นั่งอ่านคอลัมภ์อดีตบรรณาธิการบันทึกของคุณอาจินต์ ปัญจพรรค์ สัปดาห์นี้แล้วขอส่งโทรจิตอันเป็นกุศลสูงสุดขออนุญาตเอาบทความชิ้นนี้มาบันทึกไว้ที่นี่ เพื่อใช้อบรบสั่งสอนตัวเองตามที่บรมครูได้กรุณาสั่งสอนเอาไว้
ครูเก่าสอนการประพันธ์
คอลัมน์นี้ชื่อ “อดีตบรรณาธิการบันทึก” ดังนั้น อดีตบรรณาธิการคือผม (อาจินต์ ปัญจพรรค์) จะเสนอเรื่อง ครูเก่าสอนการประพันธ์ ซึ่งครูเก่าท่านนี้คือ อาจารย์เจือ สตะเวทิน ท่านเขียนไว้ในนิตยสาร ฟ้าเมืองไทย ที่ผมเป็นบรรณาธิการ ในฉบับวันที่ 22 เมษายน 2519
ผมขอให้คนที่อยากเป็นนักประพันธ์ในปัจจุบัน (2550) อ่านเอาประโยชน์จากเรื่องนี้ ดังนี้ :-
มีคนครุ่นคิดกันอยู่เป็นประจำว่า ทำอย่างไรจึงจะเป็นนักประพันธ์ได้ เรื่องนี้ตอบได้ว่า ต้องยึดหลักธรรมหมวดหนึ่งซึ่งเรียกว่าอิทธิบาท ๔ ท่านคงจะคิดว่าไม่ทันสมัย ต้องอาศัยตำรับตำราฝรั่งจึงจะได้ผล แต่ถ้าพิจารณาดูอย่างถี่ถ้วนแล้วจะเห็นว่าหลักของฝรั่งก็ไม่พ้นอิทธิบาท ๔ ไปได้
หลักข้อต้นคือคนที่จะเป็นนักประพันธ์ต้องมี ฉันทะ เป็นทุนเสียก่อน นั่นคือมีความรักในอาชีพการประพันธ์อย่างแท้จริง คือชอบอ่าน ชอบคิด ชอบวิจารณ์เกี่ยวกับวิชาหนังสือโดยทั่วไป หากไม่รักหนังสือจะเป็นนักประพันธ์ไม่ได้เลย
เมื่อมีฉันทะเป็นทุนแล้ว ก็ต้องแสดง วิริยะ ตามมาด้วย หมายความว่าต้องมีความเพียรเข้าประกอบความรัก ความเพียรจะสนับสนุนความรักให้มีผลขึ้น ในวงการประพันธ์ต้องมีความเพียร ๓ ประการ คือ เพียรอ่าน เพียรคิด และเพียรเขียน การอ่านนั้นควรอ่านหนังสือสองชนิดคือหนังสือที่ให้ความรู้ทั่วไปชนิดหนึ่ง กับหนังสือตำรับตำราที่ให้หลักเกณฑ์ในการเขียนอีกชนิดหนึ่ง การคิดนั้นหมายถึงการคิดวิจารณ์ไปในขณะอ่านซึ่งจะทำเกิดปัญญา
อ่าน-คิด เพียงเท่านี้ยังไม่พอ ยังจะต้องลงมือเขียนต่อไปด้วย การเขียนเป็นศิลปะ ไม่ควรใจร้อน ต้องทำช้าๆ และทำซ้ำๆ กันนานๆ ความงดงามหรือสุนทรียภาพจึงจะเกิดขึ้น ต้องเขียนไป แก้ไป และฉีกทิ้งไป นักประพันธ์ที่มีชื่อทั้งหลายฉีกทิ้งเรื่องของตัวเองมามากแล้วก่อนที่เขาจะ มีชื่อเสียง
ทีนี้จะกล่าวถึง จิตตะ อันเป็นพลังที่สามของความสำเร็จ จิตตะหมายถึงความใส่ใจในรื่องการประพันธ์อย่างไม่ทอดทิ้ง เอาใจใส่อย่างไม่วางธุระ ค้นคว้าแสวงหาเรื่องที่จะเป็นประโยชน์แก่การเขียนในทุกโอกาส โดยเฉพาะต้องติดตามโลกให้ทัน ใฝ่ใจในสื่อมวลชนทุกชนิด แสวงหาความคิดใหม่ๆ และแปลกๆ มากักตุนไว้ในสมองและในสมุดให้มากที่สุด แล้วก็ใฝ่ใจที่จะคิดโครงเรื่อง (Plot) ของตนอง เพื่อเสนอผู้อื่น
พลังสุดท้ายคือ วิมังสา คือการไตร่ตรองพิจารณาหาเหตุผลให้ถูกต้อง เรื่องนี้จะช่วยให้งานเขียนของเรามีคุณภาพขึ้นมากทีเดียว สมมติว่าเราเป็นนักเขียนใหม่ เมื่อสร้างโครงเรื่องขึ้นแล้ว ต้องไตร่ตรองดูว่าเรื่องเช่นนั้นเช่นนี้จะเป็นไปได้หรือไม่? เรื่องของเราจะไปพ้องกับเรื่องของคนอื่นหรือไม่? ภาษาที่เราใช้ ดีพอหรือยัง? ไม่ควรคิดว่าเขียนเรื่องจบแล้วเป็นใช้ได้ ต้องแก้ไขให้บรรณาธิการอ่านแล้วไม่โยนทิ้งตะกร้าให้ได้
จึงเห็นได้ว่าอาชีพการประพันธ์นั้นไม่ใช่ของง่ายเลย ต้องใช้เวลาฝึกฝนมาก ถ้าท่านดูนักประพันธ์ทั่วโลก ท่านจะเห็นว่าแต่ละคนกว่าจะมีชื่อเสียงขึ้นมาได้ก็อายุล่วงไปมากๆ แล้วทั้งนั้น กว่าจะได้รับความสำเร็จ ท่านเหล่านั้นต้องต่อสู้กับตนเองมากที่สุดคือต่อสู้กับความย่นย่อท้อถอย นั่นเอง.
ฉะนั้นใครจะยึดการประพันธ์เป็นอาชีพจึงต้องสะสมสิ่งหนึ่งที่เรียกกันว่า “น้ำยา” ไว้ให้มาก คำว่าน้ำยา เขาหมายถึงความรู้ ประสบการณ์ และโลกทัศน์นั่นเอง จึงต้องไม่ใจร้อนเสียแต่ต้น ต้องทำใจไว้ให้มั่นว่า “วันหนึ่งฉันจะเป็นนักประพันธ์ให้ได้” ส่วนจะเป็นได้เมื่อไรก็แล้วแต่กาลเวลาที่สังคมจะยอมรับนับถืองานเขียนนั้นๆ
ฉะนั้นจึงขอเสนอให้ท่านยึดหลักความสำเร็จตามคติของพระพุทธศาสนาไว้ตลอดชีวิต นั่นคือหลักอิทธิบาท ๔ ดังอธิบายมา วันหนึ่งท่านจะเป็นนักประพันธ์อาชีพได้เป็นแน่
เจือ สตะเวทิน
(อาจินต์ ปัญจพรรค์ เขียนเมื่อ 26 กุมภาพันธ์ 2550)
ที่มา
คอลัมภ์ อดีตบรรณาธิการบันทึก หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ จุดประกายวรรณกรรม ประจำวันอาทิตย์ที่ 4 มีนาคม 2550