คราวนี้ได้โอกาสเขียนถึงหนังสือที่ผมอ่านบ้าง จึงอยากประเดิมด้วยหนังสือที่เป็นแก่นสารของชีวิตแท้ๆ ใช่แล้วครับผมกำลังจะเขียนถึง หนังสือธรรมะที่ผมว่างเว้นการอ่านไปเสียนาน ได้อ่านครั้งนี้เป็นแง่มุมที่เข้าใจได้ง่ายจริงๆ ครับ
ผมได้หนังสือทั้งสองเล่มนี้จากงานสัปดาห์หนังสือแห่งชาติเมื่อเดือนที่แล้ว ครั้นได้เห็นแล้วก็ไม่ลังเลใจที่จะหยิบฉวยกลับมาด้วย เพราะผมเคยได้อ่านงานเขียนของผู้แต่งอยู่สม่ำเสมอ ในนิตยสารชีวจิตที่ผมบอกรับเป็นสมาชิกอยู่ ท่านคือ ว.วชิรเมธี เจ้าของบทความ เกร็ดธรรมจากพระแท้ และ ธรรมะร่วมสมัย นั่นเองครับ
เริ่มกันเลยดีกว่าครับ
เล่มแรก ธรรมะติดปีก ข้อคิดติดปีกปัญญาจากพระแท้แห่งยุคสมัย
เป็นการรวมบทความที่เคยจัดพิมพ์ไว้ในนิตยสารชีวจิต เรื่องราวหลากหลายแตกต่างกันออกไป แต่ก็ได้ทำการแบ่งหมวดหมู่ไว้เป็นสองภาคกับอีกหนึ่งภาคผนวก รวมทั้งหมดถึง ๓๐ เรื่อง
ภาคแรก เกร็ดธรรมจากพระแท้ เป็นการรวมเอาหลักคิดและวัตรปฎิบัติของพระเถระที่มีคุณูปการกับพวกเราชาวไทยมากมาย ไม่ว่าจะเป็นสมเด็จพระพุฒาจารย์? (โต พรหมรังสี) ท่านพุทธทาสภิกขุ หลวงพ่อชา สุภัทโท หลวงพ่อปัญญานันทภิกขุ หรือท่านพระธรรมปิฎก (ป.อ. ปยุตโต) รวมกันไว้ถึง ๒๐ เรื่อง โดยท่านใช้ภาษาและลีลาในการเล่าเรื่องอย่างสนุกสนาน เข้าใจง่ายๆ คล้ายจะเป็นอัตชีวประวัติของพระเถรานุเถระทั้งหลายนั้น แต่ก็เป็นการยกเอาประเด็นเด่นขึ้นมาเป็นธงนำไว้ก่อน ดังที่เห็นได้จากชื่อเรื่องเช่น “ลูกถีบหลวงพ่อชา” “เอาหูไปรองเกี๊ยะเขาทำไม” “กลับบ้านเก่ากันเถิด”
ภาคที่สอง ยารักษาใจ เป็นการยกเอาพระสูตรๆ หนึ่งขึ้นมาอรรถาธิบายแบบมินิซีรี่ย์ นั่นคือ โพชฌังคปริตร หรือที่คุ้นเคยกันว่าสวดโพชฌงค์ ๗ ที่มีอานิสงส์ในการรักษาบรรเทาโรคภัยไข้เจ็บ แต่ไม่ใช่ในทำนองปาฏิหารอะไรหรอกน่ะครับ เป็นเรื่องของการใช้สติและปัญญาพิจารณาบทสวดนี้ทั้ง ๗ หัวข้อในทุกรายละเอียดก็จะได้ความดื่มด่ำซึ้งใจในการเจริญธรรม อันจะยังผลมาบรรเทาความรู้สึกผิดปกติของสังขารร่างกายได้บ้างนั่นเอง รวมทั้งยังอธิบายถึงลักษณะและอานุภาพของเมตตา รวมทั้งวิธีการแผ่เมตตาและประโยชน์ของการแผ่เมตตาไว้ด้วย ทำให้ผมต้องหวนไปถึงเนื้อหาในเทปบรรยายธรรมเรื่อง “เมตตาที่ท่านยังไม่รู้จัก” ของท่านพุทธทาสภิกขุอยู่เหมือนกัน
ส่วนภาคผนวก ก็เป็นการรวบรวมประวัติโดยสังเขบของพระเถระที่ยกมาเล่าเรื่องราวต่างๆ ในหนังสือเล่มนี้
ความโดดเด่นของหนังสือเล่มนี้อยู่ที่การเล่าเรื่องราวต่างๆ ให้เข้าใจได้ง่าย ไม่จำเป็นต้องศึกษาหลักธรรมชั้นสูงมาก่อนแต่ประการใด เมื่ออ่านแล้วพิจารณาให้เข้าใจแล้วก็จะเป็นการติดปีกให้กับปัญญาของเราเพื่อเป็นพาหนะสำหรับยกระดับจิตใจให้ยิ่งเข้าใกล้บุญกุศลมากขึ้นๆ อยู่เสมอ
เล่มต่อมาคือ ธรรมะหลับสบาย ข้อคิดสลัดตัวโกรธจากชีวิตและเตียงนอน
สำหรับผู้ปฏิบัติธรรมแล้วความรู้สึกใดที่เกิดขึ้น (เวทนา) เราต้องมองให้เห็นเหมือนกับมันเป็นก้อนอะไรก้อนหนึ่งที่จะเกิดขึ้น ตั้งอยู่สักพักหนึ่งแล้วก็ดับไป ความโกรธก็เช่นเดียวกัน หนังสือเล่มนี้อธิบายอย่างละเอียดถึงที่มา การดำรงอยู่และการขจัดความโกรธได้อย่างน่ารักน่าชัง ทำไมผมถึงเปรียบอย่างนี้ ก็เพราะท่านผู้แต่งใช้วิธีการดำเนินเรื่องโดย การที่พระอาจารย์เขียนจดหมายส่งให้ลูกศิษย์เพื่ออบรมสั่งสอนให้เข้าใจถึงเรื่อง “รากแก้วของความโกรธ” “พินิจดูธรรมชาติของความโกรธ” ยังไปถึงวิธีการขจัดความโกรธ “เธอคือคนไม่สำคัญของโลก” “สลายต้นตอของความโกรธให้เหลือเพียง ‘ความว่าง’ “ จนถึง “ขุดรากถอนโคนความโกรธด้วยสมาธิภาวนา”
และที่ขาดไม่ได้นั่นคือ “เมตตาภาวนา : เยียวยาผืนแผ่นดินให้ชุ่มเย็น” ซึ่งหนังสือเล่มนี้ก็ยังเน้นถึงเรื่องเมตตาเช่นเดียวกันเล่มที่แล้ว ชึ่งเมตตานี่เองที่เป็นกุศลอันยิ่งใหญ่ในการเจริญธรรมต่อๆ ไป
เอกลักษณ์ของหนังสือเล่มนี้คงอยู่ที่ลีลาในการเล่าเรื่องของพระอาจารย์นั่นเอง หากเปรียบผู้อ่านเป็นเหมือนลูกศิษย์ของท่านแล้ว ก็คงสัมผัสได้ถึงเมตตาของท่านที่ผ่านมาทางตัวหนังสือทั้งหลายนี้อยู่เสมอ
สุดท้ายนี้ผมอยากนำเสนอวิธีและอานิสงส์ของการแผ่เมตตาไว้ตรงนี้
แผ่เมตตาให้ตนเอง | |
อะหัง สุขิโต โหมิ | ขอให้ข้าพเจ้ามีความสุข |
อะหัง นิททุกโข โหมิ | ขอให้ข้าพเจ้าปราศจากความทุกข์ |
อะหัง อะเวโร โหมิ | ขอให้ข้าพเจ้าปราศจากเวร |
อะหัง อัพยาปัชโฌ โหมิ | ขอให้ข้าพเจ้าปราศจากความลำบาก |
อะหัง อะนีโฆ โหมิ | ขอให้ข้าพเจ้าปราศจากอุปสรรค |
สุขี อัตตานัง ปะริหะรามิ | ขอให้ข้าพเจ้ามีความสุขรักษาตนอยู่เถิด |
แผ่เมตตาให้คนที่ตนโกรธและสรรพสัตว์ | |
สัพเพ สัตตา | สัตว์ทั้งหลายที่เป็นเพื่อทุกข์ เกิด แก่ เจ็บ ตาย ด้วยกันทั้งหมดทั้งสิ้น |
อะเวรา โหนตุ | จงเป็นสุขๆ เถิด อย่าได้มีเวรต่อกันและกันเลย |
อัพยาปัชฌา โหนตุ | จงเป็นสุขๆ เถิด อย่าได้พยาบาทเบียดเบียนซึ่งกันและกันเลย |
อะนีฆา โหนตุ | จงเป็นสุขๆ เถิด อย่าได้มีความทุกข์กายทุกข์ใจเลย |
สุขี อัตตานัง ปะริหะรันตุ | จงมีความสุขกาย สุขใจ รักษาตนให้พ้นจากทุกขภัยทั้งสิ้นเถิด |
อานิสงส์ของเมตตา ๑๑ ประการ | |
๑. | หลับเป็นสุข คือหลับง่ายและหลับสนิท |
๒. | ตื่นเป็นสุข คือสดชื่น อารมณ์แจ่มใส |
๓. | ไม่ฝันร้าย |
๔. | เป็นที่รักของมนุษย์ |
๕. | เป็นที่รักของอมนุษย์ (สัตว์ดิรัจฉาน เทวดา ภูตผีปีศาจ) |
๖. | เทวดารักษา |
๗. | ไฟ ยาพิษ ศัสตราวุธไม่แผ้วพาน |
๘. | จิตเป็นสมาธิได้อย่างรวดเร็ว |
๙. | สีหน้าผ่องใส |
๑๐. | เมื่อถึงคราวตายก็จากไปอย่างสงบ |
๑๑. | หากยังไม่ได้บรรลุคุณธรรมระดับสูง ย่อมจะไปบังเกิดในพรหมโลก |