ยิ่งอยากมีความสุข ยิ่งต้องอ่านตัวเอง

ศาสตราจารย์ ระพี สาคริก คนส่วนใหญ่อาจจะรู้จักเขาในฐานะของ “บิดาของกล้วยไม้ไทย ผู้บุกเบิกวงการกล้วยไม้ไทยให้เป็นที่รู้จักไปทั่วโลก”

Image

ขณะที่อีกหลายคนอาจจะเคยสัมผัสเขาในสถานภาพของ “อธิการบดี มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ คุณพ่อที่คลุกคลีกับลูกๆ นิสิตชาวเกษตร ถึงกับลงไปช่วยขุดลอกคูคลองด้วยตัวเอง”

และบ้างก็รู้จักในฐานะ อดีตรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ที่ได้ชื่อว่าทำงานเพื่อประชาชนมากที่สุดคนหนึ่ง และยังมีหลายต่อหลายบทบาท อาทิ นักดนตรี สื่อมวลชน ช่างภาพ หรือแม้แต่นักเขียน

วันนี้ด้วย วัย 85 ปี อาจารย์ระพีเป็นแขกรับเชิญของสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ หยิบยกเอาเรื่องราวและประสบการณ์ชีวิตที่ผ่านมา ตกผลึกเป็นข้อคิดและมุมมองการใช้ชีวิตให้กับคนรุ่นใหม่ ผ่านการปาฐกถาในหัวข้อ “ชีวิตพอเพียง”

อาจารย์ระพีเล่าว่า ชีวิตนี้ผ่านมาแล้วทุกอย่าง แม้กระทั่งการคุ้ยถังขยะเก็บเศษอาหารกิน ที่ได้ดีมาจนถึงทุกวันนี้ก็เพราะมีพ่อ (พระมหาเทพกษัตริยสมุห หรือเนื่อง สาคริก) แม่ (นางสนิท ภมรสูต) ที่ดี พ่อเคยพูดกับแม่ว่า ลูกชายคนโต ถ้าเอาไว้กับเรา น้องๆ จะไม่ได้พึ่ง ทำให้อาจารย์ระพีต้องเรียนรู้ทุกอย่างด้วยตัวเอง และสิ่งเหล่านั้นที่สุดแล้วได้สร้างความแข็งแกร่งให้กับชีวิตและทำให้ รู้จักคุณค่าของชีวิตว่าที่แท้แล้วอยู่ที่ใด

หัวใจสำคัญของการดำเนินชีวิต อาจารย์ระพีว่า

“ผมอ่านตัวเองนะ ไม่ใช่อ่านหนังสือที่เขาปลอมมา หนังสือจริงอยู่ในใจ ผมอ่านตัวเอง

“ยิ่งเราอยากมีความสุขมากเพียงใด ก็ต้องอ่านตัวเองให้มากเท่านั้น เพราะการอ่านตัวเองนี่แหละ ที่ทำให้เราเข้าใจชีวิตของตนเอง ได้รู้ว่าจะวางแนวทางชีวิตอย่างไรถึงจะมีความสุข และที่สำคัญยังเป็นรากฐานของความพอเพียงที่แท้จริงอีกด้วย”

อาจารย์ ระพีเล่าต่อไปว่า ที่ผ่านมาผมพบว่าคนไทยส่วนใหญ่มักใช้ชีวิตอย่างประมาท อย่างเวลามีปัญหาแทนที่จะรีบแก้ไข กลับปล่อยให้ลุกลาม และถ้ารุนแรงเกินไปก็มักจะแก้ปัญหาโดยการทำลาย ซึ่งบางครั้งสิ่งที่ทำลายก็เป็นคนเสียด้วย

ตัวอย่างที่เห็นอยู่ ก็เช่นปัญหาควันพิษที่ภาคเหนือ จริงๆ แล้วไฟป่าก็มีมานาน แต่ก็ยังปล่อยจนกระทั่งลุกลาม ถึงค่อยมาตื่นเต้นกัน แทนที่จะรีบแก้ไขตั้งแต่เนิ่นๆ

อาจารย์ระพีได้ย้ำให้เห็นจุดอ่อนที่สำคัญของคนไทยก็คือ ชอบดูถูกคนที่ต่ำกว่า และมองข้ามสิ่งที่อยู่ใกล้ตัว คนไทยขณะนี้มีรากฐานชีวิตที่ไม่แข็งแรง ไม่เป็นตัวของตัวเอง ขาดความซื่อสัตย์กับตนเอง หลงอยู่กับความรวย และก็ตะเกียกตะกายแข่งขันกัน สิ่งเหล่านี้แสดงให้เห็นว่าจิตใจของคนไทยอ่อนแอลงทุกที และอาจจะทำให้ชาติถึงกับพังพินาศได้

“ตอนนี้เราถูกต่างชาติยึดครองจิตใจ ยึดครองโดยเทคโนโลยี ถ้าเราเห็นว่าเขาดีกว่า เราก็เสร็จเขาแล้ว

“สังคมไหนคนในสังคมตกอยู่ในความประมาท สังคมนั้นย่อมไปไม่รอด ถ้าเราอยู่อย่างรู้ตัวเอง เราก็ต้องรู้เท่าทันในสิ่งที่เขาเอามาล่อด้วย”

นอกจากการรู้ตัวเองแล้ว ต้องรู้จัก “ให้ความสำคัญกับผู้อื่น”

อย่างที่หลายๆ คนมักจะทักว่าผมเขียนหนังสือสวย นั่นก็มาจากการที่ผมคิดถึงคนอ่านหนังสือของผม เกรงว่าเขาจะอ่านลายมือของผมไม่ออก ซึ่งถ้าเรารู้จักการคิดถึงใจผู้อื่นแล้ว จะทำให้เราอยู่ร่วมกันอย่างมีความสุข ซึ่งจะส่งผลให้ฐานของสังคมมีความเข็มแข็งขึ้นด้วย

อาจารย์ระพี กล่าวต่อไปว่า หลายคนเวลาเจอหน้าอาจารย์มักจะเรียกว่า “อาจารย์กล้วยไม้” ซึ่งเมื่อได้ยินจะเกิดรู้สึกว่าทำไมเขาคิดแค่นั้นเอง เพราะจริงๆ แล้วสิ่งที่อาจารย์ทำกับกล้วยไม้มันมีความหมายมากกว่าแค่ต้นไม้ธรรมดาๆ แต่ยังมีความหมายไปถึงการสร้างสังคมขึ้นมาใหม่ “สังคมของคนเลี้ยงกล้วยไม้”

ไม่ใช่เรื่องแปลกที่นายพลที่เลี้ยงกล้วยไม้ กับพลทหารที่เลี้ยงกล้วยไม้เหมือนกัน จะเป็นเพื่อนกันไม่ได้ ตรงนี้ต่างหากที่อยากจะทุกคนในสังคมเข้าใจว่าความสุขที่จริงของคนเรานั้น ก็คือเรื่องความสัมพันธ์ระหว่างผู้คน

ขณะเดียวกันก็ต้องตระหนักรู้ถึงการกระทำของตนเอง

“เราต้องรู้สึกอยู่เสมอว่าคนอื่นเขามองเราอยู่ ต้องทำทุกอย่างให้ดีที่สุด นี่คือความรับผิดชอบ ซึ่งเป็นคุณสมบัติของผู้ใหญ่จริงๆ

อาจารย์ ระพียังอธิบายอีกว่า “ธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม คือสิ่งที่อยู่รอบตัวเราก็จริง แต่ในบางครั้งมันก็อยู่ในตัวเราด้วย ความจริงแล้ว ธรรมชาติเป็นเรื่องของจิตใจ

“ฉะนั้น เวลาพูดถึงธรรมชาติ อย่าไปมองอะไรข้างนอก การที่เราวิตกกลัวธรรมชาติจะเสียหาย แสดงว่าเราไปวิตกข้างนอกแล้ว และเราก็ไม่รู้หรอกว่าที่จริงแล้ว สาเหตุที่ทำให้ธรรมชาติเสียหายก็มาจากในจิตใจของเรา ดังนั้น ถ้าจิตใจเราเปลี่ยน ข้างนอกมันก็จะเปลี่ยนตามไปเอง”

อีกเรื่องที่อาจารย์ระพีแสดงความเป็นห่วงคือ เรื่องการให้การศึกษา

คนส่วนใหญ่ไม่เข้าใจความหมายของการศึกษาว่าคืออะไร แล้วก็มาเรียกร้องหาคุณธรรมจริยธรรม ครั้งหนึ่งผมมีโอกาสได้คุยกับเด็กๆ มหาวิทยาลัยหลายๆ คน เขาบอกว่ากระทรวงศึกษาธิการให้แทรกการสอนศีลธรรมไปกับวิชาเรียนปกติด้วย ปรากฏอาจารย์หลายคนก็บ่นว่า “ที่สอนอยู่หนักแล้ว ยังจะให้มาสอนธรรมะอีก”

คำพูดแบบนี้เป็นการตีความเรื่องศีลธรรมกับการศึกษาแยกส่วนกัน ตรงนี้แหละคือปัญหาใหญ่ ทั้งที่ความจริง ธรรมะคือธรรมชาติที่อยู่ในใจ และยังเป็นฐานของทุกอย่างด้วย

วิธีการฝึกปฏิบัติตนอย่างง่ายๆ คือ ให้ยึด “สุ จิ ปุ ลิ” ซึ่งหมายถึง การฟัง การคิด การถาม และการเขียนมาใช้ในการเรียนสอน

“บางคนสงสัยว่าทำไมผมเป็นคนจำแม่น ก็เพราะมันอยู่ในใจ ถ้าเรามีสติ เรารักที่จะทำให้ผู้อื่น และเห็นว่าสิ่งนั้นมีคุณค่า เราต้องเอาชนะใจตัวเองให้ได้ นี่คือจุดสำคัญ ใช้ได้ทุกเรื่อง ใครชมก็ไม่หลง ใครด่าก็ไม่โกรธ”

สำหรับการฟัง อาจารย์บอกว่า เราต้องใจกว้างและให้ความสำคัญกับคนอื่นเหนือตัวเรา เวลาใครจะทำอะไรก็รับฟัง ส่วนการตั้งคำถามก็เปรียบเสมือนเป็นครู เพราะคำถามเกิดจากความไม่รู้นั่นเอง

ความสุขของคนเราอาจจะไม่ เหมือนกัน สำหรับผู้ชายที่ชื่อ ระพี สาคริก แล้ว ความสุขอยู่ที่การให้ โดยใช้เรื่องราวที่ผ่านมาในชีวิตของเขาเป็นบทเรียนสอนให้ความรู้กับผู้อื่น เพื่อให้เข้าใจถึงคำว่า “พอเพียง” คาถาสร้างสุขของคนยุคนี้

หน้า 34


ที่มา หนังสือพิมพ์ มติชน ฉบับวันที่ 11 เมษายน พ.ศ. 2550

เรื่อง คาถาชีวิต “ระพี สาคริก” “ยิ่งอยากมีความสุข ยิ่งต้องอ่านตัวเอง” โดย สุทธิโชค จรรยาอังกูร

เนื้อหาและภาพเป็นลิขสิทธิ์ของหนังสือพิมพ์มติชน – All contents are copyright of Matichon. All Rights Reserved.