นี้เป็นเรื่องสั้นขนาดยาวจากปลายปากกา ของมันสมองด้านการเงินของบ้านเรา เมื่อครั้งเธอยังทำงานอยู่ในสถาบันหลักของประเทศ ซึ่งงานเขียนส่วนใหญ่ในขณะนั้นเป็นเชิงวิชาการ แต่หลังจากที่ลาออกจากองค์กรแล้ว เธอก็ได้หยิบปากกาอีกครั้งเพื่อบันทึกความเป็นไปของสังคมไทยในด้านเศรษฐศาสตร์
ผมก็เป็นคนหนึ่งที่ได้รับผลกระทบอย่างแรงจากการปล่อยค่าเงินลอยตัว เมื่อปี พ.ศ. 2540 เพราะผมต้องสูญเสียงานอันเป็นความหวังที่จะเป็นส่วนหนึ่งในการพัฒนาประเทศด้วยเทคโนโลยีไปอย่างสิ้นเชิง เพราะทุกวันนี้มันยังคงเป็นเพียงซากอาดารในประวัติศาสตร์
เมื่อได้อ่านหนังสือเล่มนี้แล้วก็ทำให้ผมรู้ถึงความเป็นไปก่อนที่จะมีการลอยตัวค่าเงินได้อย่างชัดเจนมากขึ้น
ผมกำลังพูดถึงคุณนวพร เรืองสกุล และเรื่องสั้นขนาดยาวของเธอ “สัปดาห์สุดท้าย”
ฉากแรกเปิดขึ้นในวาระสุดท้ายของตัวละครหลักของเรื่อง ที่มีส่วนรู้เห็นข้อมูลเชิงลึกของเหตุการณ์วิกฤตเศรษฐกิจในปี พ.ศ. 2540 ซึ่งนั่นก็ประมาณครึ่งศตวรรษมาแล้ว ชายชรานอนครุ่นคิดถึงเหตุการณ์ว่า เขาเองก็มีส่วนต้องรับผิดชอบกับหายนะครั้งนั้นหรือไม่ ครั้นแล้วเทวทูตที่มารับตัวไปก็ให้โอกาสเขาในการ คลายปมของความวิตกกังวลที่สั่งสมในใจมาอย่างยาวนาน ก่อนที่จะรับตัวไป
เรื่องราวดำเนินสลับไปมาระหว่างปัจจุบันและอดีตก่อนจะเกิดวิกฤต เหตุการณ์มากมายเกิดขึ้นในองค์กรที่เป็นคนดูแลเงินของประเทศ ตัวละครหลักของเรายังเป็นเพียงพนักงานระดับปฏิบัติงาน ที่ไม่สามารถนำเสนอความคิดเห็นแย้งในเรื่องที่เขาไม่เห็นด้วย หลายคนต้องถอนตัวออกจากองค์ดังกล่าว เพราะไม่สามารถทำงานเพื่อรักษาสถานะทางการเงินตามหลักการของตน คนที่กุมอำนาจไว้จึงสามารถเล่นตัวเลขเงินในบัญชีได้ตามที่ต้องการ
เรื่องยังสลับไปฉายภาพให้เห็นการประกอบธุรกิจการเงิน ของสถาบันการเงินที่เพลิดเพลินระเริงใจกับตัวเลขทางเศรษฐกิจหลอกๆ โดยที่ประชาชนก็เข้าใจว่าประเทศกำลังเฟื่องฟูอย่างมากซึ่งดูได้จากการสะพัดของเงิน แต่ไม่มีใครรู้ถึงความอ่อนแอของโครงสร้างพื้นฐาน ที่ผมคิดว่าแม้มีคนรู้ก็คงต้องปิดปากเงียบ เพราะจะกลายเป็นคนที่ทำลายบรรยากาศที่ผู้คนคิดกันว่าดีแบบนี้
หนังสือเล่มนี้เปรียบได้เท่ากับเป็นพงศาวดารเศรษฐศาสตร์ของบ้านเราในยุดก่อน IMF ได้อย่างดีเพราะสามารถบันทึกเรื่องราวในหลายๆ แง่มุมทางเศรษฐกิจไว้ได้อย่างดี ประจวบกันการเล่าเรื่องที่ฉับไวไม่ยืดเยื้อทำให้ผมต้องติดตามจนจบในรวดเดียว ทั้งๆ ที่ผมเป็นคนอ่านหนังสือช้า
ผมชอบเนื้อหาอีกส่วนของตัวละครหลัก นั่นคือการได้สนทนากับยมทูตที่ผู้เขียนบรรจงบรรจุโอกาสให้ชายชราได้คำตอบจากยมทูต เพื่อให้เขาสามารถละเรื่องราวต่างๆ ในอดีตทั้งหมดก่อน และการเอาใจใส่ดูและชายชราของบุตรีของเขาอย่างดีก่อนจะหมดลมหายใจ เพื่อให้ชายชราปล่อยวางทุกอย่างก่อนจะจากไปอย่างหมดห่วง เป็นเรื่องราวเชิงพุทธธรรมที่ไม่ค่อยมีใครนำมาบรรจุลงในงานเขียนเสียเท่าไหร่
ทำให้ผมระลึกถึงคำสอนของท่านพุทธทาสภิกขุแห่งวันธารน้ำไหล สวนโมกขพลารามที่ท่านเพียรสั่งสอนอยู่เสมอว่า “ให้ตายเสียก่อนตาย” ให้หัดปล่อยวาง ละทุกข์ต่างๆ เสีย ให้จิตเรานั้นว่าง (ตาย) ก่อนที่กายเราจะตาย
คงไม่มีใครได้โอกาสจากยมทูตเหมือนอย่างในเรื่องนี้ เราคงต้องฝึกฝนเตรียมความพร้อมด้วยตัวของเราเอง
สำหรับผู้ที่ต้องการเรียนรู้เศรษฐศาสตร์นอกตำรา (จากเรื่องจริง) หรือผู้ที่เคยผจญกับความยากลำบากในสมัยนั้น หนังสือเล่มนี้จะมีคุณค่าเชิงวิชาการและด้านจิตใจของผู้ที่สนใจศึกษาได้เป็นอย่างดี
ส่วนตัวผมนั้น เมื่อครั้งได้ผ่านวิกฤตเศรษฐกิจในครั้งนั้นมาก็เรียนรู้ที่จะไม่ใช้จ่ายเกินตัว รู้จักหาเงินก่อนใช้เงิน และรู้ว่าไม่มีรัฐบาลไหนหรอกที่จะพูดความจริงด้านเศรษฐกิจกับประชาชน ด้วยกลัวว่าจะเสียคะแนนนิยมหรือเห็นว่าประชาชนไม่มีสมองจะเข้าใจเรื่องราวได้ก็ไม่ทราบ อย่างไรก็ดีหลักกาลามสูตรนั้นเป็นหลักสำคัญในการกลั่นกรองข้อมูลก่อนที่จะนำมาใช้ และประเทศชาติต้องการคนที่มีความเห็นแตกต่างเพื่อประโยชน์สูงสุดของประชาชน ผู้บริหารต้องรู้จักกรองเอาข้อมูลที่เป็นประโยชน์มาใช้ ไม่ใช่เลือกเอาเฉพาะข้อมูลที่อยากฟัง แล้วก็สั่งปิดปากขาประจำโดยเห็นว่าเป็นเรื่องไม่น่าสนใจ
ข้อมูลเพิ่มเติม
ชื่อ : สัปดาห์สุดท้าย
ผู้แต่ง : นวพร เรืองสกุล
สำนักพิมพ์ : มติชน
ISBN : 974-323-025-4
จำนวนหน้า : 120 หน้า
ราคาจำหน่าย : 116 บาท