ทิมโมธี คุก บุรุษหมายเลข 2 ของแอ็ปเปิ้ล คอมพิวเตอร์

หากคุยกันถึงแอ็ปเปิ้ล คอมพิวเตอร์ก็ไม่อาจเลี่ยงที่จะคุยถึงสตีฟ จ็อบส์ผู้ทรงพลังได้ แต่บุคคลที่อยู่เบื้องหลังความสำเร็จของแอ็ปเปิ้ลเช่นกันอย่างทิมโมธี คุก ไม่ค่อยเป็นที่รู้จักกันนัก หากไม่มีชายผู้นี้เราอาจจะไม่ได้เห็นแอ็ปเปิ้ลแบบที่เป็นอยู่ในวันนี้ก็ว่าได้

ทิมโมธี คุก บุรุษหมายเลข 2 ของแอ็ปเปิ้ล คอมพิวเตอร์
โดย นิค วิงฟิลด์

Timothy D. Cook

Timothy D. Cook – ทิมโมธี ดี คุก

เมื่อครั้งที่สตีฟ จ็อบส์ ประธานผู้บริหารของแอ็ปเปิ้ล คอมพิวเตอร์ เชื้อเชิญ ทิมโมธี ดี คุก (Timothy D. Cook) เข้ามาร่วมงานในช่วงต้นปีค.ศ. 1998 เขาได้รับมอบหมายให้เข้ามาช่วยสร้างความแข็งแกร่งให้กับหน่วยผลิตที่ค่อนข้างย่ำแย่ของสัญลักษณ์แห่งซิลิคอน วัลเลย์ที่กำลังตกต่ำ

แปดปีให้หลัง แอ็ปเปิ้ลฟื้นกลับขึ้นมาแข็งแกร่งและเขาได้รับตำแหน่งประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายปฏิบัติการ (chief operating officer) ใหญ่เป็นลำดับที่สองของบริษัทแต่ผู้คนก็ยังไม่ค่อยรู้จักเขาเท่าไหร่นัก ช่างตรงข้ามกับจ็อบส์ราวฟ้ากับเหว ขณะที่จ็อบส์ได้รับความชื่นชมอย่างกว้างขวางด้วยการสร้างจุดเด่นให้กับสายผลิตภัณฑ์ของแอ็ปเปิ้ลอีกครั้ง เขามุ่งมั่นอยู่เบื้องหลังอย่างเงียบๆ เพื่อสร้างความมั่นใจว่าทุกอย่างจะเป็นไปตามแผน

“เขาเป็นอีกเรื่องหนึ่งเบื้องหลังเรื่องราวทั้งหมด” ไมค์ โฮเมอร์ (Mike Homer) อดีตผู้บริหารของแอ็ปเปิ้ลและผู้คร่ำหวอดในซิลิคอน วัลเลย์กล่าวไว้อย่างน่าฟัง

เมื่อสองปีก่อน ขณะที่จ็อบส์กำลังฟื้นตัวจากการผ่าตัดรักษามะเร็งในตับอ่อน เขาฝากงานที่ต้องติดตามประจำวันไว้ในมือของทิม คุก ทุกๆ คนในแอ็ปเปิ้ลที่รู้จักจ็อบส์พูดเป็นเสียงเดียวกับว่าซีอีโอ (CEO – Chief Executive Officer) ของพวกเขามีสุขภาพดีและจะยังคงเป็นผู้นำของบริษัทตลอดไป

แม้ว่าทิม คุกจะไม่ค่อยเป็นที่รู้จักทั่วไป แต่ความทุ่มเทของเขาต่อแอ็ปเปิ้ลนั่นเองที่ทำให้ผู้คนในวงการเทคโนโลยีเข้าใจได้ว่าเขาเป็นผู้อยู่เบื้องหลังงานประจำต่างๆ ของจ็อบส์ ผู้คนที่รู้จักเขาเล่าว่า ชายวัย 45 ปีคนนี้ไม่มีแผนจะย้ายไปทำงานที่อื่นในอนาคตอันใกล้นี้แน่นอน และเล่าต่อว่าเขาไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการแจกหุ้นของบริษัทก่อนเวลาอันควร ขณะที่แอ็ปเปิ้ลได้แจกหุ้นให้กับพนักงานส่วนหนึ่งในช่วงปีค.ศ. 1999 ถึง 2002 ซึ่งเป็นช่วงที่ราคาขายออกค่อนข้างดีมาก ก่อนที่จะมีการอนุมัติให้ทำได้

เมื่อช่วงต้นเดือนที่ผ่านมานี้ แอ็ปเปิ้ลแถลงผลการตรวจสอบการแจกหุ้นครั้งนั้นว่าขณะที่เข้าไปจัดการกับความผิดพลาดครั้งนั้นก็ได้พบหลักฐานว่ามีอดีตเจ้าหน้าที่ของแอ็ปเปิ้ลเอง 2 คนทำผิดระเบียบ อย่างไรก็ดีทางบริษัทไม่ได้ระบุว่ามีผู้บริหารคนไหนได้รับหุ้นเจ้าปัญหาในช่วงเวลานั้น จึงยังคงสงสัยได้เหมือนกันว่าทิม คุกอาจจะได้รับแจกหุ้นก่อนกำหนดในครั้งนั้นด้วย

โฆษกของแอ็ปเปิ้ลเองก็ปฏิเสธที่จะพูดถึงเรื่องนี้ รวมถึงปฏิเสธที่จะเตรียมการสัมภาษณ์ทิม คุกให้ด้วย

ทิม คุกก้าวหน้าในแอ็ปเปิ้ลอย่างต่อเนื่อง เขาเป็นคนอลาบามา (Alabama) เรียนจบปริญญาตรีด้านวิศวอุตสาหการจากมหาวิทยาลัยออเบิร์น (Auburn University) จากนั้นก็เข้าเรียนปริญญาโทด้านบริหารธุรกิจ (master’s in business administration หรือ MBA) จากมหาวิทยาลัยดุก (Duke University) ก่อนนี้เคยเข้าทำงานที่คอมแพค คอมพิวเตอร์ คอร์ป (Compaq Computer Corp.), ไอบีเอ็ม คอร์ป (International Business Machines Corp.) และตัวแทนจำหน่ายคอมพิวเตอร์ชื่ออินเทลลิเจนท์ อิเล็กทรอนิกส์ (Intelligent Electronics) เขาเข้าทำงานที่แอ็ปเปิ้ลในตำแหน่งรองประธานอาวุโสฝ่ายการผลิต (senior vice president of operations) มีหน้าที่ดูแลฝ่ายผลิตคอมพิวเตอร์ทั้งหมดของบริษัท จากนั้นจ็อบส์ก็เลื่อนให้เขารับผิดชอบแผนกการขายทั่วโลกของแอ็ปเปิ้ลไปพร้อมๆ กับแผนกคอมพิวเตอร์แมคอินทอช ทิม คุกได้เลื่อนขึ้นเป็นประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายปฏิบัติการ (COO) เมื่อเดือนตุลาคมปีที่แล้ว (เริ่มปีงบประมาณ 2006 ของแอ็ปเปิ้ล -ผู้แปล) รับตำแหน่งเป็นหัวหน้าของผู้ช่วยสตีฟ จ็อบส์ทั้งมวล (COO เป็นตำแหน่งที่รองจาก CEO เท่านั้น -ผู้แปล)

หลายปีก่อนที่จ็อบส์และทิม คุกจะเข้ามาทำงานที่นี่ แอ็ปเปิ้ลย่ำแย่ที่สุด บริษัทต้องขาดทุนถึง 1 พันล้านเหรียญสหรัฐในช่วงปีงบประมาณ 1997 และเป็นที่รู้กันว่าการผลิตของบริษัทไม่มีประสิทธิภาพเลย ปริมาณสินค้าคงคลังก็ล้น เป็นเหตุให้ต้องรายงานตัวเงินของเครื่องคอมพิวเตอร์และอะหลั่ยทั้งหมดที่ยังขายไม่ออก ตัวอย่างหนึ่งของการผลิตที่ด้อยประสิทธิภาพคือ แอ็ปเปิ้ลประกอบเครื่องโนตบุคคอมพิวเตอร์ในโรงงานที่ประเทศไอร์แลนด์ (Ireland) โดยนำเขาชิ้นส่วนจากโรงงานในเอเซีย จากนั้นก็ส่งเครื่องสำเร็จรูปกลับไปขายในเอเซียอีก

ทิม คุกเข้าไปช่วยแก้ไขปัญหานี้ เขาผลักดันให้ผู้ผลิตชิ้นส่วนป้อนแอ็ปเปิ้ลย้ายมาอยู่ข้างๆ โรงงานที่ประกอบของผลิตภัณฑ์ของแอ็ปเปิ้ล จากนั้นแทนที่จะให้แอ็ปเปิ้ลเป็นผู้จัดเก็บชิ้นส่วนก่อนผลิตเองก็ให้ผู้ผลิตชิ้นส่วนนั้นจัดเก็บชิ้นส่วนเหล่านั้นแทน ทำให้เมื่อสิ้นสุดปีงบประมาณ 1998 รายงาน ณ วันที่ 25 กันยายนโดยแอ็ปเปิ้ลได้ความว่าสินค้าคงคลังเหลือเพียง 6 วัน เป็นมูลค่า 78 ล้านเหรียญสหรัฐ ลดลงจาก 31 วัน หรือมูลค่า 437 ล้านเหรียญสหรัฐในปีก่อนหน้า ทิม คุกได้ช่วยให้สินค้าคงคลังลดลงอย่างต่อเนื่อง จนรายงานเมื่อปลายปีงบประมาณ 1999 เหลือเพียง 2 วัน คิดเป็นมูลค่าเพียง 20 ล้านเหรียญสหรัฐ (ตามหลักการบริหารสมัยใหม่เรื่อง Supply Chain Management -ผู้แปล)

ด้วยบุคลิกที่แตกต่างระหว่างทิม คุกและสตีฟ จ็อบส์ นี่เองที่เป็นตัวช่วยให้การร่วมงานกันเป็นไปอย่างดีเยี่ยม ผู้ที่คุ้นเคยกับทั้งสองบอกกล่าว ขณะที่จ็อบส์เป็นที่รู้กันดีว่าอารมณ์ร้อนและปากจัด ทิม คุกกลับเป็นคนที่สุภาพอ่อนโยนในแบบของสุภาพบุรุษจากทางใต้ ผู้คนที่ทำงานด้วยกับเขาอธิบายว่าการพูดช้าๆ บวกกับบุคลิกที่เคร่งขรึมของเขานี่แหละมีพลังยิ่งนักในบรรยากาศการทำงานที่รวดเร็วและการตัดสินใจที่เฉียบขาดอย่างที่แอ็ปเปิ้ลนี้

ทิม คุกค่อนข้างมีความสุขกับการได้อยู่หลังฉากมากกว่าเมื่อเทียบกับคนหน้าฉากอย่างสตีฟ จ็อบส์ “ผมคิดว่าเขาเป็นคนที่ฉลาดเป็นกรดและเขาเป็นคนที่ไม่มีอัตตาใหญ่โตอะไร ซึ่งนั่นเป็นสิ่งที่ช่วยแอ็ปเปิ้ลได้อย่างมาก” จอห์น แลนด์ฟอร์ซ (John Landforce) อดีตผู้บริหารของเครือข่ายร้านคอมพิวเตอร์ ผู้เคยร่วมงานกับทิม คุกอยู่หลายปีในฐานะกรรมการของคณะที่ปรึกษาของแอ็ปเปิ้ล

แต่ก็มีเสียงวิจารณ์ถึงความยึดมั่นในหลักการของทิม คุก โดยเฉพาะในเรื่องความเป็นผู้นำด้านการขายของเขา ขณะที่เครื่องเล่นเพลงพกพาไอพ็อดของแอ็ปเปิ้ลเป็นที่นิยมอย่างมากในอเมริกา มันไม่เป็นอย่างนั้นในเอเซีย แอ็ปเปิ้ลขณะนั้นพูดได้เพียงว่าบริษัทต้องทำงานให้หนักขึ้นเพื่อเพิ่มความนิยมให้ไอพ็อดในจีนและเกาหลี

ทิม คุกเป็นคนที่คิดวิเคราะห์และตัดสินใจด้วยข้อมูล อีกทั้งยังมีความจำเป็นเยี่ยม เยี่ยมขนาดที่แทบจะไม่ต้องเรียกหาบันทึกเก่าๆ เลยเมื่อต้องการข้อมูลเล็กๆ น้อยๆ จากการประชุมครั้งก่อน จอห์น คอนเนอส์ (John Conners) ผู้เป็นหนึ่งในคณะกรรมการอำนวยการของผู้ผลิตเครื่องกีฬา ไนกี้ คอร์ป (Nike Corp.) เช่นเดียวกับตัวทิม คุกเอง เล่าให้ฟังว่าผู้บริหารของแอ็ปเปิ้ลคนนี้เคยให้คำแนะนำเมื่อครั้งการประชุมคณะกรรมการเกี่ยวกับการไปเยี่ยมกิจการร้านเอาท์เล็ทของไนกี้ในเมืองอลาบามาว่ายังขาดสิ่งดึงดูดที่จะทำให้รู้สึกว่าเมื่อแวะเข้ามาดูสินค้าแล้วจะซื้อติดมือกลับไปเสมอ

“ช่างเป็นคำแนะนำที่ตรงประเด็น รอบคอบและปฏิบัติได้ในทันทีจากมุมมองของตัวลูกค้าเอง” คอนเนอส์ ผู้เคยเป็นประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายการเงิน (chief financial officer) ของไมโครซอฟต์ คอร์ปและปัจจุบันเป็นนักลงทุนในธุรกิจใหม่ๆ (venture capitalist) ในย่านซีแอตเติ้ล (Seattle) เล่าต่อ

ผู้บริหารในบริษัทคู่ค้าของแอ็ปเปิ้ลที่คุ้นเคยกับทิม คุกมายาวนานคนหนึ่งเล่าให้ฟังว่าเมื่อครั้งที่มีการเจรจาในอดีต เมื่อผู้คนเริ่มมีอารมณ์ ทิม คุกกลับนิ่งแต่จ้องเขม็งไปที่คู่เจรจาตรงหน้า เขาระลึกถึงเหตุการณ์วันนั้นว่าหลังจากการประชุมครั้งนั้นเขาเพิ่งทราบว่า ทิม คุกได้ตำหนิคู่เจรจาผู้หนึ่งอย่างตรงไปตรงมาในระหว่างการประชุม “ชายผู้นั้นก็รู้สึกตัวเหมือนกันว่าถูกตำหนิ แต่ทิม คุกไม่ได้ทำให้เขาเสียหน้าต่อหน้าผู้คนแต่อย่างใด” เขาเล่าต่อ

หลายครั้งที่ทิม คุกสร้างเสียงวิจารณ์ต่อเขาเองได้อย่างมากโดยการหยอดมุขตลกให้จนแทบตกเก้าอี้ เช่นในการประชุมประจำปีของหน่วยขายของแอ็ปเปิ้ลครั้งหนึ่ง เขาเรียกเสียงฮือฮาด้วยการแจกไม้ปั๊มส้วมให้กับกลุ่มที่ทำงานได้ต่ำกว่าประมาณการที่สุด

เป็นที่ทราบกันดีว่า ทิม คุก ให้เวลากับแอ็ปเปิ้ลเป็นอย่างมาก ถึงกระนั้นชายโสดผู้นี้ยังอุทิศเวลาหลังจากงานให้กับกีฬาและการออกกำลังกาย เขาเป็นนักปั่นจักรยานตัวยง เห็นได้จากที่เขาเคยยกเอาคำพูดของแลนซ์ อาร์มสตรอง (Lance Armstrong – แชมป์ Tour de France หลายสมัย -ผู้แปล) ขึ้นมาระหว่างการประชุมของแอ็ปเปิ้ล เขามักจะไปถึงโรงยิมในเวลาตีห้า มีคนที่รู้จักเขาเล่าว่าทั้งที่ห้องทำงานและที่บ้านของทิม คุก จะถูกประดับประดาไปด้วยของที่ระลึกจากทีมออเบิร์น ไทเกอร์ส (Auburn Tigers) ทีมอเมริกันฟุตบอลประจำมหาวิทยาลัยที่เขาจบมานั่นเอง

แม้ว่าเขาเองก็เสี่ยงที่จะเข้าร่วมงานกับแอ็ปเปิ้ล แต่ผลตอบแทนก็คุ้มค่า ตั้งแต่ที่ได้เข้ามาทำงาน ทิม คุกได้ขายหุ้นของแอ็ปเปิ้ลที่มีอยู่ได้เป็นเงินมากกว่า 113 ล้านเหรียญสหรัฐ ตามข้อมูลจากธอมสัน ไฟแนนเชียล (Thomson Financial) จนถึงเดือนเมษายนปีนี้ เขายังมีหุ้นในมือมูลค่าอยู่ราว 23 ล้านเหรียญสหรัฐ และปีที่แล้วเขาได้รับเงินเดือนและเงินโบนัสทั้งสิ้น 1 ล้าน 2 แสนเหรียญสหรัฐ ทำให้เขาเป็นผู้ที่ได้รับผลตอบแทนสูงที่สุดในบรรดาผู้บริหารของแอ็ปเปิ้ลในปีค.ศ. 2005 ข้อมูลจากรายงานประจำปีของแอ็ปเปิ้ลเอง

ในอีกแง่มุมหนึ่ง ทิม คุกเองก็เป็นคนที่เคร่งครัดในวินัยการเงินมากหรือจะเรียกว่าโชคร้ายดี ตั้งแต่ที่เขาย้ายมาอยู่ที่แคลิฟอร์เนียเพื่อร่วมงานกับแอ็ปเปิ้ล เขาได้เช่าบ้านที่ทันสมัยที่สุดในย่านพาโล อัลโต (Pato Alto) ในราคาที่สูงมากสำหรับซิลิคอน วัลเลย์และหลังจากนั้นราคาก็สูงขึ้นอีก ซูซาน ไบลี่ย์ (Susan Bailey) ผู้บริหารอาวุโสในอาวายา อิงค์ (Avaya Inc.) บริษัทด้านระบบเครือข่าย เพื่อนของทิม คุกที่เคยร่วมงานกันมาด้วยเล่าให้ฟังว่า “ฉันเคยไปทานอาหารค่ำกับเขาที่พาโล อัลโตสักประมาณปีหนึ่งได้แล้ว เขาพูดกับฉันว่า ‘ผมไม่อยากจะเชื่อเลยว่าผมไม่ได้ซื้อบ้านที่ผมอยู่หลังนี้’ ”


ที่มา Apple’s No. 2 Has Low Profile, High Impact By NICK WINGFIELD จาก The Wall Street Journal online ฉบับวันที่ 16 ตุลาคม 2549

ข้อมูลเพิ่มเติม

รวมรวมคำศัพท์ที่ได้จากบความนี้

update:
1 พฤศจิกายน 2549 – เพิ่ม link ของ Lance Armstrong Foundation