เปนชู้กับผี ผิดไหม ใครทำ

ผมเลือกที่จะดูหนังไทยแท้ๆ เรื่องนี้เพราะผู้กำกับภาพยนตร์เท่านั้นจริงๆ หนังเรื่องที่ 3 ของวิศิษฏ์ ศาสนเที่ยง เจ้าของรางวัลศิลปาธรประจำปี 2549 ไม่ได้แสดงถึงความอ่อนหัดในวงการภาพยนตร์แต่อย่างใด จำนวนของผลงานไม่สามารถการันตีคุณภาพของผู้กำกับได้ แม้ผมจะยังไม่ได้ดูเรื่อง ‘หมานคร (2547)’ แต่ที่ผ่านมาทั้งฝีมือการเขียนบทสำหรับเรื่อง ‘2499 อันธพาลครองเมือง (2540)’ และ ‘นางนาก (2542)’ หนังร้อยล้านเรื่องแรกของไทย กับผลงานกำกับเรื่องแรกของเขาเอง ‘ฟ้าทะลายโจร (2543)’ ก็ทำให้ชื่อของวิศิษฏ์ ศาสนเที่ยง อยู่ในสารบบหนังไทยในสมองของผมไปตลอดกาล

ผมปิดตัวเองไม่รับรู้เรื่องราวอันใดเกี่ยวกับหนังเรื่องนี้ก่อนที่จะได้ไปชมในวันเข้าฉายอย่างเป็นทางการวันแรกวันนี้เพราะผมเองก็ง่วนอยู่กับการเตรียมสอบไล่ภาค 1/2549 ของมสธ. ที่เพิ่งเสร็จสิ้นไป จริงแล้วเป็นการดีเสียอีกเพราะผมจะได้เข้าไปรับรู้เรื่องราวของหนังเรื่องนี้ได้แบบสดๆ จริงๆ

Image

เปนชู้กับผี

เรื่องราวของนวลจัน (ศิรพันธ์ วัฒนจินดา) หญิงชาวบ้านจากต่างจังหวัด มุ่งหน้าเข้ามาพระนครเพื่อตามหาพ่อของลูกในท้องที่ใกล้คลอด หลังจากที่สัญญากันอย่างดีว่าจะจากไปเพียงชั่วเวลาสั้นๆ เพื่อสะสางภารกิจบางประการ การเข้าพักที่บ้านของคุณรัญจวน (สุพรทิพย์ ช่วงรังษี) ผู้ดีพระนครผู้เศร้าโศกกับการสูญเสียชายผู้เป็นที่รักไป เป็นประเด็นที่ทิ้งไว้ให้ค้นหาคำตอบตั้งแต่เริ่มต้นว่าทำไมต้องเป็นที่นี่ บ้านที่รวบรวมเอาเรื่องราวทั้งหมดของหนังเรื่องนี้เอาไว้

Image

นวลจัน

ด้วยความที่เป็นหญิงสมัยใหม่ จึงไม่เชื่อเรื่องผีวิญญาณอะไรนั่น แต่นวลจันก็ต้องเปลี่ยนความเชื่อของตัวเองด้วยเหตุการณ์ต่างๆ ที่ค่อยๆ ผ่านเข้ามาในชีวิตประจำวันของเธอในบ้านหลังนี้ และเรื่องราวทั้งหลายนั้นก็ค่อยๆ ประติดประต่อเข้าด้วยกันเพื่อให้ความตั้งใจที่จะตามหาชายคนรักของเธอนั้นสำเร็จเสร็จสิ้น ก็ที่บ้านหลังนี้เช่นกัน

Image

คุณรัญจวน

ตัวเชื่อมระหว่างนวลจันกับคุณรัญจวนก็คือคุณสมจิต (ทัศวรรณ เสนีย์วงศ์) แม่บ้านที่ดูไปแล้วน่ากลัวกว่าคุณรัญจวนเสียอีก

Image

คุณสมจิต

เมื่อเรื่องราวมากมายได้ดำเนินไปจนสุกงอมแล้ว คำตอบของคำถามทั้งหมดก็คลี่คลายออกมา แต่เรื่องราวจะไม่จบลงเพียงเท่านี้ มันจะดำเนินซ้ำแล้วซ้ำเล่าต่อไปจนกว่านวลจันจะยอมความจริง

ทัศนวิจารณ์ในแต่ละแง่มุม

ผมขอยกที่จะไม่วิจารณ์บรรยากาศในการเข้าชมหนังเรื่องนี้ในโรง ไม่ว่าจะเป็นเรื่องที่จะต้องนั่งรอไม่ต่ำกว่าครึ่งชั่วโมงดูโฆษณามากมายกว่าจะได้ดูหนัง หรือจะเป็นมารยาทที่ต้องไม่ส่งเสียงรบกวนผู้อื่นในโรงภาพยนตร์ด้วยไม่ใช่แค่ปิดเครื่องมือสื่อสารตามคำเตือนที่ขึ้นไว้บนจอ เพราะเรื่องราวเหล่านั้นรังแต่จะสร้างความหม่นหมองในอารมณ์ไปเสียเปล่า

ผมไม่รู้จักคนเขียนบทท่านนี้ และนี่เป็นเรื่องแรกที่วิศิษฏ์ ศาสนเที่ยง กำกับหนังที่เขาไม่ได้เขียนบทเอง บททั้งหมดใช้ภาษาไทยย้อนยุคกลับไปสมัยที่ผมยังไม่เกิดเสียกระมัง แต่ผมก็นิยมชมชอบเป็นอย่างยิ่งเพราะชัดเจนทั้งถ้อยคำและความหมาย

เนื้อเรื่องดำเนินอย่างค่อยเป็นค่อยไป โดยมีการย้อนอดีต (flashback) เพื่ออธิบายเหตุผลของเหตุการณ์ต่างๆ แม้หนังจะใช้สูตรสำเร็จของการกระตุกขวัญคนดูด้วยการสร้างสถานการณ์บวกเสียงประกอบที่กระชากความรู้สึก (surge) ในช่วงหนึ่งชั่วโมงแรกผมก็ออกอาการง่วงเหงาหาวนอนอยู่เป็นระยะ เพราะเข้าใจสูตรเหล่านี้ดีทั้งที่ก็ตกใจร่วมไปกับหนังอยู่เหมือนกัน มุขตลกที่หยอดลงไปเป็นระยะนั้นเป็นตลกสถานการณ์ไม่ใช่ตลกสังขาร เพราะนี่เป็นหนังผี ความรู้สึกในช่วงแรกทำให้แทบจะตัดสินใจไม่เขียนแนะนำหนังเรื่องนี้เสียเลยนี่กระไร

หนังปูเรื่องไปอยู่นานเป็นชั่วโมงกว่า จนต้องใช้สูตรสำเร็จอีกเหมือนกันโดยการรวบรัดเฉลยเรื่องราวทั้งหมดออกมาเมื่อใกล้จะจบ แต่หนังเรื่องนี้พิเศษกว่าตรงนี้เรื่องที่เฉลยออกมานั่นมันมีมากกว่าหนึ่งเรื่อง ก็ทำได้ดีน่าสนใจ ทำให้นำไปคิดต่อได้อีกเมื่อเดินออกจากโรงมาแล้ว

การใช้มุมกล้องเพื่อซ่อนอะไรไว้ให้ค้นหาต่อไปทำได้ดีพอๆ กับการใช้มุมกล้องในการเล่าเรื่อง รวมไปถึงการตัดต่อที่ราบรื่นไม่มีสะดุด

การแสดงทั้งนวลจันและคุณรัญจวนก็แสดงให้เห็นถึงความพยายามในการเข้าถึงบทบาทได้ดีที่สุดเท่าที่นักแสดงมืออาชีพสามารถ ทั้งๆ ที่คุณสุพรทิพย์ ช่วงรังษี เพิ่งมารับแสดงหนังเรื่องนี้เป็นเรื่องแรก แม้การแสดงออกทางสีหน้าและแววตาของเธอจะยังไม่ชัดเจนนักแต่คณะผู้ดูแลฝึกสอนการแสดงก็ทำให้เห็นแล้วว่าผลที่ได้ออกมาน่าพอใจ ผมว่าสมบูณ์กว่าการเอาเด็กรุ่นใหม่ที่มุ่งไขว่ดินคว้าโคลนอะไรมาแสดงแข็งๆ แบบดูถูกคนดูไปวันๆ

Image

บทของนวลจันเอง ศิรพันธ์ วัฒนจินดาก็สามารถเค้นความรู้สึกหลากหลายรูปแบบออกมาได้ดี ติดอยู่เรื่องเดียวที่ผมคิดว่าเป็นอุปสรรคต่อเธออย่างที่สุดนั่นคือการเปล่งเสียง ผมเชื่อโดยบริสุทธิ์ใจว่าหากนักแสดงสามารถแปล่งบทพูดออกมาได้ชัดถ้อยชัดคำแล้ว ความสามารถเข้าถึงความรู้สึกของตัวละครขณะนั้นจะฉายออกมาผ่านการแสดงให้เป็นที่ประจักษ์ นี่เองด้วยเหมือนกันที่เป็นปัจจัยหลักให้นักแสดงในช่วงห้าถึงสิบปีที่ผ่านมานี้หาดีๆ ได้น้อยมาก

บทพิสูจน์ความเชื่อของผมก็อยู่ที่คุณสมจิตนี่เอง คุณทัศวรรณ เสนีย์วงศ์ เป็นคนเดียวที่เข้าถึงบทหนักๆ ของคุณสมจิตให้ผมเชื่อได้โดยสนิทใจ ผมพูดได้คำเดียวว่านี่การแสดงชั้นครู เป็นต้นแบบให้คนที่ไม่เคยดูหนัง แต่อยากเป็นนักแสดงจะไขว่คว้าอะไรก็คงไม่สำเร็จได้หากไม่ศึกษาของจริงอย่างนี้ ฝึกฝนให้หนักเพื่อพัฒนาฝีมืออย่างต่อเนื่อง ไม่ใช่จ้องแต่จะเล่นบทนำ เรื่องเดียวจอด ผมเชื่อในมาตรฐานของนักแสดงรุ่นก่อนนี้อย่างคุณทัศวรรณ เสนีย์วงศ์ นี่แหละที่ต้องถูกเคี่ยวกรำอย่างหนักกว่าจะมาได้ถึงวันนี้

Image

และผมขอประกาศไว้ด้วยเลยตรงนี้ว่าคุณทัศวรรณ เสนีย์วงศ์ สมควรอย่างยิ่งที่จะได้รางวัลดาราประกอบฝ่ายหญิงยอดเยี่ยมประจำปีนี้ไปครอง

วาทะกรรมที่พบได้ในหนังมีอยู่สองส่วนคือ “ความรักและการสูญเสียศรัทธาในรัก” แม้ว่าจะกระทบกับประสบการณ์ส่วนตัวของผมเข้าอย่างจัง แต่ก็ไม่มีพลังมากนักเมื่อเทียบกับ “การยอมรับว่าผีมีอยู่จริง” ที่สอดคล้องกับคำถามเรื่องผีมีอยู่จริงไหมและคำตอบจากท่านพระอาจารย์ วุฒิชัย วชิรเมธี ที่เพิ่งออกทางโทรทัศน์ไปไม่นานมานี้ นี่ออกจะประทับใจผมมากกว่า และวาทะกรรมทั้งสองนี่เองที่เป็นแกนหลักของเรื่องราวทั้งหมด

ส่วนดนตรีประกอบนั้นเด่นเฉพาะที่เป็นการบรรเพลงหลักคือเพลง “สิ้นรักสิ้นสุข” ของ สุนทราภรณ์ ด้วยไวโอลินที่ใช้เชื่อมโยงนวลจันและคุณรัญจวนเข้าด้วยกัน ไม่น่าแปลกใจเพราะหนังแนวนี้จะต้องให้น้ำหนักกับเสียงประกอบที่ใช้กระตุกอารมณ์ผู้ชมมากกว่า ส่วนเพลงประกอบตอนท้ายเรื่องที่ร้องโดย นรีกระจ่าง คันธมาส นั้นผมขอบอกตามตรงว่าผิดหวัง แต่ที่นั่งฟังจนจบนั้นก็เป็นเพราะหนังยังคงเล่าเรื่องต่อไปตลอดช่วงที่ขึ้นเครดิตหนัง (end credit) จนถึงได้ทราบชื่อผู้ร้อง ที่บอกว่าผิดหวังก็เพราะการออกเสียงร้องเป็นแบบสมัยปัจจุบันที่นิยมออกเสียงแบบไม่เต็มคำ ผิดกับการร้องในแบบเดิมของนรีกระจ่างที่ร้องเต็มเสียงนั้นสามารถแสดงพลังออกมาได้จริง ผมรังเกียจพัฒนาการของนักร้องที่เปลี่ยนวิธีร้องไปตามยุคสมัยจนปัจจุบันร้องเพี้ยนกันไปหมด ทั้งๆ ที่เดิมนั้นตนทำได้ดีมากอยู่แล้ว ผมหมายถึงภาพรวมทั้งหมดเลย จนทุกวันนี้ผมออกจะมีความสุขกับการฟังเพลงสุนทราภรณ์มากกว่าเพลงสมัยปัจจุบัน แม้เมื่อเริ่มหัดฟังเพลงไม่เคยมีชื่อสุทราภรณ์อยู่ในหัวเลยก็ตาม

เสียดายที่พอเครดิตหนังเริ่มขึ้น พนักงานก็เปิดประตูทันทีเพราะนิสัยการดูหนังของคนไทยไม่ชอบดูเครดิตหนัง จริงแล้วผมได้ความรู้มากมายจากการดูเครดิตตอบจบ ได้ฟังเพลงเต็มระบบเสียงแบบที่ไม่มีทางได้ฟังที่บ้าน และหนังบางเรื่องยังทิ้งฉากจบไว้ให้อีกเมื่อเครดิตหนังผ่านไปหมดแล้ว เช่นเดียวกับหนังเรื่องนี้ที่เรื่องยังดำเนินต่อไป จึงอยากแนะนำว่าหากไม่ได้รีบร้อนอะไรลองนั่งดูต่อไปอีกสักนิด แม้ไม่คุ้นเคย ไม่มีสาระหลักอะไร แต่ได้อารมณ์

Image

จริงแล้วที่ผมเลือกที่จะรีบไปดูหนังเรื่องนี้ตั้งแต่รอบแรกของวันแรกที่ฉายอย่างเป็นทางการก็เพราะต้องการเป็นส่วนหนึ่งของประวัติศาสตร์หนังเรื่องนี้ที่จะต้องบันทึกรายได้เมื่อแรกเข้าว่าจะสามารถผ่านสี่วันอันตรายนี้ไปได้ไหม ผมเคยทำแบบนี้ครั้งหนึ่งกับหนังเรื่อง ‘โอเคเบตง (2546)’ ของนนทรีย์ นิมิบุตร แต่ก็ไม่สามารถผ่านสามวันอันตรายในขณะนั้นไปได้ หนังต้องออกทันทีในสัปดาห์ต่อมา ผมเองก็รู้สึกวิตกอยู่ว่าการจะออกมารูปนั้นอีกกับหนังเรื่องนี้ ขอให้หนังผีไทยแท้ๆ เรื่องนี้สามารถฝ่ากระแสหนังผีที่มีแต่กลิ่นปลาดิบกับกิมจิดาดๆ ในโรงหนังบ้านเราได้อย่างสมเกียรติด้วยเถิด

เอาเข้าจริงจนถึงขณะที่ผมเขียนบทความนี้เสร็จแล้ว ผมก็ยังไขคำตอบสำหรับคำถามที่ตั้งไว้ตั้งแต่ต้นไม่ได้ คงต้องลับสมองกับทุกท่านที่ได้ไปชมเรื่องนี้ด้วยตัวเองหลังจากอ่านบทความนี้เสร็จ จึงขอเชิญชวนให้ไปสำเริงอารมณ์กระตุกขวัญกับหนังเรื่องนี้โดยไม่รอรี

ข้อมูลภาพยนตร์

เปนชู้กับผี (2549)
ภาพยนตร์โดย ไฟว์สตาร์โปรดักชั่น
ผู้กำกับ วิศิษฏ์ ศาสนเที่ยง
บทภาพยนตร์ ก้องเกียรติ โขมศิริ
นักแสดง ศิรพันธ์ วัฒนจินดา, สุพรทิพย์ ช่วงรังษี, ทัศวรรณ เสนีย์วงศ์

เพลง “สิ้นรักสิ้นสุข” ของ สุนทราภรณ์
เนื้อร้อง ครูแก้ว อัจฉริยะกุล
ทำนอง หลวงสุขุมนัยประดิษฐ์
นักร้องต้นฉบับ คุณมัณฑนา โมรากุล
นักร้องฉบับใหม่ นรีกระจ่าง คันธมาส

ข้อมูลเพิ่มเติม