หลังจากส่งเรียงความแล้วตั้งแต่เช้าตรู่ กิจกรรมต่อไปคือการค้นคว้าทางไทยคดีศึกษา อาจารย์ท่านได้กำหนดโจทย์ให้ค้นคว้าเรื่องราวทางวัฒนธรรมเพื่อเขียนออกมาเป็นบทความยาว 3 หน้ากระดาษ ภายในเวลา 3 ชั่วโมงกว่า จากความว่างเปล่า ฉับพลันทันใดก็ระลึกถึงงานด้านวรรณกรรมอันเป็นสายที่มุ่งมั่นอยู่ในใจอยู่แล้ว ค้นคว้าต่อไปไม่นานก็ได้ชื่อ “ศรีบูรพา” เป็นหัวข้อที่ไม่มีความลังเลใดๆ บดบังเลย กิจกรรมนี้ท้าทายกำลังกายและกำลังสติปัญญาเป็นอันมาก แต่ที่สุดแล้วก็ได้ผลเป็นความสุขใจที่ได้ทำงานนี้สำเร็จ
“ศิลปะในการครองชีวิต” รวบรวมหลักคิดจากชีวิต ศรีบูรพา
บทความนี้บรรจงเขียนขึ้นเพื่อรำลึกถึงคุณูปการอันยิ่งยวดของศรีบูรพา หรือกุหลาบ สายประดิษฐ์ นักเรียนเก่าเทพศิรินทร์รุ่นพี่ของผม ผมรู้จักท่านครั้งแรกเมื่อเข้าเรียนระดับมัธยมศึกษาในปีอันเป็นวาระสำคัญยิ่งของลูกแม่รำเพย คือเป็นปีที่ครบรอบการก่อตั้งโรงเรียนครบ ๑๐๐ ปี นับตั้งแต่ปี พ.ศ. ๒๔๒๘ โดยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเหล้าเจ้าอยู่หัว โดยอัญเชิญพระนามของสมเด็จพระนางเจ้ารำเพย พระราชมารดา ในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวมาเป็นชื่อโรงเรียน นานวันเข้าเมื่อตัดสินใจดีแล้วว่าเส้นทางนักเขียนจะเป็นเส้นทางสำหรับอนาคตของตน ชื่อของศรีบูรพาจึงเป็นชื่อแรกที่ปรากฏขึ้นในมโนสำนึก ให้ระลึกถึงและศึกษาหลักคิดหลักการทำงาน เพื่อน้อมนำมาเป็นแบบอย่างในการทำงานต่อไป
กุหลาบ สายประดิษฐ์ “ศรีบูรพา” เกิดเมื่อ ๓๑ มีนาคม พ.ศ. ๒๔๔๘ ที่กรุงเทพ เป็นบุตรของนายสุวรรณและนางสมบุญ มีพี่สาวชื่อจำรัส เมื่อเติบใหญ่ เข้าศึกษาต่อในระดับมัธยมศึกษาที่โรงเรียนวัดเทพศิรินทร์ (นามในขณะนั้น) โดยได้เรียนวิชาภาษาไทยโดยเฉพาะวิชาเรียงความกับ หลวงสำเร็จวรรณกิจ (๒๔๓๔-๒๕๐๑) อาจารย์ผู้สั่งสอน มจ. อากาศดำเกิง รพีพัฒน์, สด กูรมะโรหิต, มล. ต้อม ชุมสาย, โชติ แพร่พันธุ์ (ยาขอบ) เป็นต้น ต่อมาได้เริ่มต้นบรรเลงอักษรหลายกรรมหลายวาระตั้งแต่ยังเรียนไม่จบมัธยม ๘ จนมีความสามารถในการร้อยเรียงเรื่องราวผ่านตัวหนังสือออกมามากมาย
แม้ช่วงเวลาในชีวิตของกุหลาบ สายประดิษฐ์ จะต้องผจญกับสภาพบ้านเมืองที่ได้ชื่อว่า “ประชาธิปไตย” แต่เนื้อหายังหาเป็นเช่นนั้นไม่ กุหลาบ สายประดิษฐ์ เป็นผู้นำด้านความคิด นำการต่อสู้แก่ผู้ไฝ่หาชีวิตปัจจุบันที่ดีกว่าด้วยการก่อตั้ง “คณะสุภาพบุรุษ” ตามชื่องานชิ้นหนึ่งของท่าน เพื่อทำงานผ่านตัวหนังสือนำเสนอความจริงที่เกิดขึ้นในบ้านเมือง จนถูกคณะผู้ปกครองบ้านเมืองสมัยนั้นจับตามองเป็นลำดับต้นๆ ด้วยข้อหาเป็นภัยต่อสังคม เหตุผลทั้งหมดของการทำงานนั้นหาใช่เพื่ออำนาจไม่ แต่เพื่อต่อสู้กับความไม่ถูกต้องของอำนาจในสังคมสมัยนั้นต่างหาก อำนาจที่กดขี่ร่างกายคงไม่สร้างปัญหาเท่ากับอำนาจที่กดขี่ความคิดอิสระที่ต้องการสร้างประโยชน์กับผู้คนในสังคมเป็นสำคัญ
เมื่อศึกษารวบรวมงานประพันธ์ในรูปแบบนวนิยายของกุหลาบ สายประดิษฐ์ จะพบได้ว่า ความมุ่งมั่นในการบำเพ็ญตนเพื่อส่วนรวมให้สมกับคำขวัญของโรงเรียนวัดเทพศิรินทร์ที่ได้ผ่านมาว่า “นสิยาโลก วัฒโน – ไม่ควรเป็นคนรกโลก” อยู่ในสายเลือดและลมหายใจทุกขณะจิตของชายผู้นี้ เช่น
จากเรื่อง “จนกว่าเราจะพบกันอีก”
…ชีวิตที่ดีงามนั้นต้องมีอะไรมากกว่าการหากิน การแสวงหาความสุข แล้วก็รอวันตาย ชีวิตที่ดีงามย่อมมีอยู่ และถูกใช้ไปเป็นประโยชน์แก่คนอื่น…
จากเรื่อง “พูดกันฉันท์เพื่อน”
หัวใจของ “ความเป็นสุภาพบุรุษ” อยู่ที่การเสียสละ เพราะการเสียสละเป็นบ่อเกิดของคุณความดีร้อยแปดอย่าง… ผู้ใดเกิดมาเป็นสุภาพบุรุษ ผู้นั้นเกิดมาสำหรับคนอื่น
จากเรื่อง “จนกว่าเราจะพบกันอีก”
สิ่งที่เรียกว่าความรักนั้น ควรจะตั้งต้นจากจุดของความสละให้ มิใช่จุดของการเรียกร้องเอา ถ้าเรามีความรักต่อคนหนึ่ง มันไม่ควรจะเป็นว่า เราคิดคำนึงว่าเราจะได้อะไรจากคนรักของเรา แต่มันควรจะเป็นว่า เราคิดคำนึงว่า เราจะให้อะไรแก่เธอเพราะเหตุแห่งความรัก
หรือในภาระหน้าที่นักหนังสือพิมพ์ ท่านยึดหลักที่นักหนังสือพิมพ์รุ่นหลังควรนำไปเป็นแบบอย่างยิ่งว่า
…การเสาะแสวงหาความเป็นไปตามจริง มาเสนอแก่ประชาชนนี่แหละ เป็นหน้าที่สำคัญของนักหนังสือพิมพ์…
จากหนังสือเรื่อง “แลไปข้างหน้า ภาคมัชฌิมวัย” ท่านได้อธิบายหลักคิดในการทำงานเอาไว้ว่า
พวกนักหนังสือพิมพ์มีแต่ปากกา แต่เราจะยิงต่อไปด้วยกระสุนแห่งถ้อยคำและเหตุผลจนกว่าจะล้มลงและหมดกำลัง เรายิงเพื่อความถูกต้องชอบธรรม
จนกระทั่งท่านถูกจับเข้าคุก แต่นั่นก็หาได้ผูกโช่ตรวนให้กับปัญญาของท่านไม่ เพราะท่านยังคงทำงานมากมายออกมาโดยถือคติที่ว่า
…ใช้เวลาแห่งความทุกข์ยากให้เป็นกำไรแห่งชีวิต และเป็นคุณประโยชน์แก่ผู้อื่น…
นั่นเป็นผลงานทางโลกียธรรม แต่กุหลาบ สายประดิษฐ์ เองก็ไม่ละเลยหน้าที่ของพุทธศาสนิกชนที่ดีในการศึกษาโลกุตตระธรรม โดยในปี พ.ศ. ๒๔๗๗ ได้บรรพชาเป็นพระที่วัดเบญจมพิตรเป็นเวลา ๑ พรรษา จนถึงปี พ.ศ. ๒๔๙๕ ท่านได้ไปศึกษาหลักธรรมกับท่านพุทธทาสภิกขุ ณ สวนโมกขพลาราม อ.ไชยา จังหวัดสุราษฎร์ธานี ต่อมาในปี พ.ศ. ๒๔๙๙ ท่านใช้นามปากกาว่า “อุบาสก” เขียนบทความเรื่อง “ศิลปในการครองชีวิตตามธรรมของพุทธศาสนา” อธิบายความอย่างลึกซึ้งถึงแก่นธรรมอันเหมาะสมอย่างยิ่งที่จะน้อมนำมาปฏิบัติให้เป็นปกติในชีวิตประจำวันของพุทธศาสนิกชนไทย ความส่วนหนึ่งที่แสดงถึงความจริงแท้ของพุทธศาสนาตอนท้ายๆ ของบทความมีว่า
เราควรจะทำความเข้าใจกันในความที่เป็นข้อสำคัญอีกข้อหนึ่งว่า ธรรมะที่พระพุทธองค์นำออกประกาศสั่งสอนแก่มวลมนุษย์นั้น หาใช่เป็นความรู้ที่ได้มาจากการนั่งคิดคาดคะเนเอาเองไม่, หาใช่เป็นปรัชญาที่ได้มาจากการเก็งความจริงโดยวิธีการของตรรกเช่นปรัชญาของตะวันตกไม่ ปรัชญาที่ก่อตั้งขึ้นโดยอาการเช่นนี้ในกาลต่อมาได้ถูกคัดค้านล้มไป เพราะเหตุเป็นปรัชญาที่ว่างเปล่าจากสารัตถะแห่งสัจจธรรม ส่วนกฏหรือทฤษฎีที่พระพุทธองค์ได้นำออกมาประกาศสั่งสอนนั้นเป็นกฏหรือทฤษฎีที่ได้มาจากการปฏิบัติโดยสิ้นเชิง มิใช่เป็นการเก็งความจริงตามวิธีการของตรรก หากเป็นผลของการค้นคว้า สังเกต ทดลองและพิสูจน์ ที่ได้กระทำมาเป็นเวลาถึง ๖ ปี วิชาหรือธรรมะในพระพุทธศาสนาเป็นวิชาที่ได้มาจากการศึกษาค้นคว้า ตามวิธีการซึ่งอาจเรียกได้ว่าวิธีการแบบวิทยาศาสตร์ พระพุทธองค์ได้ทรงใช้ชีวิต ๖ ปี เพื่อการแสวงหาบรมสัจจธรรมด้วยการทำให้เวลา ๖ ปีนั้นมีค่ามากที่สุดแก่การค้นคว้า อันยากที่ผู้ใดจะทำได้เสมอเหมือน ยากที่ผู้ใดจะนำคุณค่าอันประเสริฐออกมาจากชีวิต ได้เท่าเทียมกับที่พระองค์ได้ปฏิบัติแก่ชีวิตของพระองค์ในระหว่าง ๖ ปีนั้น เมื่อยังศึกษาอยู่กับท่านอาจารย์ผู้เป็นดาบส พระองค์ได้ตั้งปรารถนาเหมือนดังปักหลักศิลาแห่งความปรารถนาลงไว้ในชีวิต “สัทธา, วิริยะ, สติ, สมาธิ, ปัญญาของเราก็มีอยู่อย่างไรก็ตาม เราจักตั้งความเพียรทำให้แจ้งธรรม ที่กาลามะประกาศแล้ว จนกล่าวได้ว่าเราบรรลุจริง ทำให้แจ้งด้วยปัญญาอันยิ่งแล้ว และอยู่ให้จงได้
เป็นหลักประกันว่าหลักธรรมนี้สามารถเสริมสร้างศิลปะในการครองชีวิตได้เป็นแน่ทีเดียว
ในวาระฉลอง ๑๐๐ ปีชาตกาล กุหลาบ สายประดิษฐ์ เมื่อปี พ.ศ. ๒๕๔๘ ชนรุ่นหลังได้ร่วมกันเชิดชูผลงานตามหลักคิดของกุหลาบ สายประดิษฐ์ ว่านี่เป็นแบบอย่างของคนไทยผู้ดำรงชีวิตผู้เพื่อสังคมโดยแท้จริง
ขอน้อมคาวระ
ว่าที่ร้อยตรี ธนภัทร ฉายากุล
ท.ศ. ๓๐-๓๓ เลขประจำตัว ๒๓๗๙๐
หนังสืออ้างอิง
1. คืออิสสระชน คือคนดี คือศรีบูรพา, สุชาติ สวัสดิ์ศรีและคณะ, สำนักงานคณะอนุกรรมการฝ่ายประสานงานโครงการ 100 ปี กุหลาบ สายประดิษฐ์ (ศรีบูรพา), 2548, ISBN 974-92932-6-6
2. ชีวิตสอนอะไรแก่ข้าพเจ้า, กุหลาบ สายประดิษฐ์, สำนักงานคณะอนุกรรมการฝ่ายประสานงานโครงการ 100 ปี กุหลาบ สายประดิษฐ์ (ศรีบูรพา), 2549, ISBN 974-94127-2-9