ผลวิจัย ‘ทีดีอาร์ไอ’ ป่าไม้ลดรอบ 10 ปี สัตว์สูญพันธุ์เพิ่ม

สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.) ร่วมกับสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) ประชุมเชิงปฏิบัติการรายงานสถานการณ์สิ่งแวดล้อมในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา วานนี้ (19 พ.ค.)

โดยดร.สุเมธ ตันติเวชกุล เลขาธิการมูลนิธิชัยพัฒนา กล่าวปาฐกถาพิเศษเรื่อง “การจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมตามแนวพระราชดำริ” ตอนหนึ่งระบุว่า ค่อนข้างตกใจกับรายงานสรุปที่สผ.จัดทำขึ้น เนื่องจากพบว่าทรัพยากรธรรมชาติที่จำเป็นต่อการดำรงชีวิต มีแนวโน้มลดลงอย่างรวดเร็ว ขณะที่สถานการณ์มลพิษทั้งอากาศ พิษ ขยะ น้ำเสียกลับมีสถานการณ์สูงขึ้น

โดยสัดส่วนความผันผวนดังกล่าวนี้ เป็นการเตือนให้รู้ว่าโลกอยู่ในภาวะน่าเป็นห่วง ขณะที่ระบบทุนนิยมที่รัฐบาลต้องการวิ่งตามความเจริญของโลก เพราะกลัวว่าจะตกขบวนรถไฟ โดยไม่รู้ว่ารถจะไปหยุดที่ไหนเป็นการพัฒนาอย่างขาดสติ

ดร.สุเมธ กล่าวอีกว่า ในอนาคตสงครามแย่งชิงทรัพยากรโดยเฉพาะเรื่องน้ำจะเป็นประเด็นใหญ่ ซึ่งพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงมีโครงการพระราชดำริด้านนี้มากกว่า 70% เนื่องจากเป็นสิ่งที่จำเป็นมากกว่าปัจจัยอื่นๆ โดยทรงแนะนำการแก้ปัญหาด้านทรัพยากรน้ำที่ไม่ต้องใช้การลงทุน เพียงแต่ต้องเข้าใจระบบการเชื่อมโยงระหว่างมนุษย์กับธรรมชาติ และแก้ปัญหาตั้งแต่ยอดฟ้าจนลงถึงใต้ดิน

และทรงเน้นการบริหารจัดการวางแผน เพราะทรงรับสั่งว่าประเทศไทยมีการวางแผนเยอะ แต่ส่วนใหญ่เป็นการแพลนแล้วนิ่ง นอกจากนี้ถ้าการแก้ปัญหาโดยเอาสภาพภูมิประเทศและสังคมเป็นหลัก รวมทั้งใช้ระบบพอมีพอกินก็คงไม่ต้องใช้งบประมาณตามแก้

“ปัญหาด้านป่าไม้ที่ลดลงนั้น พระองค์ทรงรับสั่งว่าจะแก้ได้โดยใช้ธรรมชาติ กล่าวคือ ต้องมีระบบการเก็บกักน้ำ เพื่อสร้างความชุ่มชื้นให้กับดิน เมล็ดพืชพันธุ์จะงอกเงยได้ ไม่ต้องปลูกป่าแบบแถวทหารเหมือนกับที่กรมป่าไม้ หรือหลายหน่วยงานตีความผิดเอาว่าการปลูกป่าเป็นการเอาต้นไม้ลงหลุม ซึ่งเรื่องนี้มีการพิสูจน์จากโครงการพัฒนาตามพระราชดำริที่ห้วยทราย ที่ป่าฟื้นกลับมาได้ในระยะเวลา 7 ปีเท่านั้น” ดร. สุเมธ กล่าว

ด้านนางอัจฉรี ไชต์มึลเลอร์ นักวิจัยจากสถาบันทีอาร์ไอ กล่าวถึงสถานการณ์ทรัพยากรป่าไม้ใน รอบ 10 ปีว่า ในช่วงปี 2538-2548 แนวโน้มป่าลดลงอย่างต่อเนื่อง ตัวเลขล่าสุดมีพื้นที่ป่าเหลือเพียง 105 ล้านไร่หรือ 32.65% ของพื้นที่ทั้งหมด โดยสาเหตุมาจากการเปลี่ยนแปลงการใช้ที่ดิน การลักลอบตัดไม้ การเกิดไฟป่า โดยในปี 2541 เกิดไฟป่าเสียพื้นที่กว่า 7 ล้านไร่ เนื่องจากปรากฏการณ์เอลนีโญ

ทั้งนี้สอดคล้องกับทรัพยากรดิน เนื่องจากพื้นที่ป่าไม้ลดลงแต่กลับพบว่าพื้นที่เกษตรกรรมและพื้นที่ชุมชนเพิ่มขึ้น โดยพื้นที่ชุมชนเพิ่มขึ้นประมาณ 8 เท่าตัวในปี 2544 และพบว่า พื้นที่นาได้ลดลงจาก 83.47 ล้านไร่ใน ปี 2529 เหลือเพียง 79 ล้านไร่ในปี 2541 เพราะถูกเปลี่ยนสภาพเป็นโรงงานอุตสาหกรรม ที่อยู่อาศัย สนาม กอล์ฟ รีสอร์ท และเพิ่มอีก 1.8 ล้านไร่ในปี 2544 ขณะที่ภาพรวมการถือครองที่ดินทางการเกษตรก็ลดลงด้วย

ส่วนด้านทรัพยากรสัตว์ป่า พบว่าชนิดพันธุ์สัตว์ที่ถูกคุกคาม เพิ่มขึ้น 134 ชนิด และใกล้สูญพันธุ์อย่างยิ่งเพิ่มขึ้น 26 ชนิด และชนิดพันธุ์ที่ใกล้สูญพันธุ์เพิ่มขึ้นอีก 9 ชนิด ส่วนที่สูญพันธุ์แล้วได้แก่ สมัน นกช้อยหอยใหญ่ นกพงหญ้า ปลาบางเหยี่ยว ปลาเสือตอ และ ปลาสายยู และแม้จะมีการประกาศพื้นที่อนุรักษ์เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเพิ่มขึ้น คิดเป็นพื้นที่กว่า 21 ล้านไร่ แต่ยังมีปัญหาการลักลอบจับและค้าสัตว์ป่าจากรายงานองค์กรอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมระบุว่าไทยติดอันดับ 3 ของเอเชียและอันดับ 12 ของโลกในการคุกคามสัตว์ป่า


ที่มา หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ ฉบับวันที่ 20 พฤษภาคม 2549