โหมโรง…ต้องโหมแรงแค่ไหน

วันนี้ (๑๑ กุมภาพันธ์) ผมได้รีบร้อนออกจากบ้านเพื่อไปให้ทันชมหนังไทยเรื่อง “โหมโรง” ให้ทันรอบ ๑๑ โมงเช้าที่โรงแถวปิ่นเกล้าใกล้บ้านผม และผมก็ได้รับอรรถรสของดนตรีไทยอย่างที่ไม่เคยรู้สึกมาก่อนในชีวิต ทั้งที่เป็นนักฟังเพลงประเภทจริงจัง (serious music lover) มากว่า ๒๐ ปี นั่นเป็นเพราะไม่เคยมีสื่อใดที่ทำให้ผมซาบซึ้งใจกับมันได้มาก เมื่อเทียบกับเพลงสตริงทั้งไทยและเทศที่มีอยู่ดาษดื่น

ยิ่งในปัจจุบันด้วยแล้วเพลงที่ผมนิยม ตั้งแต่ Jazz, Progressive หรือ Adult Contemporary นั่น หาฟังไม่ได้อีกแล้วจากหน้าปัทม์วิทยุ เพราะมหาอำนาจได้ครอบครองและครอบงำทิศทางการจัดรายการไว้อย่างแข็งแรง และรายการที่จะจัดเพลงที่ผมนิยมนั้นก็คงไม่ทำเงินมากพอที่จะดำรงรายการอยู่จนสามารถทนแรงเสียดทานการแย่งชิงคลื่นที่รุนแรงมากได้แน่

และหนังเรื่อง “โหมโรง” นี้ ได้ทำหน้าที่ที่สำคัญหลายประการที่จะสะกิดความรู้สึกของผู้ที่รักในเสียงดนตรี และรักในรากเหง้าของวัฒนธรรมอันดีงามของคนไทย

Image
เด็กชายศร

ดนตรีที่แท้ต้องเพาะบ่มจิตวิญญาณ

แม้ว่าศรจะครองใจคนในอัมพวาด้วยน้ำเสียงระนาดของตนและอัจฉริยภาพถึงขั้นสามารถปิดตาเล่นระนาดได้ แต่การขาดซ้อม ซึ่งต้องทำให้ทุกคนในวงต้องรอนั้นก็เป็นสิ่งที่ยอมรับไม่ได้ พ่อครูสินรู้ดีว่าศรทนงในความสามารถของตนแต่ก็ต้องตำหนิในเรื่องนี้ และยังลดชั้นให้ไปนั้นแถวสองในตำแหน่งฆ้องวง เพื่อเป็นการลงโทษ

ครั้นการประชันกับวงจากราชบุรีมาถึง วงของพ่อครูก็จำเป็นต้องเรียกศรกลับมาทำหน้าที่เดิมเพื่อให้การประชันนั้นสมศักดิ์ศรี ซึ่งยิ่งเป็นการสร้างชื่อเสียงให้กับนักระนาดเอกหนุ่มฝีมือดีคนนี้

วันหนึ่งพ่อครูพาศรมาเปิดหูเปิดตาในเมืองกรุง จึงทำให้ศรได้พบกับขุนอิน ผู้เลื่องลือในฝีมือระนาด คราวนี้ศรถึงกับคิดเลิกเล่นระนาดไปเลยเชียว นี่เองที่ว่าเหนือฟ้ายังมีฟ้า ศรพยายามที่จะเล่นระนาดให้เทียบเท่าขุนอินเท่าไหร่ก็ไม่ได้

Image
นายศร

คนวิวัฒน์ ดนตรีวิวัฒน์

วันหนึ่งศรเกิดความคิดที่จะสร้างสรรทางดนตรีใหม่ๆ ขึ้น ประจวบกับท่านผู้ใหญ่ในวังได้มาถึงราชบุรีเพื่อเฟ้นหานักระนาดไปเสริมวง ศรจึงได้เล่นระนาดทางใหม่ถวาย ยังความพอพระทัยมาให้ท่านอย่างยิ่ง เพราะท่านทรงเห็นว่าที่มีอยู่ในปัจจุบันนั้นไม่มีอะไรใหม่จนน่าสนใจอีกต่อไป ศรจึงได้เข้าไปถวายการรับใช้ในตำแหน่งระนาดเอก และที่นี่เองเป็นที่ที่ทำให้ศรต้องประชันกับขุนอิน ซึ่งเป็นวงของผู้ใหญ่อีกพระองค์หนึ่งอย่างเป็นทางการจริงๆ ศรถึงกับเสียจริตไปเหมือนกัน ยิ่งเมื่อใกล้วันจริง ถึงกับหนีกลับบ้านที่อัมพวาเลยทีเดียว แต่ด้วยพระกรุณาที่ศรกลับใจได้ พร้อมกับคำยืนยันถึงความสามารถของศรจากครูที่พระองค์ท่านจัดหาไว้ แต่แฝงกายเข้าไปใกล้ชิดกับศรอย่างนักเลงสุรา ที่ว่าศรนั้นเหมาะสมแล้ว เพียงแต่ใจยังไม่พร้อม ยังเป็นหน้าที่ของครูที่จะเพาะบ่มจิตวิญญาณของศรต่อไป

Image
ขุนอิน

“ข้ามาเพื่อเล่นดนตรีจึงไม่สามารถอ่อนข้อให้ได้”

เมื่อวันประชันจริงมาถึงมีการทักทายกันก่อนแข่ง และขุนอินก็เป็นผู้กล่าวข้อความข้างบนนั้น การประชันดำเนินมาถึงขั้นเดี่ยวเพลงเชิดแข่งกัน การบรรเลงเผ็ดร้อนถึงขั้นขุนอินก็ถึงกับแขนแข็งมือแข็งจนไม่สามารถเล่นต่อได้ ทำให้ครั้งนี้ศรมีชัย หลังจากนั้นศรก็เข้าไปกราบขุนอินทร์เพื่อขอขมาที่ได้ล่วงเกินไป ขุนอินก็กล่าวยินดีที่ได้พบกับผู้มีฝีมือ และขอให้ศรสืบทอดดนตรีไทยต่อไปตราบเท่าชีวิต

Image
พ่อครูศร

เพื่อความศิวิไลซ์

ภาพอีกยุดหนึ่งที่ตัดสลับกับความเป็นมาของศรนั้นคือภาพสมัยสงครามโลกครั้งที่สอง พ่อครูศรในวัยบั้นปลายมีลูกศิษย์ลูกหาเป็นผู้สืบทอดวงของตัวเอง อีกทั้งลูกชายของท่านเองก็จบทางด้านดนตรีสากลมาจากญี่ปุ่น ขณะที่ศรกำลังสอนการเล่นระนาดสองราง ลูกชายของท่านก็ได้นำเอาเปียโนเข้ามาในบ้าน แทนที่ท่านจะไม่ยอมรับเครื่องดนตรีตะวันตก ท่านกลับให้ลูกชายเล่นให้ฟัง จากนั้นแล้วท่านก็ลองเล่นระนาดล้อกันไปในเพลงลาวดวงเดือน (ที่ผมรู้จัก) เครื่องดนตรีทั้งสองเข้ากันได้อย่างดี

แต่ยุดนี้เป็นยุดของ “เชื่อผู้นำชาติพ้นภัย” ทางการมีดำริจะจัดระเบียบสิ่งต่างๆ ที่ไม่ทันสมัยเมื่อเทียบกับสิ่งที่มาจากตะวันตกไม่ว่าจะเป็นบรั่นดีหรือแผ่นเสียงเพลงฝรั่ง การละเล่นพื้นบ้านเช่นลิเกและการเล่นดนตรีไทยนั้นต้องถูกควบคุมอย่างเข้มงวด ราวกับไม่ต้องการให้ต่างชาติเห็นและดูถูกเอาได้

มือระนาดเอกของพ่อครูศรเองถึงกับต้องไปเป็นจับกังเพื่อเลี้ยงชีพ แต่ก็เกิดอุบัติเหตุจนทำให้ข้อมือไม่มีแรงดังเดิม เป็นความอดสูของนักดนตรีที่ถูกปิดกั้นจนถึงต้องแขวนคนตาย

ถึงแม้จะถูกเข้มงวด พ่อครูศรก็ยังสร้างสรรงานต่อไปโดยมีการริเริ่มการบันทึกแผนการเล่นระนาดอย่างที่เครื่องดนตรีตะวันตกมีโน๊ตบรรทัดห้าเส้น

ต้นไม้ใหญ่ยืนต้านลมพายุอยู่ได้ก็ด้วยรากแก้ว

สุดท้ายเรื่องก็ดำเนินมาถึงท่านผู้พันตำรวจผู้สนองนโยบายควบคุมการละเล่นโบราณเพื่อความศิวิไลซ์ของประเทศ ต้องเดินทางมาหาพ่อครูศรเพื่อจับเทิดลูกชายของทิวเพื่อนคู่ทุกข์คู่ยากของศรตั้งแต่เล็กผู้มาอาศัยเรียนรู้วิชา ที่ไปทำร้ายนายตำรวจหนุ่มขณะตามจับคณะลิเกที่เทิดร่วมเล่นดนตรีอยู่ เนื่องจากเทิดเองก็แค้นใจที่นายตำรวจหนุ่มผู้ที่เคยตามจับระนาดเอกคู่วงของพ่อครูศร แล้วสั่งห้ามไม่ให้เล่นดนตรีไทยจนต้องไปเป็นจับกังและแขวนคอตายไปก่อนนั้น

ขณะที่กำลังตรวจค้นบ้านของพ่อครูศรอยู่นั้น บทสนทนาถึงนโยบายที่จะนำชาติไปสู่ความศิวิไลซ์ก็เริ่มขึ้น พ่อครูศรได้ทิ้งคำถามว่า ต้นไม้ใหญ่จะยืนต้านลมพายุอยู่ได้อย่างไร หากไร้รากแก้วเสียแล้ว ขณะที่ดนตรีไทยเองก็เป็นรากแก้วรากหนึ่งของวัฒนธรรมไทย แต่ท่านผู้พันตำรวจก็ยืนยันว่ากฏก็ต้องเป็นกฏ

เมื่อค้นรอบบ้านแล้วไม่พบ ท่านผู้พันตำรวจก็ไม่ประสงค์จะให้มีการค้นถึงชั้นสองของบ้านในยามวิกาลเช่นนี้จืงขอตัวกลับ ขณะที่เดินออกจากบ้านเพื่อมาขึ้นรถนั้น พ่อครูศรก็บรรเลงระนาดเพื่อส่งท้ายท่านนายพันตำรวจ ชาวบ้านที่ผ่านไปมาก็หยุดชื่นชมดื่มด่ำกับเสียงระนาดที่พ่อครูบรรจงเล่นเอง จนทำให้กลับไปอย่างเข้าใจ และไม่จับเทิด ถึงแม้จะพบอยู่ที่ประตูบ้านพ่อครูอยู่นั้นเอง

การบรรเลงระนาดครั้งนั้นเป็นครั้งสุดท้ายของพ่อครูศร