ผมใช้เวลาตัดสินใจซื้อหนังสือทั้ง 3 เล่มนี้อยู่นานพอสมควรในงานหนังสือช่วงต้นเดือนตุลาคมที่ผ่านมาขณะที่เดินไปเดินมาอยู่ในบูธของสำนักพิมพ์มติชน ที่ดูเหมือนจะปักหลักอยู่ที่โซนพลาซาของศูนย์ประชุมแห่งชาติสิริกิตติ์เป็นที่ประจำไปเสียแล้ว เหตุผลหลักก็คือเป็นหนังสือประกอบการเรียนชุดวิชาทั้งสามที่ผมลงทะเบียนเรียนไว้ที่มสธ. แถมยังใกล้วันสอบตอนสิ้นเดือนเดียวกันเข้ามาทุกที
ส่วนเหตุผลรองที่ประกอบกันอย่างหนักแน่นก็คือสามารถจ่ายค่าหนังสือด้วยบัตรเครดิตได้ ทางสำนักพิมพ์มีบริการนี้ได้ไม่นาน ผมจำไม่ได้ว่าสักกี่ครั้งแล้ว แต่ที่จำได้แน่ๆ ก็คือครั้งหนึ่งผมตัดพ้อกับคนที่รับชำระเงินว่าน่าจะรับบัตรเครดิตเพราะผมซื้อหนังสือที่นี่คราวละไม่น้อย ก็ปรากฏว่างานหนังสือครั้งต่อจากงานนั้นก็เปิดบริการรับชำระด้วยบัตรเครดิตโดยสะดวก
สำนักพิมพ์มติชนมีความเข้มแข้งด้านหนังสือในหมวดประวัติศาสตร์มานานแล้ว เพียงแต่ผมยังไม่เคยสนใจจริงจังสักทีเพราะมีหนังสือแนวอื่นเป็นตัวเลือกหลัก คราวนี้ไม่อาจปฏิเสธได้แล้วว่าหนังสือทั้งสามเล่มนี้อันได้แก่ กรุงสุโขทัย มาจากไหน? กรุงเทพฯ มาจากไหน? และอักษรไทย มาจากไหน? เป็นตัวเลือกลำดับต้นๆ สำหรับคนที่สนใจความเป็นมาในแง่มุมต่างๆ ของคนไทย ในยามความขัดแย้งทางชาติพันธุ์เป็นประเด็นระดับชาติ
ผมเลือกที่จะสมัครเรียนในภาควิชาศิลปศาสตร์ หมวดวิชาไทยคดีศึกษา ของมหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช ก็เพราะต้องการศึกษาจริงจังถึงที่มาของคนไทย เพื่อจะเข้าใจ เข้าถึงความลึกซึ้งของวิวัฒนาการของสังคมและวัฒนธรรม และนำความรู้ทั้งหมดนั้นไปพัฒนาตัวเองไปจนถึงหน่วยต่างๆ ของสังคมที่ผมอาจจะมีส่วนร่วมอยู่ด้วยบ้าง
กรุงสุโขทัย มาจากไหน?
ผมเลือกอ่านเล่มนี้ก่อนเพราะเนื้อหานั้นช่วยให้เข้าใจบทเรียนก่อนสอบไปพร้อมกันเลยทีเดียว ไม่ผิดหวังจริงๆ เหมือนเป็นการช่วยสรุปชุดวิชา 10151 ไทยศึกษา และ 10201 ประวัติศาสตร์ไทย ได้เป็นอย่างดี แถมยังมีภาพประกอบอีกมากมาย
เนื้อหาอธิบายความตั้งแต่ 3000 ปีก่อน แผ่นดินไทยไม่ได้มีรูปร่างหน้าตาเหมือนอย่างในปัจจุบัน มีชาติพันธุ์มากมายอาศัยอยู่ในดินแดนที่เป็นพม่า ไทย ลาว กัมพูชา เวียตนาม และจีนในปัจจุบัน หลักฐานที่อายุอานามในหลักพันปีถูกค้นพบ ช่วยให้นักวิชาการสามารถทำความเข้าใจในสภาพบ้านเมืองในสมัยนั้นได้บ้าง
การตั้งรกราก การติดต่อไปมาหาสู่ระหว่างชุมชนไม่ว่าจะเพื่อการค้า การขยายความเจริญ ยังคงมีหลักฐานตกทอดมาจนถึงทุกวันนี้ หลักฐานทั้งหลายนั้นสามารถนำมาอธิบายตั้งแต่เหตุการณ์ก่อนการสถาปนากรุงสุโขทัย จนถึงสถาปนาสำเร็จ ตามมาด้วยความเจริญก้าวหน้าในศิลปะวิชาการด้านต่างๆ
รวมทั้งช่วงเวลาที่คาบเกี่ยวกับการรวมตัวของแคว้นสุพรรณภูมิกับแคว้นละโว้จนกลายมาเป็นอโยธยาศรีรามเทพ ซึ่งไม่ได้เกิดขึ้นเพราะสุโขัยเริ่มล่มสลายและผู้คนอพยพลงมาสร้างเมืองใหม่ แต่เป็นเพราะมีผู้คนอาศัยอยู่ในตอนล่างของสุโขทัยอยู่แล้ว เมื่อเมืองทางตอนล่างนี้เข้มแข็งมากขึ้นก็สามารถเข้าควบคุมสุโขทัยได้เบ็ดเสร็จ และสยามประเทศก็ก้าวเข้าสู่สมัยกรุงศรีอยุธยาอันยาวนาน
กรุงเทพฯ มาจากไหน?
ผมอ่านเล่มนี้ไปได้เพียงนิดหน่อยก็ต้องพักไว้ก่อนเพื่อให้การสอบไล่ประจำภาค 1/2548 นั้นผ่านพ้นไปก่อน เนื้อหาของเล่มนี้มากกว่าอีก 2 เล่มอยู่เหมือนกัน คงเป็นเพราะหลักฐานที่ปรากฏให้ศึกษาได้นั้นมีอยู่มาก ผมยังเชื่อว่าน่าจะมากกว่าที่นำมาอธิบายความในหนังสือเล่มนี้อีกด้วยกระมัง
การศึกษาประวัติศาสตร์ความเป็นมาของกรุงเทพฯ จำเป็นต้องพึ่งหลักฐานที่เป็นตัวหนังสือของชาวต่างชาติเป็นอย่างมากไม่ว่าจะเป็นหลักฐานของจีน อังกฤษ โปรตุเกส และฝรั่งเศส เพราะชาวสยามไม่นิยมทำบันทึกส่วนตัว นอกเสียจากพระราชพงศาวดารอันเนื่องมาจากพระราชดำริของพระมหากษัตริย์สมัยนั้น แต่หลักฐานของต่างชาตินั้นก็ต้องนำมาตรวจสอบอย่างหนักเพื่อให้ข้อเท็จจริงปรากฏก่อนนำมาอ้างอิง และหลักฐานอีกอย่างหนึ่งก็คือการสร้างบ้านแปงเมืองในชุมชนเก่าแก่ต่างๆ รอบกรุงเทพฯ ที่มีมาตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยาจนถึงกรุงธนบุรี
ที่มาของชื่อเมืองบางกอกอาจจะมาจากชื่อชุมชนย่านคลองมะกอกที่มีต้นมะกอกน้ำอยู่มากมายชื่อว่าบางมะกอกและยังมีวัดประจำชุมชนเล็กๆ ชื่อวัดมะกอก หรือต่อมาเปลี่ยนชื่อเป็นวัดแจ้ง และวัดอรุณตามลำดับ ส่วนตัวผมเองชอบที่จะอ่านออกเสียงคำภาษาต่างด้าว Bangkok ว่า บาง-กอก มากกว่าที่ผู้คนชอบอ่านว่า แบ๊ง-ค๊อก เพราะมันเป็นชื่อเฉพาะของเรา ทำไมต้องไปอ่านออกเสียงเป็นต่างด้าวพรรณนั้นก็ไม่ทราบ
ไม่เพียงที่มา แต่หนังสือยังบรรยายที่ไปของกรุงเทพฯ ในด้านต่างๆ ในแต่ละยุคสมัยได้อย่างน่าสนใจ ทำให้เห็นได้ว่าบ้านเมืองปัจจุบันช่างแตกต่างจากในอดีตช่วง 200 กว่าปีนี้มากมายนัก
อักษรไทย มาจากไหน?
ผมเองก็เคยสงสัยว่าทำไมตัวอักษรที่อยู่บนศิลาจารึกพ่อขุนรามคำแหงนั้นช่างแตกต่างจากตัวหนังสือที่เราใช้อ่านเขียนอยู่ในปัจจุบันนี้ แน่นอนมันต้องมีวิวัฒนาการ และหนังสือเล่านี้ก็อธิบายกระบวนการทั้งหมดนั้น
เริ่มแรกที่มีเพียงภาษาพูด และเรื่องเล่าสืบต่อๆ กันมา ยังไม่มีตัวอักษร ไม่มีภาษาเขียน การรับเอาอิทธิพลทางวัฒนธรรมอันเก่าแก่และยิ่งใหญ่ของอินเดียเข้ามาทำให้เกิดการต่อยอดวัฒนธรรมนั้นออกไปเป็นศาสนา การเมืองการปกครอง และภาษาที่จำเพาะเจาะจง
นัยว่าคนสมัยก่อนค่อยรับเอาความเจริญจากภายนอกเข้ามาพิจารณาว่าสิ่งใดเหมาะสมกับตน และพัฒนาเพื่อให้สอดคล้องกับวิถีชีวิต นี่เองที่เป็นความเจริญอย่างแท้จริง ไม่ใช่ต้องให้ต่างชาติกระโดดเข้ามายัดเยียดความคิดของเขาที่ใครบางคนชื่นชมว่าเจริญ แล้วเรียกมันว่า Modernization
ขอบคุณคุณสุจิตต์ วงษ์เทศที่มีวิริยะอุตสาหะในการสร้างสรรงานด้านประวัติศาสตร์มากมายให้คนไทยที่ยังไม่รู้ได้เข้าใจรางเหง้าดั้งเดิมของตัวเอง เพื่อที่จะได้ขีดเส้นทางเดินต่อไปในอนาคตได้อย่างมั่นคงด้วยสติและปัญญาของตนเอง
เห็นข้อมูลจากร้านหนังสือออนไลน์ของมติชนว่าหนังสือเล่มล่าสุด คนไทย มาจากไหน? ได้เดินทางออกจากแท่นพิมพ์เป็นที่เรียบร้อยแล้ว พลาดไม่ได้ด้วยประการทั้งปวง
ชื่อ | กรุงสุโขทัย มาจากไหน? | กรุงเทพฯ มาจากไหน? | อักษรไทย มาจากไหน? | คนไทย มาจากไหน? |
ผู้แต่ง | สุจิตต์ วงษ์เทศ | |||
สำนักพิมพ์ | มติชน | |||
ISBN | 974-323-517-5 | 974-323-598-1 | 974-323-547-7 | 974-323-623-6 |
จำนวนหน้า | 192 หน้า | 224 หน้า | 160 หน้า | 279 หน้า |
ราคาจำหน่าย | 240 บาท | 260 บาท | 220 บาท | 290 บาท |
update:
15 กันยายน 2549 เพิ่มข้อมูลหนังสือ คนไทย มาจากไหน?