งานการออกแบบของโจนาธาน ไอฟว์

ข้อมูลเสริมจากบทความเรื่อง เขาคือใคร โจนาธาน ไอฟว์ ที่ได้นำเสนอไปก่อนหน้านี้แล้ว เป็นการแนะนำผลงานที่ผ่านมาของนักออกแบบผู้ใส่ใจในสิ่งที่คนทั่วไปเองก็ยังไม่ได้สนใจว่าสิ่งนั้นคือสิ่งที่เขาต้องการ ทำให้ผลิตภัณฑ์ของแอ็ปเปิ้ล คอมพิวเตอร์เป็นที่ถวิลหาของผู้คนเสมอมา


งานการออกแบบของโจนาธาน ไอฟว์
โดย ปีเตอร์ เบอโรส์

นักออกแบบผู้เป็นกำลังหลักในการฟื้นตัวของแอ็ปเปิ้ล คอมพิวเตอร์ในช่วงปี 90 มีผลงานที่เป็นที่ชื่นชอบอยู่ค่อนข้างมาก รวมไปถึง ไอแม็ค และ ไอพ็อด ด้วย

ในฐานะรองประธานฝ่ายออกแบบของแอ็ปเปิ้ล คอมพิวเตอร์ โจนาธาน ไอฟว์ มีบทบาทสำคัญในการรักษาเอกลักษณ์อันโดดเด่นของผลิตภัณฑ์ต่างๆ ของแอ็ปเปิ้ลเอาไว้ โดยเริ่มต้นภายในคณะทำงานของเขาเอง เป็นกลุ่มนักออกแบบราวๆ หนึ่งโหลหรือมากกว่า ที่ทำงานร่วมกันจนยากที่จะถูกแผนกบุคคลของบริษัทอื่นมาดึงตัวไปได้ สิ่งที่ทำให้พวกเขาแตกต่างนั้นไม่ใช่เพียงความสามารถ แต่เป็นวิธีการทำงานของพวกเขาร่วมกับฝ่ายวิศวกรรมและฝ่ายการตลาดของแอ็ปเปิ้ล จริงแล้วยังมีผู้ผลิตสินค้าอีกด้วยที่ยังจะไม่กล่าวถึงในตอนนี้

ไม่ใช่แค่นั่งวาดรูปสวยๆ ได้ พวกเขาเป็นผู้นำในการค้นหาวัสดุใหม่ๆ มาใช้สร้างงาน ไปจนถึงการพัฒนากระบวนการผลิตให้ได้สินค้านั้นมา อย่างเช่นการเอาชั้นพลาสติกใสไปวางไว้บนตัวเครื่องทั้งสีขาวและสีดำของไอพ็อด มันเป็นคุณภาพงานในอีกระดับหนึ่งที่ไม่มีใครคาดคิด

Image

โจนาธาน ไอฟว์ เกิดในหมู่ชนชั้นกลางในลอนดอน ในช่วงแรกรุ่น เขาถลำลึกไปกับคำถามมากมายในสมองว่าสิ่งของต่างๆ รอบตัวเขามันสร้างขึ้นมาได้อย่างไร หลังจากสมัครเขาเรียนสาขาการออกแบบที่มหาวิทยาลัยนิวคาสเซิ่ล โพลีเทคนิค (Newcastle Polytechnic University) ความสามารถและพลังของเขาก็เป็นที่ประจักษ์ เขาเป็นนักเรียนเพียงคนเดียวที่ได้รับรางวัลออกแบบยอดเยี่ยมถึงสองครั้งจากราชศิลปะสมาคม (the Royal Society of the Arts) จากนี้ไปคือผลงานบางส่วนภายใต้ความรับผิดชอบของไอฟว์ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา

เครื่องส่งโทรสารแนวตั้ง Vertical Fax Machine
ภายหลังจากจบการศึกษาจากนิวคาสเซิ่ล โพลีเทคนิค ไอฟว์เข้าทำงานในบริษัทรับออกแบบเล็กๆ นามแทงเจอรีน (Tangerine) ที่เขาร่วมก่อตั้งและนี่คือเครื่องต้นแบบของเครื่องส่งโทรสารแนวตั้งที่เขาและเพื่อนร่วมงานช่วยกันออกแบบ แต่ไม่เคยออกสู่ตลาดจริง

Image

Apple Newton MessagePad 110, 1994
ระบบปฏิบัติการนิวตันเป็นที่รู้จักกันว่าล้ำสมัยเกินไป แถมยังบรรจุเอาระบบจดจำเสียงพูดที่ทำงานไม่ค่อยได้ผลสักเท่าไหร่เข้าไปอีกด้วย แต่ไอฟว์เองกลับได้รับเสียงปรบมืออย่างมากในการออกแบบตัวเครื่อง และกับเพื่อนร่วมงานก็ยอมรับในการทำงานของเขารวมไปถึงความไม่ประนีประนอม เขาไปทำงานกับผู้ผลิตในไต้หวันอยู่นานหลายสัปดาห์ ทุ่มเทอย่างไม่มีเหน็ดเหนื่อยในการสร้างฮาร์ดแวร์ที่เข้ากันได้กับซอฟแวร์ในตัวเครื่อง เขาทดลองแม้กระทั่งการขึ้นแบบสามมิติเพื่อสร้างเครื่องต้นแบบ เพื่อนร่วมงานคนหนึ่งระลึกความหลังได้ฟังว่า “เขาแทบจะไม่ได้นอนเลยราวสองสัปดาห์ และเขาให้ความสำคัญกับรายละเอียดต่างๆ เป็นอย่างมาก”

Image

iMac, 1998
นี่คือผลิตภัณฑ์ที่กรุยทางให้แอ็ปเปิ้ลฟื้นตัวกลับมา และสร้างชื่อเสียงและความนิยมให้กับไอฟว์เป็นอย่างยิ่ง กลายเป็นเรื่องปกติธรรมดาไปแล้วเมื่อสตีฟ จ็อบส์อยากเห็นเครื่องแบบออล-อิน-วัน (all-in-one model) เป็นคอมพิวเตอร์ที่รวมเอาตัวเครื่องจะจอภาพเข้าไว้ด้วยกัน มันสามารถเชื่อมต่อกับอินเตอร์เน็ตได้ไม่ยากเย็นนักและไม่มีฟลอปปี้ไดรฟ์ให้ใช้อีกต่อไป แต่สิ่งที่คณะทำงานของไอฟว์สร้างออกมาคือเจ้าเครื่องสีฟ้าใสที่ถึงขนาดต้องออกไปดูงานที่โรงงานผลิตลูกกวาดเพื่อให้เข้าใจถึงขึ้นตอนสำคัญในการผสมสีให้ได้ออกมาสดใสเหมือนขนมน่ากินนั้น เครื่องไอแม็ครุ่นแรกและลูกหลานหลากสีสร้างความสนุกสนานเมื่อได้พบเห็นให้กับผลิตภัณฑ์ของแอ็ปเปิ้ล จนกระทั่งผลิตภัณฑ์ที่ซับซ้อนและหรูหราในเวลาต่อมานั่นคือไอพ็อด

Image

Apple Cinema Display, 2004
เมื่อเปิดตัวครั้งแรกในปี 1999 โดยตัวเครื่องทำจากพลาสติก Cinema Display ช่วยให้การทำงานกับเอกสารหลายๆ เอกสารพร้อมกันสะดวกยิ่งขึ้น หรืออยากจะใช้ดูหนังก็ไม่ผิดกติกา นั่นเป็นเพราะสัดส่วนที่มีความกว้างมากกว่าความสูงและความละเอียดที่เหนือกว่าคู่แข่งในตลาด เครื่องรุ่นใหม่เปิดตัวในปี 2004 แสดงออกถึงชั้นเชิงการออกแบบระดับเซียนที่ทำให้ดูเหมือนจอภาพลอยอยู่บนโต๊ะด้วยขาตั้งที่มีกลไกลซับซ้อนหลอกสายตาอยู่ข้างหลัง ตัวเครื่องที่ทำจากวัสดุอลูมิเนียมชุบอะโนไดซ์ทำให้ได้เปรียบที่น้ำหนักที่เบาลง ทำให้มันปรับมุมมองได้ง่ายกว่าและไม่ทำให้ตัวเครื่องขยับจากที่ตั้งโดยง่าย

Image

PowerMac Cube, 2000
นานมาแล้วที่ไอฟว์มักจะปรารภถึงความต้องการส่วนตัวที่อยากจะให้การออกแบบผลิตภัณฑ์ของแอ็ปเปิ้ลนั้นเป็นหนึ่งเดียวกับคุณประโยชน์ของมันโดยที่คุณไม่ต้องสนใจรูปลักษณ์ภายนอกเลย และหกปีที่แล้วเครื่องคอมพิวเตอร์ที่ใช้การออกแบบศิลปอุสาหกรรมล้วนๆ เครื่องนี้ก็บังเกิดขึ้น ไม่สนใจว่านี่จะเป็นการชดเชยความรู้สึกเมื่อครั้งที่เครื่องรูปทรงลูกบาศก์ของเน็กซ์ คอมพิวเตอร์ (NeXT Computer) ล้มเหลวหรือไม่ (จ็อบส์ยืนยันว่าไม่ใช่แน่นอน) ความพยายามครั้งนั้นก็จบลงไม่ค่อยสวยนัก ขณะที่มันเป็นที่กล่าวขวัญถึงในเรื่องขนาดที่เล็กกระทัดรัดและระบบระบายความร้อนที่เป็นที่ถูกใจผู้คน มันกลับถูกถอดออกจากตลาดไปด้วยอายุไม่ถึงหนึ่งขวบด้วยซ้ำ เนื่องด้วยเสียงบ่นเรื่องราคาที่สูงเกินไปและพบว่ามีรอยร้าวเกิดขึ้นหลายแห่งบนตัวเครื่องที่ทำจากพลาสติก

Image

iPod, 2001
เมื่อครั้งที่แอ็ปเปิ้ลส่งไอพ็อดลงสู่สนามมีเครื่องเล่นเพลงดิจิตอลมากมายอยู่แล้วในตลาด แต่ไม่มีเครื่องใดเลยที่รวมเอาทั้งการใช้สอยและรูปลักษณ์เข้าด้วยกันได้อย่างลงตัว เห็นได้จากองค์ประกอบที่ล้ำหน้าคนอื่นอยู่หลายส่วนเช่นสกรอลวีล (scroll wheel) ที่ผู้คนชื่นชอบ รวมถึงแรงจูงใจอีกมากมายที่ทำให้มันป็นเครื่องเล่นเพลงที่ผู้คนถวิลหา อย่างเช่นแอ็ปเปิ้ลเป็นผู้ริเริ่มการใช้กระบวนการฉีดแบบที่วางชั้นของพลาสติกใสไว้บนตัวเครื่องสีขาวที่ทำให้มีมุมมองที่เลิศหรูดูมีราคา

Image

Titanium Powerbook, 2002
ก่อนที่ ดานีล เดอ ลูลิส (Daniele De Iuliis) นักออกแบบของแอ็ปเปิ้ลและเพื่อนร่วมงานอีกสองคนจะเริ่มต้นออกแบบ วัสดุไททาเนียมมีใช้ในงานที่ต้องการความแข็งแรงไปพร้อมๆ กับวัสดุที่น้ำหนักเบา อย่างเช่นในวงการกอล์ฟ การผลิตแร็คเก็ตเทนนิส ไปจนถึงการผลิตใบมีดโกน หลังจากการเสาะหามานานถึงขั้นที่ต้องพัฒนากระบวนการผลิตทั้งหมดขึ้นมาใหม่ ในที่สุดก็ได้แล็ปท็อปที่บางที่สุดเท่าที่เคยมีมา ด้วยสัดส่วนเย้ายวนใจด้วยควมหนาเพียง 1 นิ้ว และน้ำหนักเบาเพียง 5.3 ปอนด์ ผลที่ได้กลับมานั้นมากกว่าที่คิด นี่เป็นครั้งแรกของการพบกันของผลิตภัณฑ์ด้านเทคโนโลยีกับอุตสาหกรรมศิลป์ชั้นแนวหน้า

Image

iMac, 2002
บางคนเรียกมันว่าไอแม็ครุ่นโดม ก็เพราะรูปลักษณ์ของส่วนฐานที่รวมเอาตัวเครื่องจริงๆ ทั้งหมดเอาไว้ บางก็เรียก แม็ครุ่น “โคมไฟ” เนื่องจากชิ้นส่วนคอที่ทำจากสเตนเลสสตีลอย่างมั่นคงแข็งแรงเพื่อให้ผู้ใช้สามารถปรับระดับจอแอลซีดี (LCD Display) ได้ตามที่ต้องการ (ไอฟว์เคยเขียนอธิบายไว้ที่พิพิธพัณฑ์การออกแบบว่า “การออกแบบส่วนคอแบบนั้นทำให้ผู้คนใช้มันไม่ถูกเท่าไหร่”) ไม่ว่าจะใช้มันอย่างไร มันก็ดูน่าตื่นตาตื่นใจ เป็นวิวัฒนาการครั้งสำคัญจากเครื่องไอแม็ครุ่นแรกที่ใช้จอ CRT (cathode ray tube) ที่หนาเทอะทะ มาเป็นรูปลักษณ์แบบที่ไม่มีตัวเครื่องเลยในปัจจุบัน มันดูราวกับจอภาพที่ขนาดใหญ่กว่าปกติทั่วไปนิดหน่อยเท่านั้นเอง

Image

Mac mini, 2005
แม้ว่า PowerMac G4 Cube จะจากสายการผลิตไปแล้ว แต่แอ็ปเปิ้ลไม่เคยล้มเลิกความตั้งใจที่จะสร้างเครื่องคอมพิวเตอร์ที่มีขนาดเล็กกระทัดรัด และขณะที่เจ้า G4 Cube ถูกกำหนดทิศทางโดยแอ็ปเปิ้ลว่าเป็นเครื่องที่คุณอาจจะอยากวางไว้บนโต๊ะกาแฟในห้องนั่งเล่นของคุณ Mac mini สะท้อนถึงวิธีคิดของแอ็ปเปิ้ลที่ล้ำกว่าแต่ใช้งานได้จริง ด้วยน้ำหนักเพียง 2.9 ปอนด์ เจ้ากล่องสีขาวเล็กๆ กล่องนี้สามารถใช้ทำงานเป็นคอมพิวเตอร์เครื่องหลักของคุณได้เลย หากคิดจะพาไว้วางข้างๆ จอโทรทัศน์เพื่อความบันเทิงในครอบครัวก็ไม่ว่ากัน แม้ว่ามันจะไม่เหมาะกับการใช้งานหนักๆ แต่แอ็ปเปิ้ลก็วางตำแหน่งผลิตภัณฑ์ให้มันว่าเหมาะสำหรับห้องนั่งเล่นของคุณไม่น้อย

Image

iMac, 2005
คณะทำงานของไอฟว์ได้ทำให้เครื่องพีซีหายไปได้สำเร็จด้วยการจับเอาเครื่องเคราทั้งหลายไปไว้ด้านหลังจอแอลซีดี ใครจะปฏิเสธว่านี่ไม่ใช่แนวทางการออกแบบเครื่องคอมพิวเตอร์ในอนาคตสำหรับทุกๆ คน แล้วทำไมผู้คนในวงการยังไม่เดินตามมาอีก และแน่นอนว่าสถานการณ์มันไม่เหมือนการออกแบบไอพ็อด หากเครื่องเล่นเพลงขนาดกระทัดรัดสามารถทำงานร่วมกับเครื่องพีซีในระบบวินโดวส์ (Windows-based PCs) ได้เป็นอย่างดี มันก็คงจะมีให้เห็นที่บ้านมากขึ้น แต่ปัจจุบันยังเป็นแอ็ปเปิ้ล ไอแม็คเท่านั้นที่ครองใจ

Image

iPod nano, 2005
จะมีผู้ที่ศรัทธาในแอ็ปเปิ้ลจำนวนมากแค่ไหนที่หลงรักนาโนเครื่องนี้ ก็มากพอที่จะแซงหน้ายอดขายไอพ็อด มินิ (iPod mini) ที่ความต้องการเริ่มลดลงได้ไม่ยากเลยทีเดียว แม้ว่าจะไม่เล็กจนเทียบได้กับไอพ็อด ชัฟเฟิ้ล (iPod shuffle) นาโนก็มาพร้อมกันความจุที่มากกว่าและจอสี ไม่แปลกใจเลยที่มันจะได้ทั้งเงินและกล่องในเวลาเดียวกัน คู่แข่งแทบจะล้มหายตายจากไปท้องตลาดทำให้แอ็ปเปิ้ลเป็นผู้นำการออกแบบเครื่องในรูปทรงนี้ได้ไม่ยากเย็น บ้างก็ยังสงสัยว่าแอ็ปเปิ้ลจะใช้รูปทรงแบบนี้ไปอีกนานเท่าไหร่ ก่อนที่จะปรับปรุงการใช้งานครั้งใหญ่ในอนาคต

Image

Apple Remote, 2006
ความสำเร็จในการออกแบบของแอ็ปเปิ้ลส่วนใหญ่เป็นเพราะคนทั่วไปไม่ได้สนใจว่าสิ่งนั้นคือสิ่งที่เขาต้องการ แต่ไม่ใช่เจ้ารีโมตของแอ็ปเปิ้ล เปิดตัวครั้งแรกในเดือนตุลาคม 2005 พร้อมกันกับความพยายามของแอ็ปเปิ้ลที่จะเพิ่มยอดขายเพลงและรายการโทรทัศน์ทางไอทูนส์สโตร์ (iTunes store) เจ้ารีโมตตัวนี้มีปุ่มเพียง 6 ปุ่ม ที่จะช่วยให้ผู้ใช้เข้าถึงรูป, เพลง, หนังและดูดีวีดีในเครื่องได้โดยยังนั่งสบายอยู่บนเก้าอี้ตัวโปรด ทางแอ็ปเปิ้ลเองก็พยายามเปรียบเทียบให้เห็นว่ารีโมตของคู่แข่งที่มีปุ่มมากถึง 40 ปุ่มนั้นมันมากเกินไป ยิ่งะมีคนพยายามแย้งว่าแอ็ปเปิ้ลพยายามออกแบบให้เป็นมินิมอลลิส (minimalist – แนวการออกแบบที่ตัดส่วนที่ไม่จำเป็นออกไปให้หมด -ผู้แปล) มากไปหน่อย ก็ยิ่งทำให้ปฏิเสธไม่ได้ว่าคราวนี้แอ็ปเปิ้ลมาไม่ถูกทางสักเท่าไหร่

Image

MacBook, 2006
ในช่วงปีที่ผ่านมา จุดมุ่งหมายของแอ็ปเปิ้ลอยู่การเปลี่ยนผ่านการใช้ชิพ PowerPC ไปใช้ชิพจากอินเทล (Intel) ในทุกสายของผลิตภัณฑ์ สิ่งที่แสดงออกในเครื่องแมครุ่นใหม่ๆ นั่นยังคงเป็นเพียงชิ้นส่วนภายในเครื่องมากกว่ารูปลักษณ์ภายนอก ขณะที่โนตบุครุ่นใหม่ทำยอดขายถล่มทลาย มันได้รับคำชมน้อยกว่าเมื่อครั้งเปิดตัว PowerBook แต่โอกาสยังเป็นของคณะทำงานของไอฟว์ สำหรับการเปิดตัวเครื่องที่ใช้ชิพของอินเทลรุ่นต่อไปของแอ็ปเปิ้ลที่ควรจะตื่นตาตื่นใจกว่านี้ เมื่อไหร่ที่แอ็ปเปิ้ลเข้าใจถึงศักยภาพของชิพรุ่นใหม่อย่างลึกซึ้งแล้วหล่ะก็ เราคงจะได้เห็นกัน

Image

iPod Hifi (woofer), 2006
ในช่วงต้นปี 2006 มีการเปิดตัวเจ้าลำโพงแบบพกพาเครื่องนี้ หากว่านี่ไม่ใช่ผลิตภัณฑ์ของแอ็ปเปิ้ลแล้วหล่ะก็ คงถูกนักวิจารณ์สับจนไม่เหลือชิ้นดี แม้ว่ามันจะให้พลังเสียงที่ดีกว่าคู่แข่งก็ตาม มันก็ดูเหมือนจะเดินตามรอยเจ้าเครื่องไอพ็อดมากไป มันไม่ได้ถูกออกแบบมาให้โดดเด่นด้วยตัวเอง แต่กลับขอติดสอยห้อยตามไปกับความนิยมในตัวไอพ็อด แม้ว่าจะเป็นผลิตภัณฑ์ของแอ็ปเปิ้ล หากใครจะยกย่องสรรเสริญว่าเป็นการกรุยทางให้แนวออกแบบแนวใหม่ ก็ดูเหมือนว่าจะไม่เป็นที่ยอมรับเสียเท่าไหร่

Image


ที่มา Ive’s Portfolio – An Ive for Design by Peter Burrows จาก BusinessWeek online ฉบับวันที่ 25 กันยายน 2549

ภาพทั้งหมดเป็นลิขสิทธิ์ของ BusinessWeek – All photos are copyright of BusinessWeek. All Rights Reserved.

รวมรวมคำศัพท์ที่ได้จากบความนี้

ข้อมูลเพิ่มเติมจาก Design Museum London

update:
4 ธันวาคม 2549 – ปรับปรุงคำแปลและข้อมูลให้แม่นยำยิ่งขึ้น