Swing Out Sister กับความหมายทางดนตรีตลอดสองทศวรรษที่ผ่านมา

เคล็ดลับความงามของนักร้องนำหญิงวง Swing Out Sister วงป็อบชื่อดังตั้งแต่ยุค ’80 “โครีนน์ ดรูเวอรี่ Corinne Drewery” คือเธอรักการว่ายน้ำเป็นชีวิตจิตใจแม้วัยมาถึงเลข 5 แล้ว แต่เคล็ดลับการรักษาชื่อเสียงในวงการดนตรีตลอด 22 ปีโดยยังได้รับแรงสนับสนุนจากแฟนเพลงทั่วโลกเสมอก็คือ “รักษาความมุ่งมั่นทางดนตรีให้มีอยู่เสมอ”

Andy Connell (ซ้าย) Corinne Drewery
Andy Connell (ซ้าย) Corinne Drewery

ในคอนเสิร์ตครั้งล่าสุดของ Swing Out Sister ที่แฟนในเมืองไทยรอคอยมานาน นอกจากการแสดงสด การสวิงฮูลาฮูปสีชมพู การร้องและเต้นในเดรสสีดำประจำตัวเธอแล้ว โครีนน์ได้เตรียมประโยคสำคัญที่จะพูดกับแฟนๆ ด้วยว่า “Puak Rao Dee Jai Mak Tee Dai Ma Tee Nee พวกเราดีใจมากที่ได้มาที่นี่”

นักร้องจากเมืองน็อตติ้งแฮม เริ่มเล่าให้ฟังว่า “ฉันมีชีวิตอยู่ท่ามกลางดนตรีตั้งแต่ยังเป็นเด็ก พ่อของฉันเคยเป็นมือเบส ส่วนแม่ของฉันก็เคยเป็นนักร้องประจำวงแจ็ซ นั่นเองที่ทำให้ฉันฝันอยากเป็นนักร้องตั้งแต่ยังเล็ก”

เธอเล่าต่อไปว่า “แต่เมื่อถึงวัยเข้าโรงเรียน ฉันก็คิดได้ว่ามันเป็นจริงได้ไม่ง่าย”

โครีนน์ย้ายมาอยู่ที่ลอนดอนและเข้าเป็นนักเรียนออกแบบแฟชั่นที่ Saint Martins College of Art อันมีเกียรติในปี 1976 ปีเดียวกับที่ Sade นักร้องแจ็ซป็อบชื่อดังเข้าเรียนที่นี่เช่นกัน

เมื่อจบการศึกษา โครีนน์เดินเข้าสู่ธุรกิจแฟชั่นและใช้ความรู้ที่ได้รำ่เรียนมาตลอดสี่ปีอย่างเต็มที่ หลังจากที่ทำงานอยู่เบื้องหลังไประยะหนึ่ง เธอก็ได้เรียนรู้ว่าโลกของธุรกิจแฟชั่นไม่น่าจะใช่สถานที่ที่เหมาะกับเธอ แล้วจุดพลิกผันในชีวิตก็มาเยือน แถมไม่ได้มาอย่างน่าประทับใจเท่าไรนัก

​“ฉันประสบอุบัติเหตุอย่างรุนแรง ฉันตกจากม้าและบาดเจ็บถึงขั้นสมองร้าว ไม่รู้ว่ามันเกิดขึ้นได้อย่างไร แต่มันทำให้ฉันหมดสติไปถึง 3 วันเต็มๆ เท่าที่ได้ฟังจากแม่ของฉัน หลังจากที่ออกจาโรงพยาบาล ฉันบอกท่านว่าต่อไปนี้ฉันเลือกที่จะเป็นนักร้อง เรื่องมันก็เป็นอย่างนี้ แต่ฉันก็ยังไม่ค่อยแน่ใจนักนะ” เธอเล่าให้ฟังพลางหัวเราะไป

“จุดพลิกผันน่าจะเกิดขึ้นในช่วงสามเดือนที่พักฟื้นอยู่ ฉันมีเวลาคิดทบทวนตัวเองและเริ่มถามตัวเองว่าฉันยังต้องการกลับไปยังธุรกิจแฟชั่นอีกหรือเปล่า บางทีเวลาที่คุณมีประสบการณ์เฉียดความตาย คุณจะใช้ชีวิตอย่างมีสติและรู้จักจัดลำดับความสำคัญมากขึ้น เหมือนคุณได้ชีวิตกลับมาอีกครั้งและไม่อยากจะสูญเสียโอกาสอะไรอีก”

แต่ก่อนที่จะประสบเรื่องเลวร้ายนั้น โครีนน์เปิดเผยว่าเธอได้เริ่มฝึกร้องเพลงและแต่งเนื้อร้องจริงจังกว่าเดิมที่เคยเป็นเพียงงานอดิเรก

“ผู้คนมักถามว่าฉันสามารถเปลี่ยนจากงานออกแบบเสื้อผ้ามาเขียนเพลงได้อย่างไร ฉันคิดว่ามันใช้กระบวนการคิดสร้างสรรแบบเดียวกันเลยนะ คุณเริ่มจากไม่มีอะไรเลย จากนั้นก็เสาะหาแรงบันดาลใจจากสิ่งต่างๆ รอบตัว แล้วนำมาสร้างงาน คุณก็สามารถนำพาสิ่งที่คิดไปยังคนอื่นๆ ได้แล้ว จากสิ่งที่ฉันเคยทำคือสิ่งที่มองเห็นเป็นชิ้นเป็นอัน ตอนนี้ฉันยังทำสิ่งเดียวกันออกมาเป็นเสียงเพลง” เธอเสริม

ในระหว่างการค้นหานั่นเอง โครีนน์ได้พบกับคู่หูทางดนตรี มือคีย์บอร์ดของ Swing Out Sister “แอนดี้ คอนเนล Andy Connell”

“ฉันได้พบกับแอนดี้ตอนที่เขายังอยู่ในวง A Certain Ratio อยู่ ฉันเจอเขาตอนที่เข้าไปออดิชั่นเป็นนักร้องให้กับอีกวงหนึ่ง แต่ก็ไม่ผ่าน ฉันไม่ได้งานนั้น แอนดี้เลี้ยงเครื่องดื่มฉันเป็นการปลอบใจ จากนั้นเราก็รู้จักกันมากขึ้น พอได้พบกันอีกคราวหลังจึงตัดสินใจทำงานเพลงด้วยกัน” เธอเล่า

สมาชิกดั้งเดิมของ Swing Out Sister จริงแล้วมี 3 คน นอกจาก ดรูเวอรี่ และ คอนเนล แล้วยังมีมือกลอง “มาร์ติน แจ็คสัน Martin Jackson” ที่ได้ลาวงไปหลังออกอัลบั้มแรก “It’s Better to Travel” ในปี 1987

วงดนตรีจะมีสมาชิกเป็นหญิงหนึ่งคน ชายสองคนเป็นเรื่องเข้าใจได้ แต่แฟนๆ ต่างก็ยังคงสงสัยตรงคำ “Sister” ว่าเกี่ยวกับวงอย่างไร เธอจึงเล่าปนเสียงหัวเราะต่อไปว่า “ที่มาของชื่อ ‘Swing Out Sister’ ไม่ค่อยปกตินัก พวกเรายังไม่มีชื่อวงจริงๆ ในช่วงปีแรกที่พวกเราเริ่มแต่งเพลงและบันทึกเสียง”

“หลังจากที่เราทำซิงเกิ้ลแรก ‘Blue Mood’ เสร็จ ทางค่ายเพลงขอให้เราตั้งชื่อวงภายใน 24 ชั่วโมง ไม่อย่างนั้นวงของเราอาจจะไม่ได้เดินหน้าต่อ พวกเราจึงคว้าเอาหนังสือแนะนำภาพยนตร์มาเล่มหนึ่งแล้วเริ่มเปิดดู ก็ได้เจอหนังเรื่องหนึ่งจากยุค 1940 เกี่ยวกับนักดนตรีแจ็ซในระหว่างสงครามชื่อเรื่องว่า ‘Swing Out, Sister’ พวกเรารู้สึกไปต่างต่างนานาแต่ที่แน่ๆ พวกเราไม่ชอบชื่อนี้อย่างเป็นเอกฉันท์ พวกเราจึงตัดสินใจเลือกชื่อนี้สำหรับงานเพลงแผ่นแรกด้วยชื่อที่พวกเราทุกคนเกลียด”

สำหรับซิงเกิ้ลที่สอง ‘Break Out’ หลังจากเปิดตัวในปี 1986 ได้กลายเป็นเครื่องกรุยทางให้ Swing Out Sister ได้เป็นที่รู้จักในโลกของเสียงเพลง

ด้วยน้ำเสียงที่นุ่มนวลแต่เต็มไปด้วยอารมณ์บวกกับสไตล์ผมทรงบ็อบช่วยให้โครีนน์และวงของเธอประสบความสำเร็จอย่างรวดเร็วในวงการดนตรี เห็นได้จากซิงเกิ้ล ‘Break Out’ ขึ้นถึงอันดับ 1 บน UK Chart ได้ในปีนั้น หลังจากความสำเร็จในประเทศบ้านเกิดของพวกเขา ในปี 1988 Swing Out Sister ได้ก้าวข้ามไปยังวงการเพลงอเมริกันและพร้อมกับเสียงตอบรับเป็นอย่างดี ถึงกับได้รับเสนอชื่อเข้าชิงรางวัล Grammy ถึง 2 รางวัลได้แก่รางวัลศิลปินหน้าใหม่ยอดเยี่ยม Best New Artist และรางวัลนักร้องเพลงป็อบคู่หรือกลุ่มยอดเยี่ยม Best Pop Performance by a Duo or Group With Vocals จากซิงเกิ้ล Break Out

“ฉันคิดว่าแนวเพลงที่พวกเราทำค่อนข้างใหม่ในสมัยนั้น ทั้งเสียงเครื่องเป่าประสาน (horn-riff) และการเรียบเรียงจังหวะด้วยซาวน์ดซินธิไซเซอร์ (upbeat synthesising-sound arrangement)” โครีนน์เล่าต่อ

“คุณอาจจะเรียกพวกเราว่า อิเล็กโทร-ป็อบ หรือ แจ๊ซ-ป็อบ ก็ได้ มันเป็นส่วนผสมของหลายสิ่งหลายอย่าง แต่ที่มีอิทธิพลมากที่สุดก็คือเพลงที่พวกเราฟังตั้งแต่ยังเด็กๆ อย่าง เบิร์ธ แบ็คคาแรค Burt Bacharach, ดิออน วอร์วิก Dionne Warwick และเพลงประกอบภาพยนตร์ พวกเราชื่นชอบดนตรีของจอห์น แบรี่ John Barry ผู้แต่งสกอร์สำหรับภาพยนตร์ชุดเจมส์ บอนด์ หลายภาค พวกเราประทับใจในซาวน์ดแทร็กเพราะๆ และเพลงดีๆ มากมาย จึงพยายามบรรจุสิ่งเหล่านี้เอาไว้ในบทเพลงที่เขียน”

พอกลายเป็นวงดูโอ โครีนน์อธิบายต่อไปว่าหลังจากอัลบั้มชุดที่สองของวง แนวทางดนตรีของ Swing Out Sister ก็ขยับจากป็อบไปสู่แนวที่เธอเรียกว่า “cinematic sound” ซาวน์ดแบบภาพยนตร์

“พวกเราหลงใหลในดนตรีย้อนยุค เนื้อร้องที่สวยงาม และซาวน์ดที่นุ่มนวลสดใส” โครีนน์เสริม

ในช่วงปลายยุค 1990 ความนิยมของ Swing Out Sister ในบ้านเกิดค่อยๆ ลดลงเรื่อยๆ แต่จำนวนแฟนเพลงหน้าใหม่มากมายกลับเพิ่มขึ้นจากทั่วทุกมุมโลก

โครีนน์เล่าต่อว่า “ดนตรีของพวกเราได้รับความนิยมอย่างน่าทึ่งที่ญี่ปุ่น พวกเราประทับใจในมิตรไมตรีและการตอบรับของพวกเขาต่อดนตรีของพวกเราอย่างมาก ดนตรีของพวกเราสื่อสารกับแฟนๆ ชาวญี่ปุ่นได้ พวกเรามีโอกาสได้ไปเยี่ยมญี่ปุ่นหลายครั้ง และเคยทำโปรเจ็คพิเศษมากมายที่นั่นอีกด้วย”

ในปี 1997 ซิงเกิ้ล ‘Now You’re Not Here’ จากอัลบั้มชุดที่ 5 ‘Shapes and Patterns’ ที่แต่งขึ้นเพื่อเป็นเพลงธีมสำหรับซีรีย์ญี่ปุ่นชื่อดัง ‘The Midday Moon’ ได้รับรางวัล “กรังปรีซ์” ของญี่ปุ่นในฐานะซิงเกิ้ลนานาชาติยอดเยี่ยม Best International Single โครีนน์อธิบายว่ารางวัลนี้มีศักดิ์ศรีเท่ากับรางวัล Grammy เลยทีเดียว

โครีนน์เล่าต่อว่า สตูดิโออัลบั้มชุดที่ 9 และเป็นชุดล่าสุด ‘Beautiful Mess’ ที่เปิดตัวในปี 2008 ช่วยเปิดโอกาสใหม่ๆ ให้กับวงที่จะได้มอบความสุขกับให้แฟนๆ ทั่วทุกมุมโลกรวมทั้งที่กรุงเทพด้วย

“ฉันคิดว่าชีวิตของฉันเต็มไปด้วย ‘ฝันที่เป็นจริง’ พวกเราได้เดินทางท่องเที่ยงตั้งแต่เริ่มทำดนตรี และดนตรีก็เป็นวิธีที่ดีที่สุดสำหรับเดินทาง” เธอทิ้งท้ายไว้ว่า “ดนตรีช่วยแผ้วถางหนทางสำหรับเข้าถึงโสตประสาท เข้าถึงหัวใจ และเข้าถึงจิตใจของผู้ฟัง มันสามารถไปสถานที่ที่ไม่มีใครไปถึงได้”


ที่มา Swing it like you mean it! โดย Yanapon Musiket หนังสือพิมพ์บางกอกโพสต์ เซคชั่น Outlook ประจำวันที่ 6 มกราคม 2553

ข้อมูลเพิ่มเติม

ข้อมูลเพิ่มเติมจาก Wikipedia