โหงวหง่วย (วันไหว้ขนมจ่าง) วันที่ 5 เดือน 5

ตรงกับวันนี้ 30 พฤษภาคม 2560

เทศกาลนี้มีตำนานเล่าขานหลายที่มา เรื่องหนึ่งเกี่ยวข้องกับขนมจ่างเล่าว่า

ขุนนางนาม “คุกง้วน” (หรือชีหยวน ในภาษาจีนกลาง) ผู้ซื่อสัตย์ของแคว้นฉู่ และเป็นที่รักของชาวบ้านถูกข้าราชการด้วยกันริษยากลั่นแกล้งจนกษัตริย์ขับเขาออกไปขณะเหตุการณ์บ้านเมืองระส่ำระสาย ในที่สุดเมื่อแคว้นฉู่ถูกแคว้นฉินเข้ายึดครอง คุกง้วนในวัย ๖๒ เกิดความสิ้นหวังจึงกระโดดน้ำปลิดชีพตนเองในแม่น้ำแห่งหนึ่งของมณฑลหูหนานเมื่อวันที่ ๕ เดือน ๕ ปี ๒๖๕ ชาวบ้านรู้ข่าวก็พยายามพายเรือค้นหาแต่ไม่พบศพ จึงนำข้าวโปรยลงแม่น้ำ อธิษฐานอย่าให้สัตว์น้ำกัดกินศพของคุกง้วน นับจากนั้นทุกปีเมื่อถึงวันที่ ๕ เดือน ๕ ชาวบ้านจะนำอาหารไปโปรยลงแม่น้ำเพื่อเซ่นไหว้สิ่งศักดิ์สิทธิ์และระลึกถึงเขา ต่อมามีคนเห็นว่าวิธีโปรยอาหารลงแม่น้ำนั้นกระจัดกระจาย ถูกปลากินหมด จึงนำใบจ่าง (ใบไผ่) ห่อเป็นกรวยทรงสามเหลี่ยมใส่ข้าวเหนียวและกับข้าวลงไป แล้วมัดเชือกให้แน่นก่อนโยนลงน้ำ

นั่นเองจึงเกิดเป็น “ขนมจ่าง” ซึ่งทุกวันนี้มีสองชนิด

แบบ “ชนิดคาว” มีเนื้อสัตว์เป็นส่วนประกอบเรียก “บะจ่าง” (肉糉) คำว่า บะ หมายถึงเนื้อ ข้างในเป็นข้าวเหนียวผัดกับน้ำมัน กระเทียม และพริกไทย จนได้กลิ่นหอมแล้วห่อรวมกับเนื้อสัตว์ เช่น หมู กุนเชียง กุ้งแห้ง กับสารพัดเครื่องเคียง เช่น ถั่วต้ม เห็ดหอม เผือกกวน เม็ดบัว ฯลฯ

ส่วน “ชนิดหวาน” เรียก “กีจ่าง” (梔糉) รูปทรงขนมมีขนาดเล็กกว่าบะจ่าง คำว่า กี คือต้นพุดซ้อน โดยนำใบพุดซ้อนไปเผาไฟ เมื่อได้ขี้เถ้าจึงนำไปละลายน้ำจนได้น้ำด่างสีเหลือง แล้วกรองเอาเฉพาะน้ำด่างไปแช่ข้าวเหนียว ๑ คืนให้น้ำซึมเข้าเนื้อข้าวเหนียวจนนิ่มกำลังดี แล้วห่อด้วยใบจ่างสดก่อนนำไปต้มสุก ข้าวเหนียวจะละลายเป็นขนมกีจ่างสีเหลืองใส นิ่ม ๆ ลื่น ๆ หอมกลิ่นสมุนไพร กินแล้วชุ่มคอ

แรกเห็นหน้าตาจืด ๆ อาจรู้สึกผิดหวังนิดหน่อย เกรงรสไม่หวานอย่างหวัง แต่หากได้ลองกัดคำหนึ่งจะรู้ว่า “หอเจี๊ยะ” เป็นข้าวเหนียวน้อย ๆ ที่รสชาตินุ่มนวล ยิ่งกลมกล่อมขึ้นอีกเมื่อกินแบบจิ้มน้ำตาลทรายแดง

ด้วยขนาดแตกต่างของขนมจ่างทั้งสองชนิด ใบจ่างที่นำมาห่อจึงมีขนาดต่างกันด้วย

เมื่อห่อบะจ่างจะใช้ต้นไผ่สายพันธุ์ที่มีใบใหญ่ และเมื่อห่อกีจ่างจะใช้สายพันธุ์ใบเล็ก

5th day of 5th month

ที่มา
เทศกาลนี้มีตำนนเล่าขานหลายที่มา เรื่องหนึ่งเกี่ยวข้องกับขนมจ่างเล่าว่า
จาก สารคดี ฉบับที่ 383 มกราคม 2560
ฉบับ ขนมเทศกาลจีน
Facebook Fanpage Sarakadee Magazine