ผมตัดสินใจ iPod รุ่นใหม่ล่าสุดที่เพิ่งเปิดตัวไปเมื่อวันที่ 12 กันยาที่ผ่านมา เพราะคิดว่าถึงเวลาแล้วที่จะต้องมีเจ้าเครื่องเล่นเพลงดิจิตอลแบบพกพาสีขาวเครื่องนี้มารับใช้อยู่ข้างกาย และเมื่อวันเสาร์ที่ผ่านมานี้พี่ชายผมก็พาเจ้า iPod ที่ฝากซื้อมาให้
คราวแรกก็คิดอยู่ว่าจะซื้อเพียง iPod nano รุ่นเล็กราคาประหยัดกว่ามาใช้ แต่หลังจากได้ทดลองใช้งานวิดีโอกับ iPod รุ่นก่อนนี้ของพี่ผมเอง จึงไม่ลังเลใจที่จะเพิ่มเงินอีกนิดหน่อยเพื่อให้ได้ใช้งานในทุกความสามารถที่ Apple ภูมิใจสร้างมันออกมา
มาถึงมือแล้วก็ไม่รีรอที่จะถ่ายรูปมุมต่างๆ ของผลิตภัณฑ์เก็บเอาไว้ เห็นได้ว่า Apple ใส่ใจทุกรายละเอียดของบรรจุภัณฑ์จริงๆ






จากนั้นก็หัดใช้โดยการต่อเข้ากับเครื่องคอมพิวเตอร์ ทันใดนั้นโปรแกรม iTunes ก็เด้งตัวขึ้นมาต้อนรับเข้าสู่โลกของ iTunes Music ที่มี iPod เป็นผู้ร่วมก่อการอีกหน่วยหนึ่ง ไม่รอช้ารีบลงทะเบียนหมายเลขเครื่องในฐานข้อมูลลูกค้าของ Apple เสียก่อน
ขณะที่ต่อสายเข้ากับเครื่องอยู่นั้น เจ้า iPod จะถูกชาร์จไฟเข้าไปให้ด้วย แน่นอนว่าเครื่องที่มาจากโรงงานคงไม่ได้ชาร์จไฟมาให้เต็มที่ เป็นหน้าที่ของเราเองที่ต้องจัดการ แต่ที่สำคัญต้องทำอย่างไรให้แน่ใจว่าถ่านภายในตัวเครื่องจะจ่ายไฟออกมาให้ใช้งานได้เป็นไปตามที่โฆษณาไว้ อย่างนี้ต้องออกแบบการเตรียมความพร้อมให้เจ้า iPod เสียตั้งแต่แรก เป็นการปรับสภาพถ่าน (battery calibration) เพื่อให้สามารถชาร์จไฟได้เต็มความจุ และใช้เครื่องให้ทำงานให้หนักที่สุดในช่วงแรก (burn in) เพื่อให้กลไกและส่วนประกอบทั้งหลายของเครื่องเข้าที่เข้าทาง โดยเฉพาะหูฟัง ต้องทำให้ขอบยางของหน่วยลำโพงเล็กๆ ข้างในยืดหยุ่นได้เต็มที่ อันจะทำให้ความสามารถในการเปลี่ยนพลังงานไฟฟ้ามาเป็นพลังงานกลคือเสียงเพลงนั้นได้น้ำเสียงที่ตรงตามต้นฉบับมากที่สุดนั่นเอง
คืนแรก แม้ว่าจะยังไม่ได้ชาร์จไฟเข้าไปเต็ม แต่ขอเริ่มเลยด้วยการเปิดให้เล่นหนังไปเรื่อยๆ จนถ่านหมดไปเลย เช้าวันอาทิตย์ ขึ้นมาก็นำมาชาร์จไฟใหม่เป็นเวลา 12 ชั่วโมง กว่าจะเสร็จก็ค่ำแล้ว นำไปเล่นหนังไปเรื่อยๆ อีกครั้งจนถ่านหมด เช้าวันจันทร์ก็นำมาชาร์จไฟอีก 12 ชั่วโมง จนกระทั่งค่ำวันจันทร์ สรุปว่าเล่นจนถ่านหมดเกลี้ยงไปแล้ว 2 รอบ
คราวนี้เลือกหนังหน่อย เอาเป็นเรื่องนี้ Fear and Loathing in Las Vegas (1998) โดยเทอรี่ กิลเลี่ยม (Terry Gilliam) ผู้กำกับในดวงใจอีกคนหนึ่งกับผลงาน Time Bandits (1981), Brazil (1985), The Adventures of Baron Munchausen (1988), The Fisher King (1991), Twelve Monkeys (1995), The Brothers Grimm (2005) และล่าสุด Tideland (2005) ที่เข้าฉายแบบจำกัดโรงจนพี่แกเองต้องออกมาเดินเปิดหมวกขอกำกับหนังแลกข้าวเลี้ยงครอบครัว

หนังเรื่องนี้ถูกบีดอัดมาเพื่อเล่นบน iPod โดยเฉพาะ ด้วยคุณภาพของภาพระดับ MPEG4 ขนาดกว้าง 320 จุด x สูง 144 จุด พร้อมกับเสียงคุณภาพ AAC (Advance Audio Coding) สองช่องซ้าย-ขวา Stereo ที่ความถี่ 24.000 KHz
ครั้งนี้นั่งรอเลยอยากรู้ว่าจะสามารถดูหนังได้ตามที่บอกไว้ไหม รอบแรกใช้เวลาไป 1 ชั่วโมง 58 นาที 22 วินาที พอจบแล้วจึงรีบเปิดรอบที่ 2 ในทันที หนังยังไม่ทันจบก็ถ่านหมดเกลี้ยง ตรวจดูแล้วพบว่าหนังเล่นไปแล้ว 1 ชั่วโมง 41 นาที 15 วินาที ทั้งนี้รวมเป็น 3 ชั่วโมง 39 นาที 37 วินาที เทียบกับสเป็คเครื่องที่บอกว่าสามารถดูหนังได้นานถึง 3 ชั่วโมงครึ่ง
Battery life
Up to 14 hours of music playback; up to 4 hours of slideshows with music; up to 3.5 hours of video playback
ตลอดเวลาที่เล่นหนังทั้ง 3 คืนนั้นเสียบหูฟังไว้ด้วย พร้อมทั้งปรับแต่งเครื่องให้ความสว่างของจอภาพสว่างที่สุด ซึ่งสว่างกว่ารุ่นที่แล้วถึง 40% อีกทั้งยังเปิดเสียงให้ดังที่สุดเท่าที่จะทำได้
ทั้งหมดนี้เป็นการบังคับให้อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ภายในเครื่องทำงานต่อเนื่องโดยเฉพาะจอภาพและตัวฮาร์ดดิสก์ที่ใช้บันทึกข้อมูล ไปจนถึงหูฟังที่น่าจะค่อยๆ ปรับตัวสู่สภาพพร้อมใช้ที่สุด แม้จะไม่ได้เป็นไปตามวิชาการอะไรมากมาย แต่ก็คาดหวังว่าเจ้า iPod ตัวนี้เข้าสู่ระยะที่สองของเครื่องใช้ไฟฟ้า (Sustain phase) ที่จะสามารถทำงานได้เต็มอายุการใช้งาน
เมื่อคืนก็อัดไฟเข้าถ่านไว้เต็มที่เพื่อเช้านี้จะได้ทำการ burn in หูฟังโดยเฉพาะ และจะทดสอบเวลาสำหรับใช้ฟังเพลงอย่างเดียวว่าจะได้สักเท่าไหร่ แต่คิดว่าจะไม่ลองเต็มเวลาแล้ว ต่อไปเป็นการจึงเลือกเพลงที่มีความหลากหลายหน่อย เพื่อให้หูฟังได้รับสภาพที่แตกต่างกันไป
เริ่มต้นที่เจ้าของเสียงฮาร์พแนว New Age ที่ดนตรีของเขานั้นจะมีน้ำเสียงที่สะอาดใสเป็นเอกลักษณ์ ให้บรรยากาศ ช่วยเสริมสร้างจินตนาการได้เป็นอย่างดี

Andreas Vollenweider
49 เพลง 2 ชั่วโมง 44 นาที 10 วินาที– White Winds (1985) 10 เพลง 36 นาที 35 วินาที AAC 128kbps
– The Trilogy (1990) 39 เพลง 2 ชั่วโมง 07 นาที 35 วินาที AAC 128kbps
จากนั้นต่อด้วยคู่ดูโอ สองหนุ่มจากญี่ปุ่นที่ผมเคยดูบันทึกการแสดงสดของพวกเขาแล้วประทับใจมาก พวกเขาสามารถแสดงพลังเสียงให้เพลง Rythm and Blues ผสม Hip Hop ออกมาได้เต็มพลังจริงๆ เพลงจึงเริ่มมีเสียงย่านความถี่กลางจนถึงต่ำเพิ่มเข้ามา พร้อมกับน้ำหนักของมวลเสียงก็หนักขึ้นด้วย

CHEMISTRY
39 เพลง 2 ชั่วโมง 58 นาที 11 วินาที– One x One (2004) 15 เพลง 1 ชั่วโมง 02 นาที 55 วินาที AAC 128kbps
– Hot Chemistry (2005) 11 เพลง 55 นาที 32 วินาที MPEG 320kbps
– fo(u)r (2005) 13 เพลง 59 นาที 44 วินาที MPEG 192kbps
ปิดท้ายด้วยแถวหน้าของวง Progressive ของโลกวงนี้ วงที่มีความหนักหน่วงถึงขั้น Metal พร้อมเนื้อหาที่เต็มไปด้วยจินตนาการ มวลเสียงต่อเนื่องจากชุดที่แล้ว แต่หนักหนากว่า แม้จะหนักจนหูแทบหนวกแต่ไม่ขาดแคลนความสวยงามของท่วงทำนองและการบรรเลงไปเลย

Dream Theater
16 เพลง 1 ชั่วโมง 48 นาที 28 วินาที– When Dream And Day Unite (1989) 8 เพลง 51 นาที 25 วินาที MPEG 192kbps
– Images And Words (1992) 8 เพลง 57 นาที 3 วินาที AAC 128kbps
รวมทั้งสิ้นเป็นเวลา 104 เพลง 7 ชั่วโมง 30 นาที 49 วินาที
ระหว่างที่เล่นเพลงอยู่นั้น ไฟหน้าจอจะดับลงอัตโนมัติ จะมีการกระตุ้นให้ติดขึ้นมาบ้างเป็นช่วงสั้นๆ แต่ไม่สม่ำเสมอ ความดังเสียงปรับไว้ที่สูงสุดเช่นเคย ดังขนาดนี้ขอไม่นั่งฟังไปด้วยแล้วกัน ยังไม่อยากหูหนวกถาวร
เมื่อครบเวลาแล้ว ก็มาสังเกตว่าสัญลักษณ์รูปถ่านไฟฉายที่มุมขวาบนบอกว่าไฟยังเหลืออยู่กี่มากน้อย ไม่มีตัวเลขบอกอย่างชัดเจนบนจอเหมือนอย่างที่ Mac OS X รายงานสภาพถ่านของเครื่อง iBook จึงต้องใช้ประมาณการเอาว่าใช้ไปแล้วสักเท่าไหร่ เพื่อนำไปเทียบกับเวลาที่เปิดเพลงไป ก็จะได้เวลาว่าหากเล่นเพลงอย่างเดียวควรจะสามารถฟังได้ต่อเนื่องยาวนานเพียงใด เท่าที่สังเกตดูน่าจะเกินครึ่งหนึ่งไปแล้ว น่าจะเหลือไฟอยู่อีกประมาณ 40% – 45% จึงทำการเทียบบัญญัติไตรยางค์ง่ายๆ ดูว่าจะได้เต็ม 14 ชั่วโมงตามสเป็คไหม ได้ความว่า
หากไฟยังเหลืออยู่ประมาณ | แปลว่าสามาถฟังเพลงได้นาน | ||
ชั่วโมง | นาที | วินาที | |
40% | 12 | 31 | 22 |
45% | 13 | 39 | 40 |
46% | 13 | 54 | 51 |
47% | 14 | 10 | 36 |
48% | 14 | 26 | 57 |
49% | 14 | 43 | 57 |
50% | 15 | 1 | 38 |
อย่างแย่ที่สุดก็จะได้ราว 12 ชั่วโมงครึ่ง
สรุป หลังจากทำการ calibrate ถ่านในเครื่องไป 3 รอบแล้วก็น่าจะสามารถชาร์จและจ่ายไฟได้เต็มประสิทธิภาพ และการ burn in ตัวเครื่องก็เพื่อให้อายุการใช้งานยาวนานเต็มที่ ส่วนการ burn in หูฟังนั้น นอกจากจะเพื่อให้อายุการใช้งานยาวนานพอแล้ว ที่สำคัญต้องการให้เสียงเพลงที่ออกมานั้นตรงกับต้นฉบับมากที่สุดเท่าที่จะทำได้

ข้อมูลเพิ่มเติม
- Apple iPod Product page
- Fifth Generation iPod (Late 2006) – Technical Specifications
- Fear and Loathing in Las Vegas (1998)
- Terry Gilliam จาก Wikipedia
- Dreams : The Terry Gilliam Fanzine
- Official Site of Andreas Vollenweider and friends
- Sony Music Online Japan : CHEMISTRY
- chemistry club – chemistry official online fan club
- Dream Theater – The Official Site