โหมโรง…ต้องโหมแรงแค่ไหน

ประเด็นต่างๆ ที่หนังบอกออกมาอย่างมีศิลปะนั้นประทับใจผมยิ่งนัก

๑. เหนือฟ้ายังมีฟ้า ผู้มีความสามารถอย่ายิ่งทะนงว่าตัวเองวิเศษกว่าใครๆ

ที่สำคัญคนเก่งนั้นมีอยู่ทั่วไป การยึดมั่นตัวตนว่าเหนือผู้อื่นนั้น ยิ่งนำพาความเสื่อมมาให้ การเรียนรู้จากผู้ที่รู้มากกว่า แม้อาวุโสน้อยกว่าก็ไม่เป็นการเสียหายอะไร

๒. นักดนตรีที่แท้ บรรเลงดนตรีจริงจังเต็มที่ไม่ต้องอ่อนข้อ

เพราะดนตรีที่เขาบรรเลงนั้นเพื่อดนตรีเอง ไม่ใช่เพื่อเอาใจใคร ดนตรีที่แท้ ต้องสร้างความดื่มด่ำให้จิตญาณ ไม่ใช่รับใช้นายทุน นักดนตรีที่แท้ ต้องมีแนวทางของตัวเอง ไม่ใช่เล่นในแบบที่เห็นเขาบรรเลงแล้วได้เงินดี จึงไม่คิดพัฒนารูปแบบของตน เพราะเกรงว่าผู้คนจะไม่ยอมรับและขายไม่ได้ เพลงในสมัยนี้เป็นแบบร้อยเนื้อทำนองเดียว ทางเดินคอร์ดก็เหมือนกันหมด ไม่มีอะไรใหม่มาเป็น ๑๐ ปีแล้ว หลังจากเพลงแบบเฉลียง, Grand Ex, ร็อคเคสตร้า, The Innocent หรือ The Olarn Project หายไป

ทั้งนี้นายทุนก็มีส่วนสำคัญเพราะเห็นแก่ผลประโยชน์เป็นสำคัญ ผมเบื่อคำให้สัมภาษณ์ที่ว่าเดี๋ยวนี้วงการเพลงบ้านเราพัฒนาไปมาก ผมเห็นด้วยเพียงแค่เครื่องไม้เครื่องมือเท่านั้นที่พัฒนา แต่ตัวดนตรีเองกลับถอยหลัง

อย่างนี้ผมกลับไปค้นหาเพลงไทยเดิมมาฟังจะดีเสียกว่า จะได้เห็นถึงเอกลักษณ์ของพ่อครูแต่ละท่าน ไม่ว่าจะเห็นแนวทางของเพลง วิธีการเล่นเครื่องดนตรี หรือแม้แต่เสียงเฉพาะตัวของท่านเหล่านั้น

นายทุนค่ายเพลงนี่แหละครับที่เป็นต้นเหตุของปัญหาสังคมในวัยรุ่น เพียงเพราะการตลาดที่ไม่เคยรับผิดชอบต่อสังคม เห็นวัยรุ่นเพียงมิติของผู้มีกำลังซื้อมหาศาล แล้ววัยรุ่นจะมีกำลังซื้อได้อย่างไร ก็ต้องเอาเงินจากพ่อแม่ที่งานหามรุ่งหามค่ำนั้นแหละ และยิ่งต้องหามากขึ้นเพราะความต้องการสิ่งที่นายทุนเร้านั้นมากขึ้นทุกวัน การจัดกิจกรรมเพื่อให้วัยรุ่นมารวมกันก็เป็นไปเพื่อการดูดเงินจากกระเป๋าพ่อแม่ผ่านทางกระเป๋าวัยรุ่นเท่านั้น การคืนกำไรสู่สังคมโดยการจัดฟรีคอนเสิร์ต เป็นเพียงการสร้างภาพ น่าเศร้าใจที่ผู้คนทั่วไปหลงไปกับภาพนั้นๆ ด้วย ให้นักร้องออกมาพูดเชิญชวนในเรื่องต่างๆ นั่นมันผิดอย่างแรง ทำไมคุณในฐานะนักร้องนักดนตรีไม่เชิญชวนผ่านทางเพลงของพวกคุณเล่า ได้ยินแต่เพลงรักอกหักซ้ำซาก ทำไมไม่สร้างสรรเพลงที่ชวนให้คนสมัยนี้รักนวลสงวนตัว หรือรักพ่อแม่ รับผิดชอบหน้าที่ที่ตัวเองมีคือการเรียนหนังสือให้ดีที่สุด ไม่ใช่เห่อมือถือ กินชาเขียว ใส่สายเดี่ยว แล้วก็หาสถานที่ทำแห้ง

อยากเห็นดนตรีที่เป็นดนตรีจากจิตวิญญาณครับ อยากเห็นนายทุนเดินตามท่านผู้ใหญ่ในวัง ที่เฟ้นหานักดนตรีที่แท้ นำมาชุบเลี้ยงส่งเสริมจนเติบใหญ่ และสร้างคุณูประการแก่วงการดนตรีต่อไป

๓. ศรเข้าไปกราบขอขมาขุนอิน และขุนอินก็ยอมรับศร

นี้เป็นจิญวิญญาณของผู้ที่มีศิลปะในหัวใจ นั้นคือผู้สืบทอดได้เกิดขึ้นอีกคนหนึ่งแล้ว

๔. ความศิวิไลซ์กับรากแก้วของสังคม

เรื่องนี้ชัดเจนมากว่า แต่เดิมมานโยบายของผู้นำทำให้สองเรื่องนี้เป็นเรื่องที่ขัดแย้งกัน ผู้ใหญ่นั่นเองที่เริ่มเดินตามต่างชาติ และทิ้งให้รากฐานวัฒนธรรมอันดีงามของไทยค่อยๆ อ่อนแอลง จนหาแก่นแท้ไม่ได้ในปัจจุบัน วัยรุ่นสมัยใหม่ไม่รู้จักคนไทย เขาเป็นคนในโลกยุคโลกาภิวัฒน์ที่กลวงโบ๋ ไม่มีทางที่จะแข่งขันกับผู้คนจากที่อื่นได้ เพราะจะปลิวไปตามกระแสของโลก ไม่มีหลักให้ยึดเหนี่ยวในการสร้างชาติไทย

ขอยืนยันว่าการสร้างชาติต้องสร้างทุกวันจนกว่าจะแข็งแรง ไม่ใช่อย่างในปัจจุบันที่อ่อนแอมากจนไม่รู้จะทำอะไรก่อนดี แต่ละคนก็มีเสรีภาพจนไม่ต้องคำนึงถึงหน้าที่ จึงเป็นเรื่องยากที่คิดจะทำอะไรสักอย่าง เพราะจะมีคนอีกกลุ่มหนึ่งคัดค้านเสมอ

ส่วนคุณูประการด้านดนตรีไทยของหลวงประดิษฐ์ไพเราะ (ศร ศิลปบรรเลง) นั่นมีให้เห็นอยู่ในหนังตั้งแต่การสร้างสรรทางระนาดใหม่ๆ การตีระนาดสองราง ไปจนถึงการจัดทำโน๊ตดนตรีไทย ส่วนรายละเอียดมากกว่านี้สมควรแก่การค้นคว้าหาความรู้เพิ่มเติมยิ่งนัก

ผมไม่ทราบว่าต้อง “โหมโรง” ให้แรงมากแค่ไหนจึงจะรื้อฟื้นรากเหง้าของคนไทยกลับมาให้เห็นกันอีกในยุดสมัยของผม


ขอเชิญเข้าชม website อย่างเป็นทางการของภาพยนตร์เรื่อง โหมโรง – The Overture

และท่านสามารถอ่านบทความความคิดเห็นเพิ่มเติมของผมได้ที่นี่ครับ > ทัศนะต่องานสร้าง…โหมโรง