สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอฯสิ้นพระชนม์แล้ว ประชาชนทราบข่าวต่างร่ำไห้และโศกเศร้าทั่วไทย พระราชทานพระบรมราชานุญาตให้ประชาชนเข้าถวายน้ำสรงพระศพหน้าพระฉายาลักษณ์ ซึ่งประดิษฐาน ณ ศาลาสหทัยสมาคม ในพระบรมมหาราชวัง ตั้งแต่เวลา 13:00-16:00 น. วันพุธที่ 2 ม.ค. นี้

ประกาศสำนักพระราชวัง เรื่อง สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ สิ้นพระชนม์ ความว่า
สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาส ราชนครินทร์ ได้เสด็จประทับรักษาพระอาการประชวร ณ อาคารเฉลิมพระเกียรติ โรงพยาบาลศิริราช ตั้งแต่วันที่ ๑๕ มิถุนายน ๒๕๕๐ ตามที่สำนักพระราชวังได้แถลงให้ทราบเป็นระยะแล้วนั้น แม้คณะแพทย์ได้ถวายการรักษาอย่างใกล้ชิดจนสุดความสามารถ พระอาการประชวรได้ทรุดลงตามลำดับ และสิ้นพระชนม์เมื่อเวลา ๐๒ นาฬิกา ๕๔ นาที วันที่ ๒ มกราคม ๒๕๕๑ รวมพระชันษา ๘๔ ปี
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้สำนักพระราชวังจัดการพระศพ ถวายพระเกียรติสูงสุดตามราชประเพณี ประดิษฐานพระศพ ณ พระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท ในพระบรมมหาราชวัง ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้พระบรมวงศานุวงศ์ และข้าทูลละอองธุลีพระบาทในราชสำนักไว้ทุกข์ถวายมีกำหนด ๑๐๐ วัน ตั้งแต่วันสิ้นพระชนม์เป็นต้นไป
อนึ่ง ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมพระราชทานพระบรมราชานุญาตให้ประชาชนเข้า ถวายน้ำสรงพระศพหน้าพระฉายาลักษณ์ ซึ่งประดิษฐาน ณ ศาลาสหทัยสมาคม ในพระบรมมหาราชวัง ตั้งแต่เวลา ๑๓ นาฬิกา ถึงเวลา ๑๖ นาฬิกา วันพุธที่ ๒ มกราคม ๒๕๕๑
สำนักพระราชวัง
๒ มกราคม พุทธศักราช ๒๕๕๑
สำหรับบรรยกาศภายในโรงพยาบาลศิริราช เมื่อเวลา 01:00 น.วันที่ 2 มกราคม ได้มีประชาชนจำนวนมากอยู่ภายในอาคารเฉลิมพระเกียรติ เพื่อเฝ้ารอดูพระอาการของ สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ โดยไม่มีประชาชนคนใดนอนหลับเลยนั่งเฝ้าพระอาการอย่างใจจดใจจ่อด้วยความโศกเศร้า
กระทั่งเวลาประมาณ 02:10 น.สมเด็จพระบรมราชินีนาถฯ และพระบรมศานุวงศ์ทุกพระองค์ เสด็จมายังอาคารเฉลิมพระเกียรติ โรงพยาบาลศิริราช ต่อมาเวลาประมาณ 04:00 น. ทุกพระองค์เริ่มทยอยเสด็จออกจากโรงพยาบาลศิริราช
ต่อมาเวลา 05:00 น. เจ้าหน้าที่สำนักพระราชวังได้นำประกาศสำนักพระราชวัง เรื่อง สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ สิ้นพระชนม์ มาติดที่บอร์ดภายใต้อาคาร และแจกจ่ายสื่อมวลชน เมื่อประชาชนรับทราบต่างก็กลั่นน้ำตาไม่ไหว ร่ำไห้ด้วยความโศกเศร้าเสียใจบริเวณใต้อาคารเฉลิมพระเกียรติ และภายในโรงพยาบาลศิริราช ซึ่งบางคนก็เงยหน้าขึ้นไปบนตึกด้วยน้ำตาไหลนองหน้า

พระประวัติสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอฯ
สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ เป็นพระราชธิดาพระองค์ใหญ่ในสมเด็จพระมหิตลาธิเบศร อดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนกและสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี ประสูติเมื่อวันที่ 6 พฤษภาคม พุทธศักราช 2466 ณ เมืองเอดินเบอระ สก็อตแลนด์ ประเทศอังกฤษ พระองค์คือสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล รัชกาลที่ 8 และพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช รัชกาลที่ 9 พระราชบิดาสิ้นพระชนม์ เมื่อยังทรงพระเยาว์
สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี ทรงย้ายครอบครัวไปพำนัก ณ เมืองโลซาน ประเทศสวิสเซอร์แลนด์ เพื่อการศึกษาของพระราชโอรสและพระราชธิดา ทรงสำเร็จการศึกษาวิทยาศาสตร์ด้านวิชาเคมี ควบคู่กับวิชาการศึกษาวรรณคดี ปรัชญา และจิตวิทยา แล้วเสด็จนิวัตประเทศไทย ระหว่างพุทธศักราช 2493-2501 ทรงเป็นพระอาจารย์ในคณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ทรงสอนวิชาสนทนาภาษาฝรั่งเศสและวรรณคดีฝรั่งเศส
พุทธศักราช 2512 ทรงรับเป็นอาจารย์ประจำที่คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ทรงสอนและทรงงานด้านการบริหารในหน้าที่หัวหน้าสาขาวิชาการภาษาต่างประเทศ ซึ่งประกอบด้วย ภาษาฝรั่งเศส เยอรมัน ญี่ปุ่น จีนและรัสเซีย ทรงเป็นผู้ดูแลและจัดทำหลักสูตร ดูแลการสอนของอาจารย์ทั้งชาวไทยและชาวต่างประเทศ
ปีพุทธศักราช 2516 ทรงจัดทำหลักสูตรปริญญาตรีสาขาภาษาและวรรณคดีฝรั่งเศสสำเร็จด้วยการผสมผสาน ความรู้ด้านภาษาและวรรณคดีให้เข้ากันอย่างเหมาะสม ทรงเป็นอาจารย์ประจำอยู่ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ 8 ปี จากนั้น จึงทรงขอเป็นอาจารย์พิเศษอย่างเดียวด้วย ต้องทรงติดตามพระราชภารกิจในสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี ด้านหน่วยแพทย์เคลื่อนที่
น้ำพระหฤทัยในความเป็นครูนั้นเปี่ยมล้นมิเหือดหาย ทรงรับเป็นอาจารย์พิเศษในมหาวิทยาลัยอื่นๆ ที่ขอมาตลอด ได้แก่มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เชียงใหม่ สงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี หลายรุ่นและด้วยประสบการณ์และพระปรีชาญาณในการสอนภาษาฝรั่งเศสเป็นเวลาอันยาวนาน ปีพุทธศักราช 2520 จึงทรงก่อตั้ง สมาคมครูสอนภาษาฝรั่งเศสแห่งประเทศไทย เพื่อเป็นศูนย์กลางแลกเปลี่ยนความรู้ในการแก้ไขการสอนให้กับบรรดาครูทั้ง หลายทรงได้รับการถวายพระเกียรติจากรัฐบาลฝรั่งเศส ทูลเกล้าทูลกระหม่อมถวายเหรียญตราชั้นสูงสุด ด้านศิลปะและอักษรศาสตร์ เมื่อพุทธศักราช 2522
ทรงสนพระทัยการศึกษาของเยาวชน ได้อุปถัมภ์โครงการ โอลิมปิควิชาการ เพื่อการแข่งขันและพัฒนาวิชาการวิทยาศาสตร์ในประเทศให้ก้าวทันสากล ทรงสร้างสื่อการเรียนให้แก่เด็กเล็กในโรงเรียนชายแดน ที่มิได้มีโอกาสเรียนชั้นอนุบาล เพื่อสามารถอ่านเขียนทันเด็กที่เรียนล่วงหน้าไปก่อนเกณฑ์ และร่วมสร้างโรงเรียนในความดูแลของตำรวจตระเวนชายแดน ส่วนเด็กในกรุงเทพมหานครนั้นทรงให้ความอนุเคราะห์เด็กเล็กในสลัมต่างๆ
เมื่อทรงหยุดการสอน พระกรณียกิจส่วนใหญ่จึงเป็นงานสังคมสงเคราะห์ ทั้งด้านการแพทย์ สาธารณสุข สิ่งแวดล้อม นอกจากช่วยโครงการแพทย์อาสาในสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี หรือ พอ.สว.แล้ว มีมูลนิธิ กองทุน สมาคม ศูนย์สงเคราะห์ อีกจำนวนมากกว่า 30 รายการ ที่พระองค์ทรงมีภาระในการบริหาร เช่น มูลนิธิโรคไต มูลนิธิเด็กโรคหัวใจ มูลนิธิขาเทียม มูลนิธิสงเคราะห์เด็กพิการทางสมองและปัญญา มูลนิธิเด็กอ่อนในสลัม มูลนิธิโลกสีเขียว กองทุนหมอเจ้าฟ้า กองทุนการกุศล กว. กองทุนการกุศล สมเด็จย่า สมาคมปราบวัณโรคเชียงใหม่ สมาคมพยาบาลสาธารณสุขไทย ศูนย์เด็กอ่อนวัยก่อนเรียน ณ ศูนย์รังสิต มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์เนื้อเยื่อชีวภาพกรุงเทพ คณะแพทย์ศาสตร์ ศิริราชพยาบาล เป็นต้น
สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ ทรงได้รับการอภิบาลให้ทรงมีพระจริยวัตรโปรดการอ่าน การศึกษามาตั้งแต่ทรงพระเยาว์ สั่งสมประสบการณ์ทางด้านประวัติศาสตร์ ศิลปะ โบราณคดี สิ่งแวดล้อม และทรงนำมาใช้ให้เกิดประโยชน์แก่ชาติบ้านเมืองตลอดเวลา ด้วยความสนพระทัยในศาสตร์ทั้งหลาย จึงทรงเป็นทั้งเจ้าฟ้านักประพันธ์ และเจ้าฟ้านักวิชาการ มีหนังสือพระนิพนธ์จำนวนมาก ที่จัดพิมพ์ขึ้นให้ได้ศึกษาหาความรู้อย่างกว้างขวาง โดยเฉพาะเรื่อง แม่เล่าให้ฟัง หรือ ยุวกษัตริย์ มิใช่เป็นเรื่องประวัติบุคคลด้านเดียว หากแต่ให้ความเข้าใจทั้งประวัติศาสตร์ ประเพณี การเมือง อันเป็นวัฒนธรรมของชาติ ซึ่งมีความสนุกสนานสอดแทรกไว้อย่างกลมกลืน หรือสารคดีข่าวเกี่ยวกับการเสด็จไปทัศนศึกษาในต่างถิ่น เป็นสิ่งที่ชาวไทยโชคดีได้มีโอกาสเห็น เสมือนร่วมเดินทางไปกับพระองค์ด้วย โดยจะทรงพิถีพิถันให้จัดทำเป็นสารคดีท่องเที่ยวสั้นๆ ที่มากด้วยความรู้ นำเผยแพร่เกือบทุกครั้ง ทำให้ผู้ที่ไม่มีโอกาสไปถึง ได้รับทราบและรับความรู้อย่างกว้างขวางไปด้วย
ที่มา หนังสือพิมพ์ คม ชัด ลึก และหนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ ฉบับวันที่ 2 มกราคม พ.ศ. 2551