การเรียนรู้เรื่องเกี่ยวกับออเคสตร้า
จากตัวเลขสู่ตัวโน๊ต
วัยเยาว์ของ Hans Zimmer ในเยอรมันนั้น เขาได้รับความรู้เพื่อใช้สำหรับอนาคตของเขาอย่างมีแบบแผนเพียงน้อยนิด เมื่อเทียบกับนักประพันธ์ดนตรีประกอบภาพยนตร์ชั้นนำของโลก “ผมควรจะได้เรียนเปียโนซัก 2 อาทิตย์” เขาเล่าอย่างติดตลก
แต่เขาชดเชยการด้อยประสบการณ์ทางดนตรีด้วยความเชี่ยวชาญทางเทคโนโลยีและคอมพิวเตอร์ “ผมเริ่มทำดนตรีบนเครื่องคอมพิวเตอร์สองสามปีก่อนที่ IBM จะเปิดตัว PC เสียอีก” เขารำลึกความหลัง “มันแทบต้องใช้เวลาตลอดชีวิตของผมเลยในการป้อนตัวเลขเข้าไปเพื่อให้ได้ตัวโน๊ตสักสองสามตัว”
“ผมรู้สึกว่าการเล่นคอมพิวเตอร์ยิ่งเป็นการช่วยให้ผมฝึกฝนฝีมือเปียโนของผมได้” เขาเล่าอย่างติดตลก “เมื่อคราวผมอายุประมาณยี่สิบ ผมมี Roland Microcomposer รุ่น MC8 มีหน่วยความจำ 16K อยู่เครื่องหนึ่ง ต่อมาผมก็ใช้ Fairligt ไม่มีใครได้เรียนเกี่ยวกับการใช้งานมันหรอกเพราะไม่มีใครสอน”
“ณ วันนี้ มันน่าตื่นเต้นมากกับสิ่งที่คุณสามารถทำได้บนเครื่อง PowerBook” เขาเล่าต่อ “มันทำให้เรามีอิสระอย่างมาก เมื่อคุณไม่จำเป็นต้องมีเงินเป็นหมื่นเป็นแสน เพียงแค่คุณมีความคิดดีๆ แล้วเริ่มต้นทำ และที่แน่ๆ คุณต้องมีพรสรรค์ทางดนตรีสักหน่อย”
หลังจากนั้นเขาก็ได้ทำงานในแนว Rock & Roll อยู่บ้าง “พวกเราได้ทำลายสิ่งเดิมๆ ไปจนหมด” เขาหัวเราะ “และพวกเราก็ทรมานนักดนตรีจริงๆ อย่างมาก เพราะความรู้สึกในเรื่องของจังหวะเวลาของพวกเราช่างต่างกันพวกเขาอย่างลิบลับ พวกเราถูกควบคุมและครอบงำด้วยเครื่องอิเล็กทรอนิกส์”
เข้าสู่ยุค Avant Garde
ในช่วงปี 1980 เขาได้โอกาสเป็นผู้ช่วยของนักแต่งดนตรีประกอบอย่าง Stanley Myers ที่กรุงลอนดอน เขาเล่าต่อไป “Stanley รู้ทุกอย่างเกี่ยวกับออเคสตร้า เขาทำดนตรีให้กับเรื่อง The Deer Hunter และเคยร่วมงานกับผู้กำกับแนว Avant Garde ในอังกฤษ” เขาเล่าไปพรางหัวเราะไปพรางต่อว่า “คุณจะเป็น Avant Garde ได้จริงๆ ถ้าคุณไม่มีเงินสำหรับจะทำหนังสักเรื่องเลย”
Myers ต้องการทำงานกับใครสักคนที่เข้าใจโลกของอิเล็กทรอนิกส์ และเขาก็คือคนๆ นั้นเอง “และแล้วผมก็ได้เรียบรู้เกี่ยวกับออเคสตร้าจากเขานั่นเอง” Zimmer เสริม
พวกเขาจึงได้ร่วมกันในภาพยนตร์ประมาณ 2-3 เรื่อง เช่น My Beautiful Launderette ที่เป็นต้นแบบให้กับภาพยนตร์อีกหลายเรื่องในกรุงลอนดอน “ผมว่ามันเป็นการฉกฉวยโอกาสที่ดี เพราะหนังใหม่ๆ ในอังกฤษกำลังมีทิศทางอย่างนั้น” เขาอธิบาย
“ผมต้องการทำงานใน Hollywood แต่ผมสัญญากับตัวเองว่าผมจะไม่ไปที่นั่นถ้าไม่มีใครเสนองานให้ผมทำ เพราะผมรู้ตัวดีว่ามิฉะนั้นผมคงจะต้องไปเป็นเด็กเสริฟที่แย่มากๆ แน่” เขาทิ้งท้าย
ครั้งทำดนตรีประกอบเรื่อง Rain Man
และแล้วผู้กำกับ Barry Levinson ก็เสนอโอกาสให้เขาทำทำดนตรตีประกอบให้ภาพยนตร์เรื่อง Rain Man นั่นเองที่ทำให้เขาได้ย้ายไปยังอเมริกา “ผมทำงานให้ Rain Man อย่างเดียวกับที่ผมทำให้กับหนังยุโรปทั้งหลาย ผมไม่ได้ทำงานในห้องอัดเป็นหลัก ผมใช้เครื่อง Fairlight และอุปกรณ์เสริมอีกสองสามอย่าง แล้วทำงานในห้องทำงานของ Barry” เขาอธิบาย
“มันช่วยให้ Barry ทำงานได้ค่อนข้างสบายๆ ด้วยเพราะเขาไม่ต้องไปทำงานในห้องอัดแล้วต้องไปนั่งเครียดกับวงออเคสตร้าที่ต้องทำงานให้เป๊ะๆ ทุกอย่าง” เขาเล่าต่อ
“เราค่อยค้นหาแนวทางไปเรื่อยๆ และผมก็มักจะคิดว่านั่นจะงานสุดท้ายของผมใน Hollywood” เขาเล่าไปพรางยิ้มไปพราง “ผมมักจะคิดว่าหนังแต่ละเรื่องจะเป็นงานสุดท้ายของผม ดังนั้นผมจะต้องตั้งใจทำงานและพยายามลืมเรื่องราวไม่ดีต่างๆ ที่เคยเกิดขึ้นมาก่อน มันเหมือนเพิ่งเริ่มทำงานใหม่ๆ และผมก็ทำแบบนี้ได้ดีเสียด้วย”
หลังจากอยู่ในอเมริกามาถึง 12 ปี เขาก็ตัดสินใจที่จะพักอยู่ที่นี่ต่อไปอีก แต่ก็ยังรับงานในฝั่งยุโรปบ้าง เพราะว่า “คุณจะได้มีแนวคิดแปลกๆ แตกต่างออกไปบ้าง คุณไม่สามารถยึดติดอยู่กับที่ใดที่หนึ่งไปตลอดหรอก”
ถ่ายทอดให้กับผู้อื่นบ้าง
เขายืนยันว่าการได้ถ่ายทอดประสบการณ์ให้ผู้อื่นบ้างจะเป็นการพัฒนาทักษะในการทำงานให้ดียิ่งขึ้น เพราะว่านักแต่งเพลงหลายคนในอเมริกาไม่ชอบที่จะถ่ายทอดวิชาความรู้ให้ผู้อื่นเลย แม้กระทั้งผู้ช่วยที่กระหายความรู้ทั้งหลาย เขาและคู่หูทางธุรกิจของเขา Jay Rifkin จึงมีความคิดที่จะจัดตั้ง Media Ventures ขึ้นเพื่อรองรับนักแต่งเพลงหน้าใหม่ให้มีโอกาสได้พัฒนาทักษะให้ตัวเอง
“เมื่อครั้งผมทำงานที่อังกฤษกับ Stanley Myers เขาช่วยฝึกฝนผมและยังให้โอกาสทำงานให้เขา แต่เมื่อผมข้ามมาทำงานที่อเมริกา ผมไม่เคยเห็นเรื่องราวแบบนี้ ไม่เคยมีใครช่วยคนอื่นให้ทำงานมากกว่าหน้าที่ของเขา” เขาสะท้อนประสบการณ์ออกมา “ทุกคนต่างก็ทำแต่งานของตัวเองและไม่ให้คนใหม่เข้ามายุ่งเกี่ยวด้วยเลย”
“แต่ถ้าพวกคุณมองไปที่นักแต่งเพลงชั้นนำในปัจจุบันอย่าง John Williams, Jerry Goldsmith หรือ Elmer Bernstein พวกเขายังอยู่ในยุค 70 ของเขาอยู่” เขาชี้ประเด็น “ดังนั้นผมคิดว่า ถ้าต้องการทำอะไรเพื่อเลี้ยงชีพละก็ คงต้องทำในสิ่งที่ค่อนข้างฝืนความรู้สึกอยู่บ้าง เช่นต้องกระชุ่มกระชวยและประหม่าอยู่บ้าง”