เช้านี้ผ่านไปหน้าคุรุสภาอีกเช่นเคย แต่สิ่งหนึ่งที่ไม่เหมือนเดิม ทางม้าลายหน้าคุรุสภานั้นมีสมองแล้ว
ทางม้าลายอัจฉริยะ
เป็นทางม้าลายที่มีการติดตั้งหลอดสัญญาณไฟข้าม และอุปกรณ์นับเวลาสัญญาณไฟจราจรแบบถอยหลัง พร้อมมีเสียงสัญญาณบอกเป็นจังหวะ เพื่อให้คนทั่วไปและคนตาบอดทราบระยะเวลาคอยการข้าม รวมทั้งระยะเวลาในการข้ามถนน ผู้ขับขี่รถยนต์ได้ทราบจังหวะคนข้าม ล่วงหน้าเพื่อหยุดรถ และทราบระยะเวลาสิ้นสุดการหยุดให้ข้ามถนนเพื่อเตรียมตัวในการเคลื่อนตัวรถได้ดี กรุงเทพมหานครได้ติดตั้งทางม้าลายอัจฉริยะ ๓๔ จุด ตามบริเวณหน้าโรงเรียน โรงพยาบาล สถานที่สาธารณะทั่วไปที่มีคนใช้เส้นทางสัญจรจำนวนมาก
(หนังสือพิมพ์ผู้จัดการ วันที่ ๙ กันยายน ๒๕๔๘)
ระยะก่อนและหลังทางม้าลายอัจฉริยะตรงนี้ไม่เกิน 100 เมตรจะเป็นสีแยกไฟแดง นั่นหมายความว่ารถที่ต้องผ่านย่านนี้อาจจะต้องติดไฟแดงเพิ่มขึ้นจาก 2 จุดเป็น 3 จุด ที่ว่าอาจจะก็เพราะว่าคงไม่มีใครข้ามทางม้าลายนี้ตลอดเวลากระมัง
ใจหนึ่งก็เป็นห่วงสภาพการจราจรในชั่วโมงเร่งด่วนย่านนี้ที่ติดขัดอยู่เสมอ แต่อีกใจหนึ่งก็คิดว่าความก้าวหน้าทางวัตถุเช่นนี้คงเสริมสร้างความสะดวกสบายให้กับผู้คนย่านสัญลักษณ์แห่งการพัฒนาทางปัญญา (ตลอดกาล – สำหรับผม) แห่งนี้ได้เช่นกัน
แต่ขณะที่วัตถุก้าวหน้าไปแล้ว คนยังอยากจะย่ำต๊อกอยู่กับที่กระนั้นหรือ ไม่ก้าวหน้าบางครั้งก็คือการถอยหลัง
ภาพที่เห็นขณะรอสัญญาณไปให้รถผ่านไปได้ นอกจากจะเป็นภูมิทัศน์ที่ถูกปรับเล็กน้อยเพื่อความสะดวกในการข้ามถนน สัญญาณไฟแดงที่มีตัวเลขนับถอยหลังบอก เครื่องหมายจราจรรูปคนข้ามทางม้าลายที่คนขยับเป็นจังหวะข้ามถนนได้ และจะขยับเร็วขึ้นเมื่อใกล้หมดเวลาข้าม
แต่วัยรุ่นเจ้าสำอางค์สองนางนั้นยังทอดน่องข้ามทางม้าลายเดียวกันนี้ไปราวกับว่าเป็นทางแมวเดิน (Cat Walk) ไม่ยี่หร่ะว่าสัญญาณนั้นให้ไฟเขียวแล้ว ตัวเองเพิ่งพาตัวเองมาแค่เกือบกลางถนน รถคันนั้นก็ไม่กล้าออกตัวไป คงเป็นเพราะเกรงว่าอาจจะถูกเสียดสีตามมาภายหลัง
มันเป็นภาพที่ยังความสลดสังเวชใจยิ่งนัก นี่ไม่ใช่ครั้งแรกที่ผมได้พบกับคนวัยเดียวกันกับเธอทั้งสองมีค่านิยมเปลี่ยนทางม้าลายเป็นทางแมวเดิน บ่อยครั้งที่จะพบเห็นได้หน้าสถาบันอุดมศึกษาที่จะต้องผ่านไปแน่หลังจากนี้ เพื่อตรงไปขึ้นสะพานซังฮี้ เรื่องแบบนั้คงไม่มีสอนกันในระดับนั้นแล้ว
ผมถูกสั่งสอนมาตั้งแต่จำความได้ว่า “หากต้องข้ามถนน ให้รีบข้าม”
คำถามมากมายผุดขึ้นในมโนสำนึก “หรือว่าพวกเธอไม่ได้รับการอบรมสั่งสอนอย่างเราไม่ว่าจะเรื่องการข้ามถนนและการเคารพกฏจราจร การเอาใจเขามาใส่ใจเรา การรู้จักเกรงใจผู้อื่น” – “หรือว่าสัญญาณเสียงที่ต้องบอกจังหวะให้รีบข้ามถนนไม่ทำงาน”
เมื่อผู้รับผิดชอบได้ทำการใส่สมองให้ทางม้าลายเพื่อพัฒนาความสะดวกสะบายในการใช้ชีวิตในเมืองกรุงแล้ว ผู้คนที่อยู่ที่นี่ต้องไม่ลืมที่จะพัฒนาสมองและจิตใจของตนให้สูงขึ้นเพื่อคนรอบข้างด้วย