Bangkok Jazz Festival 2004

จัดเป็นปีที่ 2 แล้วครับงานนี้ ผมเคยเขียนถึงงานเมื่อปีที่แล้วไปบ้าง ปีนี้ได้ไปสัมผัสงานด้วยตัวเอง เนื่องจากมีนักดนตรีในดวงใจของผมมาร่วมแสดงด้วย จะเป็นใครไปไม่ได้ เขาคือซาดาโอะ วาตานาเบ้ (Sadao Watanabe) นักแซกโซโฟนต้นแบบของผมนั่นเอง

ผมเกริ่นว่าอยากไปฟังเพลงในงานนี้ตั้งแต่ทราบข่าวและเห็นรายการนักดนตรีที่มาร่วมให้พี่ชายผมฟังเมื่อเดือนก่อน เพราะหวังจะได้อุปการคุณเรื่องบัตรเข้าชม ซึ่งก็ไม่ผิดหวังเลย พี่ผมเคยเอ่ยปากชวนตั้งแต่งานปีก่อนแล้ว แต่ด้วยอารมณ์ไม่อยู่ในสถานะที่จะเพลิดเพลินในดนตรีแสดงสดสักเท่าไหร่จึงขอออกตัวไม่ไป พอมาปีนี้กล่าวได้คำเดียวว่าพลาดไม่ได้ กอปรกับพี่ผมคงอยากเห็นน้องชายออกจากบ้านไปทำอะไรอย่างอื่นบ้างนอกจากการนั่งอยู่หน้าเครื่องคอมพิวเตอร์ทั้งวันที่บ้าน บัตรเข้าชมงานจึงมีผู้มีอุปการคุณเป็นพี่ชายของผมนั่นเอง

งานนี้จัดขึ้นระหว่างวันเสาร์ที่ 18 ถึงวันอาทิตย์ที่ 19 ธันวาคม ที่สนามเสือป่า ตรงข้ามกันสวนอัมพรนั้นเอง รวมนักดนตรีทั้งหมด 12 คณะ ใช่แล้วครับ จะให้น้อยกว่านี้ได้อย่างไร นี่มันงานเทศการประจำปี แต่พอผมเห็นตารางการแสดงก็ทำเอาใจหายไปเล็กน้อยเพราะในแต่ละวันกว่าจะจบก็เล่นเอาเกือบตีหนึ่งเข้าไปแล้ว แหมอากาศน่านอนอย่างนี้ ก็ไม่อยากไปไกลผ้าห่มอุ่นสักเท่าไหร่

วันที่ 18 ธันวาคม 2547
   นักดนตรี เวลา
   CU Band    16:00 – 16:45   
   James Taylor Quartet 17:00 – 18:30
   Koh Saxman featuring Bangkok Jazz All Stars    18:45 – 19:45
   MinaSwing 20:00 – 21:15
   David Sanborn 21:30 – 23:00
   Al Jarreau 23:15 – 00:45
 
วันที่ 19 ธันวาคม 2547
   นักดนตรี เวลา
   Mahidol Band 16:00 – 16:45
   urb 17:00 – 18:15
   Infinity and friends 18:30 – 19:30
   Sadao Watanabe 19:45 – 21:15
   Mindi Abair 21:30 – 23:00
   The Crusaders 23:15 – 00:45

สมองก็เริ่มครุ่นคิดวางแผนการเลยครับ ต้องวางกลยุทธหน่อย เริ่มต้นที่ให้ความสำคัญก่อนหลัง (priority) ของนักดนตรีที่ต้องการดู ก็ได้ว่า

1. ซาดาโอะ วาตานาเบ้ (Sadao Watanabe)

2. เดวิด แซนบอร์น (David Sanborn)

3. อัล จาร์โร (Al Jarreau)

อย่างนั้นแล้วคืนวันเสาร์ก็ต้องดูจนจบ แล้วกลับมานอนเอาแรงให้พอ แล้วค่อยดู Sadao ต่อในวันอาทิตย์ แล้วพอ ก็ต้องช่างใจหน่ะครับเพราะเดอะ ครูเซเดอร์ (The Crusaders) ก็วงระดับตำนานเหมือนกัน ไม่น่าพลาด แต่ก็ต้องตัดใจเพราะจบที่ Sadao น่าจะถึงขีดสุดแล้ว พอได้แล้ว

เมื่อคิดได้อย่างนี้แล้วก็ได้แผนการว่าวันแรกดูจนจบ ส่วนวันที่สองดูแค่พอ แล้วคืนวันศุกร์พี่ชายผมก็โทรมาบอกว่าพรุ่งนี้จะเอาบัตรมาให้ แผนการของผมคงไม่น่าจะมีปัญหา

วันเสาร์ที่ 18 ธันวาคม 2547

Image

วันรุ่งขึ้นพี่ผมมาถึงบ้านก็เที่ยงกว่าแล้ว แถมยังลืมเอาบัตรมาให้อีก แต่สัญญาว่าเดี๋ยวกลับไปเอามาให้ ใช้ชีวิตช่วงบ่ายตามปกติ แล้วพี่ผมก็กลับไปเอาบัตรมาให้ ประมาณเกือบ 5 โมงเย็นก็ได้ฤกษ์เดินทาง ตอนแรกก็คิดว่าพลาดรายการแรกคงไม่เป็นไร เพราะอย่างไรก็ดีต้องนั่งนานถึง 7 ชั่วโมงอยู่แล้วจะได้ไม่เมื่อยมาก ระยะทางจากบ้านไปยังสนามเสือป่านั้นไม่ไกลเท่าเคี้ยวหมากจืดหรอกครับ แถมรถก็ไม่ค่อยติดเท่าไหร่ 5 โมงกว่าๆ ก็มาถึง จอดรถที่สวนอัมพรแล้วข้ามถนนมาเข้างาน ระหว่างเดินมาเข้างานก็ได้ยินเสียงเพลงบรรเลงของวง CU Band อยู่ ไหนว่าเล่นไปตั้งแต่ 4 โมงแล้วไง

เข้าไปในงานก็เริ่มสำรวจสถานที่นิดหน่อย เดินไปตามทางด้านซ้ายมือเพื่อดูว่าเขามีอะไรแสดงอยู่บ้าง ก็ไม่มีอะไรน่าสนใจ เข้าในบริเวณแสดงดีกว่า ก็เริ่มเดินเข้าสนามหญ้า วง CU Band บรรเลงเพลงอยู่

ผมเดินจากขอบสนามด้านซ้ายมือ ไปจนสุดด้านขวามือเพื่อสำรวจงานในสนามตั้งแต่เวที กลุ่มผู้ชมที่ยังเข้ามาไม่มากเท่าไหร่ สะดวกต่อการหาที่นั่ง สถานีควบคุมเสียงที่อยู่กลางสนาม จากนั้นก็เดินกลับมาเลือกที่นั่งตรงกลางๆ หน่อยเพื่อที่จะได้ดูได้ทั้งสองเวที

เวทีแสดงจัดไว้สองเวที เวทีที่ 1 อยู่ซ้ายมือ ขณะนี้วง CU Band กำลังแสดงอยู่ เวที่ที่ 2 อยู่ขวามือ ระหว่างเวทีทั้งสองมีจอหนังกลางแปลงสองจอวางทำมุมเล็กน้อยเพื่อฉายภาพบนเวที ผมเดินมาถึงจุดที่น่าจะเหมาะสมคือตรงกับชุดลำโพงด้านขวาของเวทีซ้ายมือ ระยะห่างจากหน้าเวทีไกลพอที่จะดูเวที 1 ได้ง่าย และเอี้ยวตัวไปทางขวาเพียงเล็กน้อยเพื่อชมการแสดงบนเวที 2 เมื่อถึงเวลา ราตรีนี้ยังอีกยาวไกล ทำเลดีมีชัยไปกว่าครึ่ง ผมคิดในใจ

CU Band

วงดนตรีจากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยอันเลื่องลือ ตั้งแต่อัญเชิญเพลงพระราชนิพนธ์มาบรรเลงจะถึงเพลงของนักประพันธ์ระดับโลก บรรเลงในแบบวงบิ้กแบนด์ (Big Band) งานนี้รวมนักดนตรีทั้งนิสิตเก่าและนิสิตปัจจุบันมาร่วมแสดง ฝีมือดี (น่าจะเล่นอาชีพ) ทั้งแบบเต็มวงและโซโล (Solo เดี่ยว) ก็เป็นการโหมโรงที่ดีสำหรับงานนี้ จะติดขัดบ้างก็เรื่องไมโครโฟนที่วางตำแหน่งไม่ค่อยดี ทำให้เวลาโซโลแล้วเสียงเบาบ้างดังบ้าง อันนี้เข้าใจได้ เพราะการจัดตั้ง (setup) ไมโครโฟนสำหรับวง Big Band ไม่ใช่ง่าย บ้านเราคงไม่พร้อมทั้งเครื่องมือและบุคคลกร ไม่เป็นไรครับ คงจะมีการพัฒนาไปเรื่อยๆ เริ่มต้นงานก็อย่าเอาแต่จับผิดอยู่ หาความบันเทิงจากดนตรีแจ๊ส ดีกว่า เพราะแก่นของแจ๊สคืออิสระภาพในการบรรเลง คนฟังก็ควรจะปล่อยใจให้เป็นอิสระจากวัตถุเครื่องมือ มุ่งเสพตัวโน๊ตดีกว่า

เมื่อบรรเลงครบชุด ก็ลาไปด้วยเพลงของจุฬาฯ เอง เสียงปรบมือไม่น้อยที่ปรบให้ส่งท้าย และวงต่อไปก็แสดงต่อเลยที่เวที 2 เพราะเวลาล่วงเลยมามากแล้ว จึงไม่มีการพักช่วงอย่างในตารางเวลา

James Taylor Quartet
Image

วง Acid Jazz จากอังกฤษ ที่ผมไม่รู้จักมาก่อน เปิดตัวด้วยเครื่องดนตรีที่หายากและมีเสียงที่เป็นเอกลักษณ์ Hammond C-3 ผมรู้สึกคุ้นชื่อเล็กน้อย ไม่รู้จักมากนัก ผมเปิดใจและสมองฟังอย่างสุดๆ เพราะไม่รู้จักวงนี้เลย และไม่ผิดหวังครับ สนุกจริงๆ ก่อนนี้ Acid Jazz ที่เคยฟังนั้นรู้สึกฟังยาก แต่คืนนี้สนุกนำ ความมันก็ตามมา สักพัก James Taylor ก็แนะนำนักร้องหญิงผิวหมึกขึ้นมาเพิ่มสีสรร สำเนียงอังกฤษของเธอนั้นฟังชัดครับทั้งขณะพูดคุยและขณะร้อง ทำให้ผมได้ความรู้ว่าร้องเพลงแนวนี้ไม่เห็นต้องดัดเสียงหรือสำเนียงแต่อย่างไร เธอขึ้นมาเพิ่มความสนุกจริงๆ เริ่มต้นจากชวนให้คนดูตบมือตามจังหวะ สักพักก็ชวนให้ลุกขึ้นเต้นเลย ผมเองก็สนุกมาก แต่ชอบที่จะโยกย้ายร่างกายในท่านั่งมากกว่า รู้สึกอายที่จะยืนเต้น แต่ไม่ใช่ไม่มีคนลุกขึ้นน่ะครับ เพียบ….ไม่รู้ว่าด้วยดนตรีหรือด้วยฤทธิ์อัลกอฮอร์ แต่ไม่ว่ากันครับ เรามีความสนุกเป็นที่ตั้ง

ไม่เพียงเท่านั้น ตอนใกล้จะจบเธอยังขอให้ผู้ชมเคลื่อนเข้าไปใกล้เวทีมากขึ้น โดยเฉพาะผู้ที่อยู่ไกลออกไป จะได้สนุกกัน อันนี้ไม่ค่อยได้ผลเท่าไหร่ แต่ขาเต้นยังไม่หยุด มันหยุดไม่ได้จริงๆ เพราะเพลงที่บรรเลงอยู่นั้นคัดมาสนุกแบบ Funny Back Guarantee จริงๆ (ไม่ใช่ Money Back Guarantee) แล้วเวลาก็เดินมาถึงช่วงท้าย เพลงจบลง นักดนตรีกล่าวขอบคุณแล้วเดินลงจากเวที แต่คนดูสิครับ อารมณ์ค้าง ต้องอังกอร์ (encore) ให้กลับมาแสดงต่อ James Taylor และคณะจึงต้องกลับมาปิดฉากความมันด้วยความมันให้จบจริงๆ อังกอร์ครั้งนี้เป็นธรรมชาติจริงๆ ครับ

แล้วการแสดงก็สลับมาที่เวที 1 โดยไม่พักช่วง

Koh Saxman featuring Bangkok Jazz All Stars

โก้ นักแซกโซโฟนรุ่นใหม่ของวงการเพลง Jazz แต่ฝีมือไม่ใหม่เพราะโต้คลื่นลมในวงการมานานในฐานะเบื้องหลัง และในวงบอยไทย คนฟังทั่วไปคงคุ้นกับเพลงดังที่เขาร้องนำ แต่ผมไม่ เพราะไม่นิยมนัก Sax แนวป็อปแจ๊สสักเท่าไหร่ ยิ่งเดี๋ยวร้องเดี๋ยวเป่าแล้ว สงสัยว่าจะเอาดีทางไหนกันแน่ แต่ก็เข้าใจครับ ทำงานดนตรีบ้านเราต้องให้ติด ไม่อย่างนั้นอด แต่ไม่รู้ว่าเมื่อไหร่จะพัฒนา

ผมรู้สึกเฉยกับการแสดง ไม่ได้คาดหวังอะไร แม้ฝีมือจะดี แต่ฟังเพลงแล้วเหมือน T-Square บ้าง เหมือน The Rippingtons บ้าง ก็ทำให้บางช่วงผมออกอาการหาวอยู่บ้างเหมือนกัน ทั้งที่อากาศยังไม่ชวนนอนเท่าไหร่ แต่ผมยังยืนยันน่ะครับว่าฝีมือดี ต่อมาก็เริ่มมีนักร้องรับเชิญคุณเจนนิเฟอร์ คิ้ม มาร้องเพลงไทยแบบบาลลาร์ด (Ballard เพลงช้าฟังสบาย) ทำให้ผมนึกถึงนักร้องของ James Taylor Quartet เพราะคุณคิ้มร้องเพลงไทยได้เพราะ แต่จะเพราะมากถ้าร้องให้ชัดถ้อยภาษาไทยจริงๆ ผมอยากฟังเพลงไทยที่ร้องชัดๆ เป็นเอกลักษณ์อย่างที่นักร้องรุ่นใหญ่ถือปฏิบัติไม่ว่าจะเป็นสวลี ผกาพันธุ์ เพ็ญศรี พุ่มชูศรี ดวงใจ ไพจิตรหรือกมลา สุโกศล ถ้าเป็นเพลงแจ๊สด้วยแล้วต้องเพราะกว่าเพลงฝรั่งแน่ ผมเปรียบกันวง JTQ ที่เพิ่งแสดงจบไป อย่างไรก็ดียังเป็นการร้องสด ไม่เหมือนงานเฉลิมพระเกียรติคืนก่อนที่เอานักร้องดังของค่ายใหญ่มากมายมายืนแสดงการลิปซิงค์ในเพลงพระราชนิพนธ์ “ความฝันอันสูงสุด” เมื่อไหร่จะพัฒนา

จากนั้นก็มีการเชิญนักดนตรี และนักร้องเพิ่มเติมมาร่วมแสดงอีก ก็ชวนผมหาวไปอีกหลายครั้ง แม้ว่าผมจะนั่งตรงกับลำโพงพอดี ซึ่งทำให้เวลาบรรเลงเต็มกำลังจะเสียงดังแผดขึ้นมาอย่างมากก็ตาม มีจังหวะมันๆ ก็ตอนมือเบสวาดลวดลายเดี่ยวเบสได้ถูกใจขึ้นมา เพราะผมเป็นคนชอบฟังกีตาร์เบส จบลงด้วยความประทับใจของผู้ชมทั่วไป ส่วนตัวผมละไว้ในฐานที่เข้าใจ

คนดูที่อยู่ใกล้เวทีก็อพยพอีกครั้งไปยังหน้าเวที 2 เพื่อชมวงต่อไป

MinaSwing
Image

ผมเห็นข้อมูลของวงนี้ผ่านๆ ว่าเป็นวงจากญี่ปุ่น ประเทศที่มีดนตรีแจ๊สแข็งแรงที่สุดในเอเชีย ก็รู้สึกสนใจว่าจะสนุกสนานแบบแนวสวิงแค่ไหน แต่เปิดตัวออกมาแบบบราซิล (Brazil มหาอำนาจลูกหนังโลกนั่นแหละครับ และยังเป็นแนวเพลงที่มีเอกลักษณ์อีกด้วย) และบอสซาโนวา (Bossa Nova) มีนักร้องนำที่เล่นกีตาร์ และนักเปียโนเป็นชาวบราซิล นักแซกโซโฟนจากอเมริกา ส่วนภาคจังหวะ (Rhythm section) ทั้งหมดจากญี่ปุ่นทั้งมือกลอง มือเครื่องเคาะ (percussion) และมือเบส 8 สาย!!! แต่พวกเขาเรียกตัวเองว่าวงนี้มาจากญี่ปุ่น

เพลงที่บรรเลงมีทั้งช้าและเร็วสลับกับไปได้อย่างน่าประทับใจ เพราะมีเอกลักษณ์เป็นของตัวเองดี อันนี้สำคัญที่สุด เพราะนักดนตรีระดับโลกทุกคนทุกคณะจะต้องมีแนวทางของตัวเอง ทั้งนี้ก็เป็นผลมาจากการศึกษาค้นคว้าและฝึกฝนอย่างหนักนั่นเอง

ผู้ฟังเองก็มีอารมณ์ร่วมเป็นอย่างดี มีการตบมือเข้าจังหวะ และชื่นชมนักดนตรีอยู่เป็นระยะที่มีการโซโล ผมเชื่อว่าวงหน้าใหม่อย่างวงนี้จะมีอนาคตอีกไกลเลยครับ

ผู้คนรีบกลับมาที่หน้าเวที 1 เพื่อชมการแสดงของนักดนตรีใหญ่ของวงการ ที่ขึ้นแสดงต่อเลย