้วเขาทั้งสองต่างใช้ชีวิตเหมือนๆ กัน ไม่ว่าจะด้วยเหตุผลใดๆ เขาทั้งสองให้ความสำคัญกับเรื่องราวส่วนตัวอย่างมาก ไอฟว์ใช้ชีวิตอยู่กับภรรยานักประวัติศาสตร์และลูกฝาแฝดในบ้านที่ “ไม่มีวี่แววของความโอ้อวดว่ายิ่งใหญ่สักนิด” ไคล์ฟ กรินเยอร์ (Clive Grinyer) คู่หูธุรกิจคนแรกของไอฟว์ ขณะที่จ็อบส์ ผู้มีความสามารถในการนำเสนอเป็นเลิศ ก็ใช้ชีวิตอย่างเรียบง่ายเช่นกัน เขาไม่เคยมีบ้านพักตากอากาศ และไม่ค่อยจะปรากฏตัวในงานสังคมในย่านซิลิกอน วัลเลย์ (Silicon Valley) หรืองานธุรกิจอื่นๆ เขามักจะสวมใส่รองเท้าผ้าใบ เสื้อทีเชิ้ต และเสื้อคอเต่าแบบของ อิสเส มิยาเกะ (Issey Miyake) ไม่ใช่เพื่อให้ดูเรียบง่าย แต่เขาพอใจในความเรียบง่ายนั้นจริงๆ ไม่เว้นแม้แต่ตัวไอฟว์และคณะนักออกแบบของเขาด้วย

หากว่าจ็อบส์เป็นผู้เก็บรักษาจิตวิญญาญการออกแบบทุกยุคสมัยของแอ็ปเปิ้ล ไอฟว์ก็เป็นหัวหน้าคณะทำงานออกแบบส่วนตัวของเขานั่นเอง ไรล์ลี่เสริมอีกว่า “แอ็ปเปิ้ลเป็นเหมือนลัทธิหนึ่ง และคณะออกแบบของแอ็ปเปิ้ลก็คือตัวตนที่แท้จริงของลัทธินี่นั่นเอง” แต่จริงแล้วนี่ไม่ใช่ลัทธิอะไรใหญ่โต แค่คนประมาณโหลหนึ่ง แต่พวกเขาทำงานด้วยความสามารถขั้นสูงสุดของมนุษย์ ทั้งในนามบุคคลและในนามของคณะทำงาน ไอฟว์เล่าให้ฟังว่าผลิตภัณฑ์ของแอ็ปเปิ้ลหลายชิ้นเกิดขึ้นขณะที่กำลังทานพิซซาอยู่ในครัวของสตูดิโอ

คนกลุ่มนี้ทำงานอย่างมีความสุขสนุกสบายมาหลายปีแล้ว นักออกแบบหลายคนทำงานที่นี่มาก่อนที่ไอฟว์จะมาเริ่มงานตอนปี ค.ศ. 1992 พวกเขาแทบจะไม่ได้ไปร่วมงานต่างๆ ของวงการหรือแม้แต่งานเลี้ยงฉลองรางวัล ราวกับว่าพวกเขาไม่ต้องการเป็นที่รู้จักของสังคมเพราะว่าแต่ละคนไม่ได้มีความโดดเด่นในการออกแบบมากกว่ากัน และเพราะว่ายิ่งพบปะสังสรรกับผู้คนอื่นมากเท่าไหร่ก็ยิ่งเป็นผลร้ายต่อความไว้เนื้อเชื่อใจกันมากเท่านั้น และโดยส่วนตัวแล้ว แต่ละคนเป็นเหมือนตัวแทนของทิศทางการออกแบบผลิตภัณฑ์ของแอ็ปเปิ้ล เช่นเรียบหรูแต่ดูดี หรูหรามีระดับ และมีรูปลักษณ์ในแบบยุโรป คณะนี้ประกอบขึ้นด้วยคนอายุอานามราวสามสิบถึงสี่สิบต้นๆ มีความเป็นนานาชาติสูง เพราะมาจากหลากหลายแห่งจริงๆ ไม่เพียงแต่ไอฟว์ จากอังกฤษ ยังมี แดนนี่ โคสเตอร์ (Danny Coster) จากนิวซีแลนด์, ดานีล เดอ ลูลิส (Daniele De luliis) ชาวอิตาเลียน และ ริโก ซอร์คเคนดอร์ฟเฟอร์ (Rico Zörkendörfer) ชาวเยอรมัน “มันเป็นมิตรภาพในแบบดั้งเดิม ทุกๆ คนมีจุดมุ่งหมายเดียวกัน ไม่มีอัตตาเข้ามาเกี่ยวข้องด้วย” พอล สมิทธิ์ (Paul Smith) นักออกแบบเสื้อผ้าชาวอังกฤษ ผู้เริ่มต้นมิตรภาพกับไอฟว์ตั้งแต่ช่วงปลายทศวรรษ 1990 หลังจากที่ไอฟว์ส่งไอแม็ครุ่นใหม่ไปให้ใช้ กล่าวเสริม “พวกเขาทานอาหารเย็นด้วยกันเป็นประจำ ไปเที่ยวด้วยกัน และพวกเขาก็ได้เปลี่ยนเจ้าวัตถุเก่าๆ สีเทาที่เรียกว่าคอมพิวเตอร์ให้กลายเป็นงานประติมากรรมที่น่าหลงใหล คุณเองก็ยังต้องการมัน แม้ว่าคุณจะไม่ได้ใช้มัน”

คนส่วนใหญ่ที่ทำงานกับไอฟว์จะพักอยู่ในซานฟรานซิสโก และมีคำร่ำลือกันว่าเงินเดือนขั้นต้นของพวกเขาอยู่ที่ประมาณ 200,000 เหรียญสหรัฐ สูงกว่าคนในวงการกว่า 50% ทุกคนทำงานด้วยกันในสตูดิโอโล่งขนาดใหญ่ แต่ละคนจะมีพื้นที่เฉพาะเพื่อความเป็นส่วนตัวสูงอย่างที่ต้องการ แม้แต่พนักงานของแอ็ปเปิ้ลเองก็ไม่อนุญาตให้เข้าไปในพื้นที่นี้ เพื่อป้องไม่ให้เห็นแม้เพียงส่วนหนึ่งของผลิตภัณฑ์ที่กำลังจะเปิดตัว มีเครื่องเสียงขนาดใหญ่สำหรับเปิดเพลง แต่ไอฟว์เองก็ไม่ได้ใช้จ่ายเงินทองไปกับจำนวนที่คนทำงานให้เขา เป็นสุดยอดเครื่องต้นแบบต่างหากที่เขาให้ความสำคัญ และขั้นตอนการออกแบบของเขาต้องทำซ้ำแล้วซ้ำเล่าอย่างหนักจนกว่าจะได้ผล เริ่มตั้งแต่สร้างโมเดลแล้วก็แก้ไขไปเรื่อยๆ ด้วยแนวคิดใหม่ๆ “สิ่งสำคัญในวิธีคิดของพวกเรานั้น ผมว่าเป็นความสามารถในการมองหาจุดบกพร่อง” ไอฟว์อธิบายต่อ “มันเป็นความอยากรู้อยากเห็น เป็นเรื่องความชอบในการแสวงหา มันน่าตื่นเต้นมาเมื่อได้พบจุดบกพร่องสักจุด เพราะนั่นจะทำให้คุณสามารถค้นพบสิ่งใหม่”

คณะทำงานของไอฟว์ที่แอ็ปเปิ้ลเองก็ไม่ใช่ชนกลุ่มน้อยที่ทำงานออกแบบอย่างที่เห็นกันในบริษัททั่วไป พวกเขาต้องทำงานอย่างเคร่งเครียดและใกล้ชิดกับวิศวกร นักการตลาด รวมไปถึงบริษัทผู้รับผลิตชิ้นงานในแถบเอเซีย แทนที่พวกเขาจะเป็นเพียงคนกำหนดรูปแบบธรรมดาๆ พวกเขาเป็นผู้นำในการคิดค้นสิ่งใหม่ๆ ตั้งแต่การใช้เนื้อวัสดุแบบใหม่ไปจนถึงขั้นตอนการผลิตจริงในโรงงาน คนกลุ่มนี้สามารถกำหนดได้ว่าต้องนำชั้นของพลาสติกใสไปประกบบนพื้นผิวสีขาวหรือสีดำของเครื่องไอพ็อด ทำให้เห็นเป็นความต่างระดับของพื้นผิวได้อย่างน่าสนใจและการผลิตจริงสามารถทำได้ภายในเสี้ยววินาที “แอ็ปเปิ้ลคิดค้นสิ่งใหม่ไม่ว่าจะเล็กหรือใหญ่ หากว่ามันทำออกมาดูไม่ค่อยดี พวกเขาจะคิดมันออกมาใหม่อีก” ฮาร์ทมุท เอสสลิงเจอร์ (Hartmut Esslinger) ผู้ก่อตั้งบริษัท frog design ที่เคยรับออกแบบผลิตภัณฑ์ใหม่ของแอ็ปเปิ้ลให้จ็อบส์มาก่อน กล่าวเสริม “นี่เป็นบริษัทด้านเทคโนโลยีเพียงบริษัทเดียวที่ทำงานแบบนี้”

แล้วที่บริษัทต่างๆ มากมายพยายามที่จะกำหนดทิศทางการออกแบบของตัวเอง อย่างเช่น เดลล์, ฮิวเลตต์-แพกการ์ด และไมโครซอฟต์ มันหมายความว่าอย่างไร? ก็เพราะพวกเขายังพอมีความหวังเหลืออยู่บ้าง ขณะที่แอ็ปเปิ้ลเองก็มุ่งเน้นอยู่กับผลิตภัณฑ์บางประเภทและยังฝากอนาคตไว้กับคนเพียงไม่กี่คน ทำให้ยังพอมีตลาดเหลือให้แย่งมาได้บ้าง แซม ลูเซนเต้ (Sam Lucente) หัวหน้าคณะออกแบบของเอชพี ยืนยันว่า “แอ็ปเปิ้ลไม่ได้มุ่งเน้นที่ตลาดขนาดใหญ่” แม้ว่าแอ็ปเปิ้ลจะเปิดตัวผลิตภัณฑ์รุ่นใหม่เมื่อวันที่ 12 กันยายนที่ผ่านมา มันก็เป็นเพียงรุ่นใหม่ของผลิตภัณฑ์ที่เปิดตัวมาตั้ง 5 ปีแล้ว หลายๆ คนเริ่มคาดเดาอะไรได้บ้างแล้ว

บริษัทยักษ์ใหญ่ทั้งหลายไม่เคยที่จะสนใจ พัฒนาศักยภาพ หรือปรารถนาที่จะสร้างผลิตภัณฑ์ที่ดูแล้วได้อารมณ์ราวกับมันผลิตโดยร้านบูติกในนิวยอร์คหรือลอนดอน ขณะที่บริษัทคอมพิวเตอร์ทั้งหลายคิดแต่จะหาทางตัดรายจ่ายตลอดหลายทศวรรษที่ผ่านมา แอ็ปเปิ้ลได้ปูทางให้การออกแบบได้เป็นที่ประจักษ์ ทำให้ความจริงปรากฏว่าออกมาว่าที่คู่แข่งทั้งหลายพยายามทำอยู่ขณะนี้ไม่ใช่ว่าพวกเขาจะสร้างแนวการออกแบบอะไรใหม่ แต่เป็นนี่เป็นทิศทางที่แท้จริงที่เขาต้องเดินตามมา

ไอฟว์เป็นคนที่มีความคิดใหม่ๆ มาแต่กำเนิด เขาเกิดในย่านชนชั้นกลางในลอนดอน เขาหมดเวลาไปกับความสนใจว่าสิ่งของต่างๆ สร้างขึ้นมาได้อย่างไรตั้งแต่วัย 12-13 เท่านั้น จากนั้นก็เข้าเรียนในแผนกออกแบบของวิทยาลัยนิวคาสเซิล โปลีเทคนิค (Newcastle Polytechnic) ในปี ค.ศ. 1985 พรสววรค์และแรงผลักดันในตัวเขาส่งผลให้เขามีผลงานเป็นที่ชื่นชมในเวลาอันสั้น ขณะที่เขาฝึกงานอยู่ในบริษัทที่ปรึกษาการออกแบบ โรเบิร์ตส วีฟเวอร์ กรุ๊ป (Roberts Weaver Group) เขาได้สร้างปากกาที่มีลูกบอลกลไกสำหรับหนีบอยู่ด้านบน จุดประสงค์เพียงเพื่อเอาไว้เล่นสนุกๆ อย่างเดียว กรินเยอร์ฟื้นความจำเมื่อครั้งทำงานอยู่ที่โรเบิร์ตส วีฟเวอร์ขณะนั้น “มันกลายเป็นเครื่องแสดงฐานะของเจ้าของในทันที คุณต้องการเล่นกับมันจนหยุดไม่ได้ จากนั้นเราก็ยอมรับมันว่าเป็นเครื่องแสดงตัวตนของโจนาธาน และนั่นกลายเป็นสัญลักษณ์ของสินค้าที่เล่นกับอารมณ์ของคุณ”

เมื่อเขาสำเร็จการศึกษา ไอฟว์กลายเป็นตำนานของวงการออกแบบอังกฤษไปเลย กรินเยอร์ไปเยี่ยมเขาครั้งหนึ่งที่แฟลตในย่านเกตส์เฮด (Gateshead) อันทุรกันดารในนิวคาสเซิล และถึงกับตกตะลึงเมื่อพบว่าห้องของเขาเต็มไปด้วยชิ้นส่วนโมเดลโฟมต้นแบบของโครงงานที่เสร็จแล้วจำนวนมหาศาล ไม่ว่าจะเป็นไมโครโฟนและเครื่องช่วยฟังในตัวเดียวกันสำหรับช่วยคุณครูให้สื่อสารกับเด็กที่มีปัญหาการได้ยินได้ง่ายขึ้น (ไม่ต้องแปลกใจ มันทำด้วยพลาสติกสีขาว) “ผมไม่เคยพบเคยเห็นอะไรอย่างนี่มาก่อน นี่เป็นความใส่ใจเพื่อความสมบูรณ์แบบอย่างแท้จริง” กรินเยอร์ปิดท้าย

ในที่สุด ไอฟว์ก็ได้รับรางวัลออกแบบยอดเยี่ยมในระดับนักเรียนจากราชศิลปะสมาคม (Royal Society of Arts) ไม่ใช่เพียงครั้งเดียว เขาได้รับรางวัลนี้ถึงสองครั้ง ครั้งแรกได้จากเครื่องตอบรับอัตโนมัติ สนับสนุบการแข่งขันโดย พิตนี่ บาวส์ (Pitney Bowes) และนั่นทำให้เขาได้รับตั๋วเครื่องบินได้ฝึกงานระยะสั้นๆ ที่บริษัทในเมืองสแตมฟอร์ด คอนเนตทิคัต (Stamford, Conn.) แต่ไม่นานไอฟว์ก็มุ่งไปที่แคลิฟอร์เนียเพื่อทำงานให้กับบริษัทรับออกแบบในซิลิกอน วัลเลย์ โรเบิร์ต บรันเนอร์ (Robert Brunner) ผู้ต่อมาเข้าร่วมงานกับ ลูนาร์ ดีไซน์ (Lunar Design) ถึงกับอึ้งเมื่อไอฟว์แสดงเครื่องโทรศัพท์รูปเครื่องหมายคำถามให้ดู มันไม่ใช่แค่ชิ้นโฟมต้นแบบ แต่มันเป็นเครื่องโทรศัพท์จริง มีเครื่องเคราข้างในจริงๆ “นั่นไม่ใช่เป็นเพียงผลิตภัณฑ์ที่มีหัวใจ มันยังมีเลือดเนื้ออีกด้วย เขาคิดไกลไปถึงการผลิตเพื่อขายจริงแล้ว” บรันเนอร์เล่า

หลังจากเรียนจบ ไอฟว์เข้าทำงานกับกรินเยอร์ ในปี ค.ศ. 1989 เมื่อครั้งเพิ่งเริ่มก่อตั้งบริษัทใหม่ในลอนดอนชื่อ แทงเจอรีน ดีไซน์ (Tangerine Design) แต่ไม่ค่อยมีบริษัทในอังกฤษที่พอใจในงานออกแบบของไอฟว์นัก เมื่อครั้งที่บริษัทหนึ่งดองอ่างอาบน้ำที่เขาใช้เวลาเป็นเดือนๆ กว่าจะเสร็จ “เขาถึงกับหดหู่ เศร้าใจอย่างมาก” กรินเยอร์เล่าต่อ “กลายเป็นว่าเขาทำงานเพื่อผู้คนที่ไม่ได้สนใจในงานของเขา” ไอฟว์ยืนยันที่จะไม่หันไปทำงานเป็นที่ปรึกษาการออกแบบที่ต้องใช้ทักษะของเซลล์แมนมากกว่าอย่างอื่น “ผมไม่มีความสามารถในการดำเนินธุรกิจการออกแบบ แต่ผมปรารถนาจะมุ่งมั่นทำงานด้านความเชี่ยวชาญในการออกแบบ (craft of design) มากกว่า” ไอฟว์อธิบายเสริมกับเพิร์ลแมน

จากนั้นในปี ค.ศ. 1992 ไอฟว์จึงมุ่งหน้าหาชีวิตใหม่กับแอ็ปเปิ้ล ขณะนั้นบรันเนอร์เป็นหัวหน้าคณะผู้ออกแบบของแอ็ปเปิ้ลอยู่ เขาเป็นคนที่เคยส่งงานให้ไอฟว์เมื่อครั้งทำงานที่แทงเจอรีนเพื่อให้ช่วยกำหนดแนวทางการออกแบบสายผลิตภัณฑ์เพาเวอร์บุ๊ค (PowerBook) และตอนนี้เขารับไอฟว์เข้ามาทำงานด้วยกันในคูเปอร์ติโนเสียเลย ไม่กี่ปีก่อนที่จ็อบส์จะกลับมา เป็นเวลาที่แอ็ปเปิ้ลกำลังสูญเสียเงินและส่วนแบ่งการตลาดอย่างมาก จึงทำให้แอ็ปเปิ้ลกลายเป็นแพะรับบาปของวอลล์สตรีท (Wall Street – ตลาดหุ้น -ผู้แปล) และผู้สื่อข่าวธุรกิจไปด้วย “นั่นเพราะความหุนหันพลันแล่นของผมเอง” ไอฟว์อธิบายบนเวทีถึงเหตุผลที่ตอบรับคำเชิญของบรันเนอร์

เมื่อเริ่มเข้าทำงาน ไอฟว์ก็ได้มีส่วนร่วมในทันที เขาออกแบบพีดีเอ (PDA) เครื่องแรกที่ใช้ระบบปฏิบัติการนิวตัน (Newton) ของแอ็ปเปิ้ล และในเวลาต่อมาเขารับหน้าที่แทนบรันเนอร์และเป็นหัวหน้าคณะออกแบบของแอ็ปเปิ้ลในที่ ค.ศ. 1996 แอ็ปเปิ้ลกำลังมีปัญหาอย่างหนัก ไอฟว์เองก็เพิ่งอายุเพียง 29 ปี เขาต้องต่อสู้กับการตัดรายจ่ายอย่างหนัก พวกเขาถูกยกเลิกการใช้งานเครย์ (Cray – ยี่ห้อ -ผู้แปล) ซุปเปอร์คอมพิวเตอร์ที่ใช้จำลองออกแบบผลิตภัณฑ์ใหม่ ทำให้ผลิตภัณฑ์ของแอ็ปเปิ้ลดูน่าเบื่อไม่ต่างไปจากคนอื่น แต่ไอฟว์ยังคงเฟ้นหานักออกแบบรุ่นใหม่ที่มีความสามารถเข้ามาร่วมงานเพื่อทำงานออกมาอย่างต่อเนื่อง ธอมัส เมเยอร์ฮอฟเฟอร์ (Thomas Mayerhoffer) อดีตนักออกแบบของแอ็ปเปิ้ลที่เพิ่งเข้าทำงานขณะนั้นเล่าให้ฟัง “โจนาธานไม่เคยอวดอ้างศักดาหรือแสดงอำนาจบาทใหญ่ใดๆ หากถ้าสิ่งใดที่เขาไม่เชื่อว่าพวกเราสามารถสร้างมันขึ้นมาได้ พวกเราก็จะเชื่อเดียวกัน”

และจนถึงวันที่ 9 กรกฎาคม ค.ศ. 1997 จ็อบส์กลับมากุมบังเหียนแอ็ปเปิ้ลต่อจาก กิลเบิร์ต เอฟ เอมีลิโอ (Gilbert F. Amelio) ไอฟว์แทบจะเอาตัวไม่รอดในขณะนั้นเมื่อจ็อบส์เข้ามารื้อระบบใหม่อย่างกระทันหัน เพื่อนร่วมงานสองคนของไอฟว์อธิบาย ขณะที่จ็อบส์ยกเลิกสายผลิตภัณฑ์กว่า 60 ชนิด เขาต้องเร่งเสาะหาสุดยอดนักออกแบบตัวจริงเสียงจริงไปทั่วโลก จนถึงกับต้องไปปรึกษากับ ริชาร์ด แซบเปอร์ (Richard Sapper) ผู้ออกแบบเครื่องคอมพิวเตอร์แล็ปท็อปธิงค์แพ็ดของไอบีเอ็ม (IBM Thinkpad), จิออเก็ตโต กุยจิอาโร (Giorgetto Giugiaro) นักออกแบบรถ และ เอตอเร่ ซอตแซส (Ettore Sotsass) นักสถาปนิกและนักออกแบบ

แต่เนื่องจากผลงานที่ผ่านมาของไอฟว์ จ็อบส์ผู้ที่สายตาแหลมคม บรรลุในทันทีว่าจริงแล้วเขามีตัวคนที่เขาต้องการอยู่แล้ว ด้วยความต้องการการออกแบบอย่างยิ่งยวดของจ็อบส์ ไอฟว์คือคนที่ทำให้ทั้งหมดเป็นจริงได้ “สตีฟ จ็อบส์คือกบฏตัวจริง แต่เขาก็เป็นหัวใจสำคัญที่แอ็ปเปิ้ลต้องการ” โดนัลด์ เอ นอร์แมน (Donald A. Norman) นักเขียนและผู้เชี่ยวชาญให้ความเห็น แต่เขาก็เคยเป็นหนึ่งในหลายพันคนที่ถูกบีบให้ออกจากบริษัทในอดีต “จ็อบส์เคยพูดว่า ‘นี่คือทิศทางที่เราจะดำเนินไป’ และเขาก็ปลดปล่อยพลังในตัวโจนาธานออกมาจนนั่นเป็นความจริง”

การร่วมมือกันของทั้งสองคนได้ผลออกมาเป็นสุดยอดผลิตภัณฑ์หลายๆ ชิ้นของแอ็ปเปิ้ล เริ่มต้นที่ไอแม็ครุ่นแรกที่ช่วยสร้างโฉมใหม่ให้วงการพีซีได้เป็นสิ่งที่สนุกสนานกว่าเดิม แอ็ปเปิ้ลได้สร้างเครื่องรุ่นใหม่ที่ใช้ง่าย มีทุกอย่างรวมกันอยู่ในตัวเครื่องใสสีฟ้าเข้ม มีข้อมูลเชิงลึกบอกว่า แดนนี่ โคสเตอร์ (Danny Coster) มิตรจากนิวซีแลนด์ ทำหน้าที่ออกแบบเป็นส่วนใหญ่ภายใต้การดูแลอย่างใกล้ชิดของไอฟว์

เพื่อที่จะทำให้เจ้าตัวเครื่องพลาสติกใสดูน่าตื่นเต้นมากกว่าแลดูด้อยค่า ไอฟว์และคณะเดินทางไปเยี่ยมโรงงานทำลูกอมเพื่อศึกษาถึงขั้นตอนสำคัญในการผลิต จากนั้นก็ต้องร่วมงานกับผู้ผลิตในเอเซียในการปรับแต่งกระบวนการผลิตเพื่อผลิตเจ้าไอแม็คให้ได้เป็นล้านเครื่องต่อปี ถึงกับจำเป็นต้องแก้ไขแผงวงจรภายในเครื่องก็ต้องทำ เพื่อให้มันดูดีที่สุดภายในตัวเครื่องที่แข็งแรง มันช่างเป็นการเสี่ยงครั้งใหญ่ของ จ็อบส์, ไอฟว์ และแอ็ปเปิ้ลเอง โดยมีคู่แข่งรายหนึ่งอธิบายว่า “ผมต้องพิสูจน์ให้เห็นว่าเจ้าตัวเครื่องสีใสนั้นช่วยเพิ่มยอดขายของเราได้ และมันไม่มีทางจะพิสูจน์ได้เลย” เขาอธิบายว่าแอ็ปเปิ้ลใช้งบประมาณถึง 65 เหรียญต่อตัวเครื่องอย่างเดียวในหนึ่งเครื่อง ขณะที่คนอื่นในวงการเฉลี่ยแล้วใช้เงินเพียง 20 เหรียญ

ในปี ค.ศ. 2001 แอ็ปเปิ้ลเปิดตัวคอมพิวเตอร์เครื่องแรกที่ตัวเครื่องทำจากไทเทเนียม เรื่องราวเบื้องหลังคือ ไอฟว์เปิดโอกาสให้ แดนนี่ เดอ ลูลิสและคณะอีก 2 คนใช้เงินหลายพันดอลลาร์ในการสร้างห้องทำงานในโรงเก็บของในซาน ฟรานซิสโก ห่างออกไปจากแอ็ปเปิ้ลแคมปัส (สำนักงานใหญ่ของแอ็ปเปิ้ล -ผู้แปล) พวกเขาทำงานที่นั่นอยู่ 6 สัปดาห์ จากนั้นก็เดินทางไปเอเซียเพื่อต่อรองกับผู้ผลิตจอแอลซีดีและร่วมงานกับผู้ออกแบบเครื่องมือสำหรับผลิต ผลที่ได้ก็คือ เครื่องที่ดูปราณีต ไม่ใหญ่โตเทอะทะ และเป็นการประกาศจุดสิ้นสุดของรูปลักษณ์ในแบบของไอแม็คยุดแรก เดือนตุลาคมปีเดียวกัน แอ็ปเปิ้ลเปิดตัว ไอพ็อด และกลายเป็นมาตรฐานใหม่ของเครื่องเล่นเพลงดิจิตอลในทันที นั่นไม่ใช่เพราะตัวเครื่องไอพ็อดเองเพียงอย่างเดียว แต่เพราะมันสามารถทำงานได้เป็นหนึงเดียวกับแอ็ปเปิ้ลไอทูนส์ที่เป็นทั้งซอฟแวร์และร้านขายเพลงออนไลน์

การผสมผสานกันนั่นเองที่เป็นแกนหลักของความมหัศจรรย์ในการออกแบบของแอ็ปเปิ้ล หากจะคิดเพียงว่า “การออกแบบ” เป็นแค่รูปแบบหรือแฟชั่นที่ดูง่ายๆ นั่นเป็นการหลงประเด็น เครื่องไอแม็ครุ่นแรกนั้นเป็นเครื่องพิสูจน์ให้เห็นแนวการออกแบบย้อนยุคที่พบได้ในการ์ตูนเดอะเจ็ตสันส์ (the Jetsons) ได้เป็นอย่างดี และเจ้าเครื่องไอพ็อดตัวสีขาวใสสะอาดตา “ก็เป็นผลิตผลของการออกแบบแนวยุโรปกลางในช่วงท้ายทศวรรษ 1960 ถึงช่วงเริ่มต้นทศวรรษ 1970” อามิต จาก NewDealDesign กล่าวเสริม หากจะเปรียบผลิตภัณฑ์หลายชิ้นของแอ็ปเปิ้ลกับงานออกแบบของ ดีเทอร์ แรมส์ (Dieter Rams) หัวหน้าผู้ออกแบบจากบราวน์ (Braun) แล้วหล่ะก็ “คุณจะได้เห็นความจริงตามนั้น”

เหตุผลสำคัญที่ทำให้ผลิตภัณฑ์ของแอ็ปเปิ้ลดูแตกต่างก็เพราะความลงตัวและความประทับใจอย่างปรมัต นี่เป็นผลมาจากการตัดสินใจนับพันๆ ครั้งในช่วงการพัฒนาผลิตภัณฑ์ นั่นทำให้แอ็ปเปิ้ลต้องบุกเบิกในเรื่องการสร้างแม่แบบ (injection mold) ซึ่งเป็นงานที่ต้องผสมผสานกันด้วยวิทยาศาสตร์ ศิลปะ และการลองถูกลองผิดนับครั้งไม่ถ้วน มันเป็นงานที่ต้องหาทางฉีดพลาสติกหรือโลหะเหลวผ่านรูขนาดเล็กมากมายเข้าไปในโพรงของแม่แบบรูปร่างประหลาดๆ และจำนวนรูที่ว่านี้สำคัญมากต่อการช่วยให้ชิ้นงานเย็นตัวลงโดยไม่มีจุดบกพร่องเลยภายในเวลาไม่กี่วินาที

คณะทำงานของไอฟว์เข้าใจและให้ความเคารพต่อกระบวนการผลิตเป็นอย่างมาก ทำให้ผู้ผลิตเครื่องมือและผู้จัดหาวัตถุดิบปรารถนาที่จะทำงานกับพวกเขามากกว่า แม้ในความเป็นจริงแล้วแอ็ปเปิ้ลจะต่อรองราคาค่างวดอย่างสุดๆ ก็ตาม ผู้จัดหาวัตถุดิบเองก็มีอนาคตไปด้วยเมื่อได้ร่วมงานกับแอ็ปเปิ้ล ตั้งแต่เริ่มมีการกำหนดทิศทางการออกแบบ

แต่ก็มีบ้างที่แอ็ปเปิ้ลเองก็ก้าวพลาด กับปัญหาต่างๆ มากมายของเครื่องแอ็ปเปิ้ล จีสี่ คิวบ์ (Apple G4 Cube) ที่ปลดระวางไปในปี ค.ศ. 2001 ด้วยอายุไม่ถึงปีด้วยซ้ำ พบว่าเกิดรอยร้าวขึ้นในเนื้อวัสดุใสที่เป็นตัวเครื่อง และทางบริษัทเองก็ต้องถูกฟ้องร้องหลายครั้งกับปัญหาตัวเครื่องไอพ็อดนาโนที่เป็นรอยง่ายมาก ขณะที่ไอบุ๊ค (iBook) และเพาเวอร์บุ๊ค (PowerBook) ก็เป็นหน้าเป็นตาของบริษัทไม่น้อย แอ็ปเปิ้ลจำต้องเรียกคืนแบตเตอรี่จำนวนมากถึง 1.8 ล้านก้อนที่อาจจะเกิดปัญหาขณะใช้งานได้

ความผิดพลาดทั้งหลายที่ผ่านมาดูเล็กน้อยไปเลยด้วยชื่อเสียงของความเป็นผู้นำตลาดเทคโนโลยีมาตลอดของแอ็ปเปิ้ล ส่วนไอฟว์ ผู้ที่ล่าสุดเพิ่งได้รับเครื่องราชย์อิสริยาภรณ์ the Commander of the Most Excellent Order แห่งราชอาณาจักรอังกฤษ (the Commander of the Most Excellent Order of the British Empire – CBE) ก็มีส่วนสำคัญในชื่อเสียงเหล่านั้น เป็นธรรมดาที่จะต้องมีข่าวลือจากบรรดาคู่แข่งว่า ไอฟว์นั้นได้ผ่านจุดสูงสุดของเขาไปแล้ว มันก็ไม่เชิงจริงเท่าไหร่ เพราะตราบใดที่ไอฟว์ยังมีคณะทำงานที่รู้ใจและเจ้านายที่มีพลังขับดันมากมายขนาดนั้นอยู่ รายการ “สตีฟและจอนนี่โชว์” ก็ยังคงฉายอยู่ต่อไปอย่างแน่นอน


ที่มา Who Is Jonathan Ive? An in-depth look at the man behind Apple’s design magic by Peter Burrows จาก BusinessWeek online ฉบับวันที่ 25 กันยายน 2549

ข้อมูลเพิ่มเติมจาก Wikipedia.org

รวมรวมคำศัพท์ที่ได้จากบความนี้

ข้อมูลเพิ่มเติมจาก Design Museum London

ข้อมูลเพิ่มเติม

update:
4 ตุลาคม 2549 – ขอบคุณคุณ Bill Gates เพื่อนสมาชิกที่ ThaiMacClub.net ที่แนะนำข้อมูลงาน Radical Crafts เพิ่มเติม
4 ตุลาคม 2549 – ขอบคุณคุณ SK- และพี่ NewUser เพื่อนสมาชิกที่ Freemac dot NET ที่ช่วยแก้คำผิดครับ
4 ตุลาคม 2549 – ขอบคุณคุณ arnon เพื่อนสมาชิกที่ Freemac dot NET ที่กรุณาอดหลับอดนอนเป็นบรรณาธิการข้ามทวีปจากอเมริกา ช่วยแก้ไขจุดบกพร่องในบทความนี้ให้ งานนี้จะไม่เสร็จสมบูรณ์ได้เลยหากไม่มีคุณ arnon ครับ ขอขอบคุณอย่างสูงครับ
5 ตุลาคม 2549 – ขอบคุณคุณ Ishmael เพื่อนสมาชิกที่ Freemac dot NET ที่แนะนำข้อมูล NewDealDesin และ The Jetsons ครับ
6 ตุลาคม 2549 – ขอบคุณคุณ Vman เพื่อนสมาชิกที่ Freemac dot NET ที่แนะนำข้อมูล The Jetsons ครับ

“สิ่งสำคัญในวิธีคิดของพวกเรานั้น ผมว่าเป็นความสามารถในการมองหาจุดบกพร่อง” ไอฟว์อธิบายต่อ “มันเป็นความอยากรู้อยากเห็น เป็นเรื่องความชอบในการแสวงหา มันน่าตื่นเต้นมาเมื่อได้พบจุดบกพร่องสักจุด เพราะนั่นจะทำให้คุณสามารถค้นพบสิ่งใหม่”