เคล็ดลับบางประการจากภูมิปัญญาชาวบ้านอาจช่วยปัดเป่าปัญหาในที่อยู่อาศัย ทำให้คุณภาพชีวิตดีขึ้น โดยเฉพาะชีวิตของคนเมืองทั้งหลาย
เริ่มจากปัญหาอมตะอย่างเรื่องแมลงสาบในบ้านที่มักจะอยู่ตามครัว ตู้ โต๊ะ หรือตามซอกตามมุมต่างๆ ให้ใช้พริกไทยเม็ดไปวางตามจุดต่างๆ ที่แมลงสาบชอบออกมาไต่ยั้วเยี้ย หรือแอบมากินเศษอาหาร โดยวางไว้ที่ละ 4-5 เม็ด แมลงสาบได้กลิ่นก็จะไม่มารบกวน เพราะมันไม่ถูกกับกลิ่นพริกไทยเม็ด ไม่ต้องใช้ยาฆ่าแมลงให้เสียเงินหรือเป็นอันตรายต่อคนในบ้าน พอกลิ่นหมดคอยเปลี่ยนใหม่ แต่ต้องระวังไม่ให้เด็กเล็กคว้าไปกินเล่นเพราะจะเผ็ดลิ้นเอาง่ายๆ
ปัญหายุงและแมลงตัวเล็กๆ ไต่ตอมขณะอ่านหนังสือหรือทำงานตอนกลางคืน ให้ใช้การบูรมาห่อผ้าขาว หรือซื้อแบบสำเร็จรูปก็ได้ นำมาแขวนไว้ใกล้ๆ หลอดไฟหรือโคมไฟ เพื่อความร้อนจากหลอดหรือโคมจะทำให้กลิ่นการบูรค่อยๆ ระเหิดออกมา ยิ่งกลิ่นออกมามากเท่าใด ยุงและแมลงก็จะบินหนี เพราะมันไม่ชอบกลิ่นการบูร ไม่ต้องจุดยากันยุงหรือทายากันยุงให้เหนอะหนะเหนียวตัว
ส่วนปัญหากองทัพหนูท่อนั้นก็ไม่ต้องฆ่าให้บาปกรรม นำน้ำมันระกำ 10 ส่วน ผสมกับน้ำมันสะระแหน่อีก 90 ส่วนให้เข้ากัน ทาตามทางเดินของหนู หรือที่ๆ หนูชอบมา มันจะไม่มาอีกเลยเมื่อได้กลิ่นน้ำมันทั้งสองอย่างนี้ แต่ทางที่ดีควรเก็บเศษอาหารให้หมดและทำบ้านเรือนให้สะอาดดีที่สุด
ยังมีเคล็ดง่ายๆ สำหรับการดำรงชีวิตประจำวัน เช่น การทำครัว ดังนี้
วิธีต้มไข่ให้ปอกเปลือกง่าย ให้ใช้เกลือใส่ลงในน้ำต้มให้มีความเค็มเล็กน้อย กะว่าไข่สุกดีแล้ว นำไข่นั้นแช่ในน้ำเย็นธรรมดา พอไข่ต้มเย็นลงพอควรก็ปอกเปลือกได้ง่ายและล่อนดี ไม่ติดเหมือนปกติ ทำให้ปอกไข่ต้มออกมาได้อย่างสวยงาม น่ากิน
การต้มถั่วดำถั่วแดงให้สุกเร็ว ปกติต้องใช้เวลานานมาก บางคนใช้วิธีแช่น้ำคืนหนึ่งก่อนนำมาต้ม แต่วิธีที่เร็วและสะดวกกว่าคือก่อนนำถั่วไปต้มให้เอาไปคั่วในกระทะให้สุกก่อน เป็นการทำให้สุกครั้งแรกที่ใช้เวลาไม่นาน จากนั้นจึงลงหม้อต้ม โดยกะน้ำให้พอดีกับถั่วที่จะต้ม เมื่อถั่วสุกก็ใส่น้ำตาลลงไป กะให้หวานพอเหมาะหรือตามแต่ชอบ
วิธีเก็บขนมปังให้นานวันโดยไม่ให้เสียหรือหมดอายุเร็ว ให้ห่อเก็บในถุงพลาสติกเหมือนเดิม เพียงแต่ให้นำผ้าขาวสะอาดมาห่อหุ้มอีกชั้นหนึ่ง จากนั้นให้ผูกด้วยเชือกหรือใช้ยางรัดให้แน่น เก็บไว้ในตู้เย็นตามปกติ ไม่ต้องไปเข้าช่องแข็ง ขนมปังจะมีอายุนานขึ้นโดยไม่เสื่อมสภาพ เมื่อเอาไปย่าง ปิ้ง ทาเนยแยม ก็ยังจะอร่อย และคงความนุ่มไว้เหมือนเดิม
วิธีบำรุงสายตาด้วยสมุนไพร ราคาถูก นั่นคือผักบุ้ง นอกจากจะกินผักบุ้งเพื่อให้ได้วิตามินเอที่มีมากมายในตัวผักมาบำรุงสายตาแล้ว สามารถนำผักบุ้งมาล้างให้สะอาด ปั่นให้ละเอียด จากนั้นนำผ้าขาวบางไปต้มฆ่าเชื้อเสียก่อน แล้วผึ่งให้หมาด นำมาปิดไว้ที่หน้า นำผักบุ้งไทยปั่นมาโปะบนผ้าขาวบางบริเวณดวงตาทั้งสองข้าง ปล่อยไว้นานพอควรจนรู้สึกว่ามีน้ำจากผักซึมเข้ามาที่ดวงตาที่หลับอยู่ ค่อยนำออก แล้วหลับตาล้างเปลือกตาให้สะอาด ทำสัปดาห์ละครั้ง จะช่วยสุขภาพดวงตาให้ดีขึ้น ทำให้สายตาแจ่มใสอยู่เสมอ
วิธีหาเสี้ยนหรือหนามที่ตำให้เห็นง่ายๆ ให้ใช้ทิงเจอร์ไอโอดีนแตะบริเวณที่ถูกเสี้ยนหรือหนามตำ สีของทิงเจอร์จะทำให้เห็นรอยเสี้ยนที่หักคาอยู่อย่างเด่นชัด ทำให้เราจัดการเอาออกได้โดยง่าย อีกทั้งทิงเจอร์ยังช่วยรักษาแผลสดได้ดีอีกด้วย
เคล็ดลับสำหรับผู้ที่มีกลิ่นกายแรง นอกจากสารส้มที่มีคำแนะนำให้นำมาถูรักแร้ตอนอาบน้ำเสร็จใหม่ๆ นั้น ยังมีอีกสูตรในการแก้กลิ่นไม่พึงประสงค์คือใบตำลึงกับปูนแดง โดยตำใบตำลึงให้เละที่สุด ผสมกับปูนแดงก้อนเล็กๆ ให้ทั่วกัน นำมาทาที่รักแร้บางๆ ปล่อยให้แห้งเอง
ส่วนคนที่ชอบว่ายน้ำแต่ประสบปัญหาเป็นตะคริว หรืออาการที่กล้ามเนื้อกระตุกเกร็ง ถ้าอยู่ในน้ำหรือกำลังว่ายน้ำอยู่จะอันตรายมาก เพราะทำให้จมน้ำได้ วิธีแก้ไขหรือป้องกันมิให้เกิดเป็นตะคริวขณะว่ายน้ำหรือเล่นน้ำอยู่นั้น ให้ดื่มน้ำเกลือก่อนลงไปว่าย นำเกลือแกงในครัวละลายน้ำให้มีรสเค็มพอประมาณ ดื่มก่อนลงไปดำผุดดำว่าย ตะคริวไม่ถามหา
หากลูกหลานเกิดเป็นบิดซึ่งเป็นโรคทางเดินอาหาร เวลาถ่ายจะปวดมวนท้องไส้มาก โรคนี้ส่วนใหญ่ต้องแก้ด้วยยาแผนปัจจุบัน แต่หากไม่มีให้นำกระชาย 5 ราก เผาไฟบดให้ละเอียดผสมน้ำ แล้วกรองด้วยผ้าขาวบาง ดื่มสัก 2 อึก เว้นอีกสักชั่วโมงก็ดื่มอีก ไม่นานก็จะหาย
ถ้าเกิดอาการไข้ ตัวร้อนแต่ไม่อยากพึ่งพาราเซตามอล ให้ดื่มน้ำมะพร้าว 1 แก้ว แล้วนอนพักผ่อน อาการไข้จะทุเลา แล้วให้ดื่มแทนน้ำไปเรื่อยๆ ไม่นานอาการก็จะหายเป็นปกติ
กรณีมีแผลในปาก วิธีง่ายๆ คือให้กินสับปะรด ตรงไหนเป็นแผลให้อมไว้ตรงนั้นนานๆ ไม่ช้าจะหาย เหมือนหนามหยอกเอาหนามบ่ง
ทั้งหมดนี้เป็นเพียงตัวอย่างที่เป็นเทคนิคหรือความรู้แบบชาวบ้าน แม้ว่าโลกจะก้าวไปไกลเพียงไร แต่ภูมิปัญญาเหล่านี้ยังมีประโยชน์และคุณค่าอยู่เสมอ ข้อสำคัญส่วนใหญ่มีราคาไม่แพงและทำให้พึ่งตนเองได้ด้วย
ที่มา ข้อมูลจากหนังสือ ‘เทคนิคชาวบ้านเพื่อการอยู่ดีกินดี’ ของฐิติญาณ์ นำเสนอโดยกลุ่มประชาสัมพันธ์ สำนักงานคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ