David Sanborn
ถึงแม้จะเป็นนักแซกโซโฟน คนที่สองที่ผมรู้จัก ระยะหลังนี้ผมก็ไม่ได้ฟังผลงานใหม่ของเขาเท่าไหร่ตั้งแต่เขาเริ่มเบนเข็มไปทำเพลงแบบ Standard Jazz มากขึ้น เพราะผมชอบที่เขาในแบบ Contemporary Jazz มากกว่า ผมเคยไปชมการแสดงสดครั้งแรกในเมืองไทยของเขาเมื่อ 10 กว่าปีก่อนที่โรงแรมกลางกรุง ครั้งนั้นเป็นการจัดแบบดนตรีในสวน ก็ได้รับอรรถรสอย่างดีมาแล้ว การมาครั้งนี้ของเขาเป็นครั้งที่ 3 แล้ว แต่เป็นครั้งที่ 2 ของผมที่ได้ชม
เปิดวงด้วยเพลงแบบ Standard Jazz แบบเต็มๆ ด้วย ภาพของ David ปรากฏขึ้นเต็มจอข้างเวที ทำเอาผมรู้สึกตกใจเล็กน้อยกับความเปลี่ยนแปลงที่มีต่อวัยที่สูงขึ้นของเขา แต่สำเนียงเสียง Sax และพลังเป่ายังเหมือนเดิม จากนั้นก็เปลี่ยนไปเป็นเพลง Contemporary มากขึ้น โดยเลือกเอาเพลงที่คุ้นเคยจากอัลบั้ม Close-up ซึ่งเป็นอัลบั้มแรกที่ผมรู้จักมาบรรเลงด้วย หลายเพลงนั้น David แต่งร่วมกับมือเบสชั้นดีเมื่อครั้งได้ร่วมงานกันมาก่อน มาคัส มิลเลอร์ (Macus Miller) จน David เองก็แซวว่าเป็น “A Macus Miller Evening” (ค่ำคืนนี้ของมาคัส มิลเลอร์) ไม่ว่าจะเป็น Mapudo หรือ Slam พลังการบรรเลงของ David ไม่ตกเลยตลอดช่วงเวลาที่บรรเลงอยู่นั้น โดยเฉพาะโน๊ตตัวมีสูง (E) ของ Alto Saxophone ที่เป่ายากมาก แต่จะเป่าให้เสียงออกมานิ่งๆ นานๆ ก็ยากแล้ว นี่เป็นเอกลักษณ์ของ David เลยครับที่สามารถเป่าออกมาได้ชัดเจนดุดันและมีพลังมาก
การถ่ายทอดภาพนักดนตรีขึ้นบนจอยักษ์นั้นทำให้ผมเห็นว่า David ใช้ไมโครโฟนที่มีขาจับพิเศษสำหรับ Sax ของเขาโดยเฉพาะ อันนี้น่าจะเป็นเคล็ดลับบางอย่างของเขาแน่ เพราะการเป่า Sax ให้มีสำเนียงดุดันเฉพาะตัวแบบของเขานั้นเครื่องดนตรีก็ต้องเลือกสรรมาเฉพาะสำหรับเขาด้วย กลับมาค้นข้อมูลบนอินเตอร์เน็ทก็พบเว็ปไซท์ส่วนตัวของ David ที่มีข้อมูลเพิ่มเติมสำหรับอุปกรณ์ที่เข้าเลือกใช้ตั้งแต่ Mouthpiece, Ligature, ลิ้น (Reed), ไมโครโฟน ไปจนถึงปากแตรและรุ่นของแซกโซโฟนที่เขาใช้ มีบทสัมภาษณ์ด้วยครับ
กลับมาที่งานแสดง นักดนตรีใหญ่ขนาด David เองก็ไม่ได้ผูกขาดการแสดงอยู่คนเดียว ยังแบ่งให้กีตาร์ เบส และเครื่องอื่นโซโลบ้าง แน่นอนครับเพลงแจ๊สนั้นไม่ได้เน้นเครื่องดนตรีหลักเพียงเครื่องเดียว แต่เครื่องดนตรีแต่ละเครื่องสามารถแสดงออกถึงอิสระภาพในการแสดงออกมาได้ตลอดเวลา (improvisation) แต่เวลาผ่านไปไวเหมือนโกหก เพลงสุดท้ายก็มาถึง เมื่อจบ David และคณะก็กล่าวขอบคุณผู้ชม และเดินลงจากเวทีไป ผู้ชมปรบมือชื่นชม ผมยังอารมณ์ค้างอยู่เลย แน่นอนครับผมต้องอังกอร์ ก็มีคนตบมืออังกอร์อยู่ห่างจากผมไปไม่ไกลเท่าไหร่เหมือนกัน ผมจึงตบมือต่อเนื่องไป แต่ผู้คนก็เริ่มอพยบไปยังเวที 2 เพื่อรอชมการแสดงต่อไปโดยไม่สนใจเวทีนี้แล้ว ผมก็คิดในใจว่าเป็นไปไม่ได้ที่จะไม่มีอังกอร์ ผมยังคงตบมือต่อ พอจะมีแนวร่วมเพิ่มขึ้นบ้าง เพียงครู่หนึ่ง David Sanborn และคณะก็กลับขึ้นมาอังกอร์เป็นเพลงสุดท้าย ผู้คนที่เดินก็หยุดฟัง
บรรเลงจนจบเพลงไป เป็นการจบการแสดงอย่างสมบูรณ์ แต่อังกอร์ไม่เป็นธรรมชาติ ผมปลอบตัวเองว่า สงสัยนี่คงไม่ใช่นักดนตรีในดวงใจพวกเขา แต่สำหรับผมแล้ว David Sanborn เป็นมากกว่านักแซกโซโฟนธรรมดาทั่วไปแน่นอน สงสัยต้องไปหาอัลบั้มที่ยังไม่มีมาฟังใหม่หมดแล้วหล่ะครับ
การแสดงชุดสุดท้ายของวันนี้ ที่เวทีที่ 2 ต้องล่าช้าไปอีกเล็กน้อย พิธีการบอกว่า ต้องมีการเตรียมการพิเศษ (setup) สำหรับการแสดงชุดนี้
Al Jarreau
เที่ยงคืนพอดี เปิดตัว Al Jarreau นักร้องเจ้าของรางวัลแกรมมี 5 รางวัลจาก 3 สาขาตั้งแต่นักร้องชายเพลง Jazz, นักร้องชายเพลง Rhythm and Blues และนักร้องชายเพลง Pop ด้วยการด้นสดการร้อง (improvisation) โอ้ว…..นี้แหละครับตัวจริงเสียงจริง ผมคุ้นเคยกับเพลงของเขาในแนว R&B แต่นี้เป็นงาน Jazz Festival นี่จะเป็นการแสดงการร้องเพลงแจ๊สที่เป็นแบบฉบับของเขาจริงๆ จากนั้นนักดนตรีในวงก็เข้ามาร้องเสริมแบบประสานเสียงพร้อมเครื่องอีกสองชิ้นคือ Alto Saxophone และ Tenor Saxophone เมื่อจบเพลงผู้คนก็ปรบมือต้อนรับทุกคนอย่างอุ่นหนาฝาคั่ง
นักดนตรีเข้าประจำที่ขณะเริ่มแสดงอย่างต่อเนื่อง แทบจะไม่หยุดเลย ผมไม่สามารถอธิบายการร้องของ Al Jarreau เป็นตัวหนังสือได้ชัดเจนนัก แต่จะลองดู เอกลักษณ์ของ Al Jarreau คือเขาเป็นคนที่มีแนวเสียงกว้างมาก (wide range) คือสามารถร้องเสียงต่ำไล่ไปจนถึงเสียงสูงได้ อย่างที่ผมเคยเขียนถึงเขาในเรื่องมาลีวัลย์และชรัส แถมยังสามารถร้องให้เสียงออกมากว้างหรือจะบีบเสียงก็ได้ นั่นคือเขาสามารถร้องเป็นตัวโน๊ตเช่นเดียวกับการเล่นมันออกมาจากเครื่องดนตรี แถมยังร้องเป็นภาษาพูดด้วย ไม่ใช่เพียงเปล่งเสียงออกมาเท่านั้น Al Jarreau มีเสียงเป็นทรัพย์จริงๆ
การแสดงของ Al Jarreau ผมรู้สึกว่าเขามีความสุขในการแสดงออกมาก ไม่เพียงแค่รอยยิ้มที่ปรากฏให้เห็นอยู่ตลอดเวลาเท่านั้น แต่มันยังแสดงออกจากภาษากายทั้งหมด ผมคิดว่าเขาต้องใช้จินตนาการอย่างสูงในการแสดง เหมือนเขาอยู่ในโลกส่วนตัวแต่ก็มีการเชื้อเชิญผู้คนเขาไปเที่ยวชมอยู่เสมอ อย่างเช่นตอนที่เขาร้องถึงประเทศไทย เขาก็เล่นคำเป็น “Thailand My land Your land” อะไรทำนองนี้
Al Jarreau เอาเพลงต่างๆ ของเขามาร้องแบบเมดเล่ย์อยู่หลายเพลง สลับกับเพลงในอัลบั้มใหม่ล่าสุด Accentuate the Positive ที่กลับมาเป็นแจ๊สอีกครั้ง แถมด้นสดไปเรื่อยๆ นี่มันเป็นแจ๊สแบบหลุดโลกจริงๆ สำหรับการร้องเพลง ขนาดเพลง Take 5 อันเลื่องลือก็ถูก improvise เสียหมดรูปของเพลงดั้งเดิม ส่วนเพลง Moonlighting เพลงประกอบละครโทรทัศน์สมัยก่อนนั้นไม่ได้นำมาแสดง เพราะออกจะเป็น R&B มากกว่า ร้องไปเล่นกันคนดูไปสมกับเป็น Entertainer ระดับโลกจริงๆ ครับ
จนตีหนึ่งแล้ว การแสดงก็เดินมาถึงช่วงสุดท้าย อากาศก็เย็นได้ที่ ผู้คนกลับไปบ้างแล้วหลายส่วน Al Jarreau ร้องเพลงจบแล้วลาผู้ชม ไม่มีใครยอมให้จบง่ายๆ แน่นอน ผู้ชมส่วนใหญ่ลุกขึ้นและตบมืออังกอร์ ผมก็ไม่คิดจะนั่งต่อแล้วหล่ะครับ ลุกขึ้น ตบมืออังกอร์ แล้วก็เริ่มเดินไปใกล้เวที เปลี่ยนบรยากาศ ไม่นาน Al Jarreau ก็ออกมาร้องด้นกับมือกลอง เรียกเสียงจากคนดูได้มากเลย แล้วทุกคนก็เข้าประจำที่ แสดงต่อ ผมก็เดินไปมาอยู่หน้าเวที ดูทั้งบนเวทีและข้างล่างเพื่อเก็บบรรยากาศ จากนั้นก็ค่อยๆ เดินห่างจากเวทีออกมา ฟังเพลงไปด้วย อังกอร์ผ่านไปถึงครึ่งชั่วโมงจนจบสมบูรณ์
ผมก็เดินออกจากงาน ขึ้นรถ กลับบ้าน หนาว ง่วงนอน แต่สุขใจ
วันอาทิตย์ที่ 19 ธันวาคม 2547
เช้านี้ผมต้องนอนต่ออีกหน่อยชดเชยที่นอนดึก เพื่อระหว่างวันและเย็นนี้จะได้ไม่ง่วงมาก จึงตื่นสายมากกว่าปกติ หลังจากนั้นก็ทำภารกิจทั่วไปเพื่อที่จะได้ไปร่วมงานต่อ เมื่อคืนตอนเลิกงานพิธีกรของงานก็ประกาศเน้นว่างานจะเริ่มตอน 4 โมงเย็น ตามตารางนั่นแหละครับ แต่ผมนั่นไม่ค่อยเชื่อเท่าไหร่ว่าจะเริ่มได้ ทั้งจำนวนคนดูที่น้อยมากเวลาเริ่ม และแสงแดดที่ยังมีอยู่พอสมควร ก็พอจะทำให้เหงื่อซึมได้แม้จะเป็นหน้าหนาว แต่ที่สำคัญผมว่าคนไทยไม่ชอบตากแดดเท่าไหร่
ผมออกจากบ้านตอน 4 โมงเย็น ไปถึงงานก็ไม่ถึงสี่โมงครึ่งดี เดินเข้างานก็ได้ยินเสียงจากเวที 1 แล้ว แต่ไม่ใช่การแสดง เป็นการลองเครื่อง วันนี้พี่ชายผมจะมาดูด้วย ตอนแรกเขาว่าจะมาดูแต่ Sadao แต่ผมชวนให้มาดู Infinity ด้วยซิ โทรไปรายงานเวลาแสดงคร่าวๆ เพื่อนัดหมาย จะได้มาดูด้วยกัน วันนี้ต้องสำรวจงานด้านขวามือหน่อยเพราะเมื่อวานไปดูอีกด้านหนึ่งแล้ว ได้เรื่องสิครับ มีแผ่น CD ของวงที่มาแสดงในงานนี้ขาย ใช่แล้ว นี่ไม่ใช่เรื่องเกินความคาดหมายอะไร แต่เมื่อวานผมไม่สนใจเท่านั้นเอง พระยาน้อยเดินชมตลาดเพลงสิครับงานนี้ ก็มีอัลบั้มล่าสุดของ David Sanborn ที่แสดงไปเมื่อคืน ถัดมาก็มี James Taylor Quartet แถมยังมี Casiopea เสียด้วย เดินต่อไปเจอ T-Square สิครับ ผมกำลังอยากได้ DVD การแสดงสดของวงนี้ร่วมกับ Casipea อยู่พอดี เลยถามคนขาย แต่ได้ความว่ามีแต่ CD ปั้มเมืองไทย master มาจากญี่ปุ่น ก็ฟังหูไว้หูหน่ะครับ รู้ๆ กันอยู่ว่า โรงงานผลิดบ้านเราสู้ญี่ปุ่นไม่ได้อยู่แล้ว แต่ที่ได้มาอีกชุดก็คือ Ryuichi Sakamoto ชุด moto.tronic มี DVD แสดงสดสั้นๆ มาให้ด้วยครับ แถมยังเป็นแผ่นนำเข้าด้วย เลยฉวยมาไม่รอช้า ต้องเลือกครับเพราะจะจ่ายอะไรต้องคิดให้รอบคอบ
จากนั้นก็ได้เวลาเดินไปหาที่นั่งแล้วครับ วันนี้เป้าหมายอยู่ที่เวที 2 ที่ Sadao Watanabe จะขึ้นแสดง ผมจึงเลือกที่นั่งตรงกับลำโพงซ้ายมือของเวที 2 ห่างจากหน้าเวทีพอสมควรเพื่อที่จะได้ดูเวที 1 ทางซ้ายมือได้ง่ายเช่นเคย แดดยังไม่หมด ผู้คนที่มาก่อนเลือกที่จะนั่งในร่มเงาของเต้นท์ควบคุม แต่ผมเลือกที่จะนั่งตากแดดเพราะไม่ร้อนมาก พอทนได้ ขอรับวิตามินดีสักหน่อย บนเวทียังลองเครื่องกันอยู่ ผมก็นั่งแกะห่อ CD เพื่อสำรวจความเรียบร้อย ไม่นานนักบนเวทีก็พร้อม งานเริ่มขึ้นตอน 5 โมงเย็น ไม่ผิดคาดนัก เพลงสรรเสริญพระบารมีบรรเลง
Mahidol Band
เริ่มด้วยการออกงานครั้งแรกของวงจากวิทยาลัยดุริยางคศิลป์ มหาวิทยาลัยมหิดล ผมรู้สึกคุ้นเคยกับวงนี้มากกว่า CU Band เริ่มด้วยวง Big Band ที่มีผู้นำวง (Conductor) เป็นอาจารย์ของวิทยาลัยชาวญี่ปุ่น นำเอาเพลงที่ค่อนข้างคลาสสิกมาบรรเลง ผสานกับการโซโลของนัก Saxophone และเปียโน ได้อย่างสนุกสนาน จากนั้นก็สลับเอาวงของอาจารย์ของวิทยาลัยมาบรรเลงบ้าง ก็ต้องให้เกียรติครับว่าฝีมือระดับอาจารย์จริงๆ ความสนุกสนามไม่น้อยไปกว่าวงดนตรีมืออาชีพ แล้วก็ปิดท้ายด้วยวง Big Band อีกครั้ง สร้างความประทับใจได้ไม่น้อย ผมมั่นใจว่าที่นี่จะผลิตนักดนตรีแจ๊สได้เป็นอีกมากในอนาคต
การแสดงย้ายไปที่เวที 2 ต่อเลยเช่นกัน ผู้ชมเริ่มมากขึ้น
urb
วงดนตรีน้องใหม่จากญี่ปุ่น ดูจากหน้าตาแล้วอายุไม่น่าเกิน 27 นักแซกโซโฟนมาแบบเด็กแร็พเลย ส่วนนักทรัมเป๊ตอย่างกันดาราทีวี ส่วนมือเบสก็น้องๆ X Japan เลยครับ แต่วงนี้เล่นเพลงแจ๊ส เปิดวงมาก็มีเสียงประหลาดล็กน้อยคาดว่าน่าจะมาจากไมโครโฟนตัวใดตัวหนึ่ง แล้วทุกคนก็บรรเลง ความสามารถในการบรรเลงนั้นฟังออกเลยครับว่าฝีมือไม่เบาทีเดียว เวทีนี้มี Acoustic Piano ตั้งอยู่ด้วย ทำให้ได้ฟังเสียงนอกจากเปียโนไฟฟ้าบ้าง เพลงที่เลือกมาเป็นเพลงของวงเอง มีทั้งลีลาแบบ Standard, Comtemporary ไปจนถึง Fusion Jazz น่าสนใจมากครับ ฝีมือน่าประทับใจมากเลย สลับฉากกับการแนะนำสมาชิกในวงโดยมือเบส ทั้งๆ ที่ภาษาอังกฤษไม่ค่อยแข็งแรงเท่าฝีมือ แต่ก็ดูแล้วน่ารักมากกว่า เท่านั้นยังไม่พอยังอัญเชิญเพลงพระราชนิพนธ์สายฝนมาบรรเลงด้วย เรียกเสียงปรบมือจากผู้ชมได้มากเลยครับ เมื่อจบเพลงมือเปียโน (คาดว่าจะเป็นหัวหน้าวง) ก็ถือโพยมากล่าวกับผู้ชมเป็นภาษาไทยและกล่าวอัญเชิญเพลงพระราชนิพนธ์ด้วย! (เล่นไปแล้วเพิ่งมาอัญเชิญ) ผู้ชมก็ชื่นชมมากเลยครับ รวมทั้งตัวผมด้วย
เพลงที่แสดงนั้นไม่ได้เน้นหนักไปที่เครื่องดนตรีที่ยืนอยู่ข้างหน้าทั้งแซกโซโฟนและทรัมเป๊ตเท่านั้น ทั้งสองก็ยืนหลีกไปให้เพื่อนในวงได้แสดงออกเต็มที่ในจังหวะที่ตัวไม่มีโน๊ตเล่น แถมมือเปียโนก็ใส่เต็มที่เหมือนกัน มือกีตาร์ก็ไม่น้อยหน้า มือกลองอาจจะน้อยไปหน่อย แต่ตามความคิดของผม อยากเห็นมือเบสมากกว่านี้ ทั้งๆ ที่ในเพลงเองเขาก็บรรเลงได้หนักแน่นดีมากๆ เลย ทั้งเบสและกลองคุมภาคจังหวะ (Rhythm Section) ได้ดีมากครับ
เพลงสุดท้าย ไมโครโฟนของแซกโซโฟนมีปัญหาจริงๆ แต่นักดนตรีก็สามารถแก้ปัญหาเฉพาะหน้าขณะที่กำลังบรรเลงอยู่ได้ทันทีโดยการหันไปใช้ไมโครโฟนสำหรับพูดมารับเสียงที่เครื่องโดยตรงแทน ใช้ได้เลยครับ ล่วงเลยไปชั่วโมงกว่าก็เสร็จสิ้น ทุกคนในวงได้ฝากฝีมือไว้ให้ผู้ชมทั้งหลายเป็นที่ประจักษ์กับตัวเองแล้วว่าไม่ธรรมดาเลยทีเดียว อนาคตไกลอีกวงแน่นอนครับ
พี่ชายผมมาถึงสักพักแล้ว แต่ถือโอกาสที่ผู้คนเริ่มเดินหาที่นั่นฝั่งเวทีหนึ่งอีกครั้งมานั่งร่วมกับผม ณ จุดเดียวกัน
Infinity and friends
ต่อกันเลยที่เวที 1 ด้วยวง Fusion Jazz วงแรกและวงเดียวของเมืองไทยด้วยเอกลักษณ์ของตัวเองจริงๆ ผมติดตามผลงานมาตั้งแต่อัลบั้มแรก ก็เกือบ 20 ปีได้แล้วกระมัง สมาชิกหลักยังอยู่ตั้งแต่ศรายุทธ สุปัญโญ มือคีย์บอร์ด ชุมพล สุปัญญโญ มือกีตาร์ และวรรณยศ มิตรานนท์ มือกลอง นำเอาเพลงใหม่เอี่ยมในอัลบั้มที่กำลังจะวางจำหน่ายเร็วๆ นี้มาบรรเลง แถมยังมีการนำเพลงไทยเดิมมาเรียบเรียงใหม่ในแบบของ Infinity ด้วยแต่ผมไม่ค่อยถูกใจเสียเท่าไหร่ที่ต้องเอาตัวเพลงต้นฉบับมาบรรเลงนำก่อนที่จะเข้าสู่การบรรเลงในแบบของวง แต่คงเป็นการประนีประนอมให้ผู้ฟังเข้าใจก่อนว่านี่เป็นเพลงอะไร ก็พอเข้าใจได้แต่ไม่ถูกใจนัก นั่นไม่เป็นปัญหาหรอกครับ เพราะวงนี้ฝีมือชั้นครูเช่นเดียวกัน เพลงใหม่ที่แสดงก็มีเรื่องราวที่สั่งสมจากการเดินทางทั่วประเทศ นำมาเล่าในแบบฉบับของตัวเอง นี่สิครับของจริง
ต่อมาก็ไปการอัญเชิญบทเพลงพระราชนิพนธ์ที่ทางวงเรียบเรียงใหม่ไว้นานแล้วมาบรรเลงหลายเพลง ทั้งหมดนั้นผมคุ้นเคยเป็นอย่างดี แถมยังเอามาเมดเล่ย์ 4 เพลงติดต่อกันอีก โดยคราวนี้มีแขกรับเชิญคือ ยงยุทธ มีแสง นักทรัมเป๊ต และมานพ วโรนิธิภาส นักแซกโซโฟน มาร่วมแจม
บรรยากาศโดยรวมผมคิดว่าผู้ชมไม่ค่อยให้ความสนใจเท่าใหร่ เห็นได้จากที่ผู้คนยังเดินไปมาไม่หยุดเลยครับ รบกวนคนที่นั่งอยู่กับที่อย่างมาก ผมก็พยายามทำใจเพราะต้องการฟังดนตรี ดูการแสดงมากกว่า การแสดงก็จบลงเมื่อครบหนึ่งชั่วโมง ไม่ค่อยคุ้มค่าการรอคอยเท่าไหร่ คงต้องรอจนกว่าอัลบั้มใหม่วางแผง จะได้ช่วยกันอุดหนุนผลงานต่อไปครับ
และแล้วก็มาถึงที่สุดของงานสำหรับผม