นอกจากเว็บไซต์ไนกี้พลัสใหม่ที่มาอย่างกระทันหันแล้ว ไม่กี่วันถัดมาระยะทางเก้าพันกิโลเมตรก็มาถึงโดยไม่ทันตั้งตัวเช่นกันทั้งที่ไม่เคยพลาดการติดตามข้อมูลการวิ่งและวางแผนการวิ่งอยู่ตลอด แถมยังแวะเวียนไปเลือกดูรองเท้าคู่ใหม่อยู่เนืองๆ กลางสัปดาห์ที่สามของเดือนมิถุนายนเป็นวันที่ชีวิตได้เดินทางมาถึงหมุดหลักสำคัญอีกครั้ง
สำหรับเหตุที่กว่าจะได้ลงมือเขียนบันทึกเรื่องนี้ เวลาก็ล่วงเลยมาเกือบสามเดือนแล้วนั้นเพราะว่าภารกิจของครอบครัวหลายอย่างในช่วงที่ผ่านมาจำเป็นต้องลงมือทำให้สำเร็จเสียก่อน เมื่อเสร็จแล้วก็ต้องติดตามว่าเข้าที่เข้าทางหรือยัง จนกระทั่งต้องขุดตัวเองขึ้นมาลงมือเรียบเรียงบันทึกนี้ให้เรียบร้อยก่อนงานอื่นๆ ต่อไป
9000KM
หมุดหลักนี้สำคัญอย่างไร แรกทีเดียวตั้งใจว่าจะเปลี่ยนรองเท้าวิ่งใหม่เมื่อใช้มาไกลถึงสามพันกิโลเมตรแล้ว ต่อมามีเหตุปัจจับอีกหลายอย่างสนับสนุนให้สามารถเปลี่ยนอุปกรณ์สำหรับช่วยออกกำลังกายใหม่ทั้งหมด แทบจะเรียกได้ว่าเป็นชีวิตการวิ่งครั้งใหม่ก็ว่าได้
มีการปรับเปลี่ยนระบบเว็บไซต์ไนกี้พลัสใหม่อีกครั้งในวันที่ 7 มิถุนายนหลังจากที่ประกาศมาตั้งแต่ต้นปี ระยะทางสะสมยังขาดอยู่ประมาณสี่สิบกิโลเมตร บวกกับภารกิจของครอบครัวเข้ามาแบ่งเวลาและความสนใจไปจากแผนการวิ่ง ปรากฏว่าเช้าวันพุธต่อมา วันที่ 13 มิถุนายน ก็ได้เดินทางมาถึงระยะ 9,000 กิโลเมตรอย่างเป็นทางการแล้ว
นี่คือหน้าแรกของเว็บไซต์ไนกี้พลัสใหม่ที่ทางไนกี้สัญญาว่าจะแสดงผลได้ดีกว่าเดิม เร็วกว่าเดิม สร้างแรงบันดาลใจได้มากกว่าเดิม
*คลิ้กที่แต่ละรูปเพื่อดูขนาดเต็ม
ต่อมาเป็นหน้า Profile แสดงข้อมูลประจำตัว รายการรางวัลที่เคยได้จากระบบ รายชื่อเพื่อนและ Dashboard แสดงเป้าหมายที่กำหนดไว้ (GOAL) ข้อมูลการออกกำลังล่าสุด 7 ครั้งและข้อมูลสรุป
หน้านี้เป็นข้อมูลการวิ่งวันนี้ที่ทำระยะทางได้ 8.4 กิโลเมตร ใช้เวลาไป 1 ชั่วโมง 11 นาที 51 วินาที ความเร็วเฉลี่ย 8 นาที 33 วินาทีต่อกิโลเมตร เผาผลาญพลังงานไป 803 แคลอรี รวมถึงคะแนน NikeFuel ที่เริ่มแสดงในเว็บใหม่นี้ ด้านล่างเป็นข้อมูลความเร็วในแต่ละกิโลเมตรที่ผ่านไปพร้อมการเปลี่ยนแปลงว่าเร็วขึ้นหรือช้าลง เพิ่งมาปรากฏในเว็บไซต์สำหรับเมืองไทยทั้งที่มีในหน้าของอเมริกามานานแล้ว
ต่อมาเป็นข้อมูลของสัปดาห์ แต่มีปัญหาการแสดงผลวันจันทร์เป็นวันเริ่มต้นจึงปรากฏระยะทางรวมเพียงยี่สิบห้ากิโล และ ข้อมูลทั้งเดือนที่เป็นวันสะสมถึง 100 กิโลเมตรพอดีอีกด้วย โดยมีแนวโน้มความเร็วที่วิ่งไป สรุปสถิติต่างๆ อีกมากมาย
สรุปข้อมูลการวิ่งตั้งแต่ต้นปี 2555 สามารถสะสมระยะทางไปได้แล้ว 846.25 กิโลเมตร ใช้เวลาทั้งหมด 119 ชั่วโมง 27 นาที 20 วินาที ความเร็วเฉลี่ย 8 นาที 28 วินาทีต่อกิโลเมตร เผาผลาญพลังงานไปถึง 77,703 แคลอรี และข้อมูลใหม่คือ NikeFual สะสมได้ถึง 178,951 คะแนน
ส่วนข้อมูลการออกกำลังทั้งหมดตั้งแต่เริ่มสรุปได้ว่า เดิน/วิ่งมาแล้วทั้งหมด 1,185 ครั้ง รวมเป็นระยะทาง 9,003.46 กิโลเมตร ใช้เวลาทั้งหมด 1,236 ชั่วโมง 14 นาที 45 วินาที ความเร็วเฉลี่ย 8 นาที 14 วินาทีต่อกิโลเมตร เผาผลาญพลังงานไปทั้งสิ้น 807,752 แคลอรี สะสม NikeFuel ได้ถึง 1,903,890 คะแนน
ถือว่าเป็นความภูมิใจที่สร้างขึ้นมาด้วยหยาดเหงื่อ แรงกายและพลังสมอง ด้วยเป้าหมายเดียวคือสุขภาพที่แข็งแรงอย่างยั่งยืน ความช่วยเหลือของเทคโนโลยีทำให้สิ่งที่จับต้องได้ยากหรือจับต้องแทบไม่ได้เลย ปรากฏเป็นข้อมูลสำหรับศึกษาเรียนรู้สิ่งที่ผ่านมาเพื่อกำหนดสิ่งที่จะทำต่อไปด้วยสติปัญญา
Nike Air Pegasus+ 28
มาดูกันก่อนว่า Nike Air Pegasus+ 26 รองเท้าที่ใช้วิ่งจนถึงหมุดหลักสำคัญครั้งนี้มีสภาพเป็นอย่างไรเมื่อถึงเวลา
ที่สึกหรออย่างมีนัยสำคัญคือส้นรองเท้า เห็นได้ชัดว่าพื้นส้นรองเท้าด้านนอกสึกไปมากกว่าด้านใน เป็นหลักฐานสำคัญที่ช่วยให้เข้าใจรูปแบบการบิดของข้อเท้าขณะลงน้ำหนักในการเดิน/วิ่งแต่ละก้าวอย่างดี อธิบายได้ว่าเมื่อวางเท้าลงบนพื้นแล้ว ข้อเท้ามีการบิดตัวออกด้านนอกมากว่า คำศัพท์ทางการว่า over pronation อย่างที่เคยบันทึกไว้เมื่อครั้งที่เริ่มใช้รองเท้าคู่นี้ บวกกับน้ำหนักตัวที่ยังมากอยู่ทำให้ลักษณะของรองเท้าวิ่งที่เหมาะสมคือรุ่นที่รองรับแรงกระแทกได้เป็นอย่างดี หรือเรียกว่าประเภท cushioning
เท่าที่ติดตามรุ่นรองเท้าเพื่อประกอบการเลือกซื้อรองเท้าใหม่ คาดหวังว่าคู่ต่อไปน่าจะพอดีเวลาที่ Air Pegasus+ 29 วางจำหน่ายอย่างเป็นทางการพอดี แต่เมื่อระยะทาง 9000KM มาอย่างกระทันหันทำให้ต้องยอมรับ Air Pegasus+ 28 ที่มีให้เลือกอยู่ไปก่อน บ่ายวันรุ่งจึงรีบออกไปหาซื้อมาเตรียมเข้าประจำการโดยไม่รอช้า แถมได้สีที่ถูกใจเสียด้วย
ส่วนตัวแล้ว สิ่งใหม่ที่ปรากฏในรุ่นนี้ก็มี Flywire technology ที่กลางรองเท้าสำหรับปรับรูปให้เข้ากับเท้าของเราได้ดียิ่งขึ้น รองเท้าคู่ก่อนคือ Nike Zoom Victory+ ที่เคยใช้อยู่ก็มีเช่นกัน สิ่งใหม่อีกอย่างหนึ่งคือ Heel cup ที่ทำหน้าที่บังคับส้นเท้าของเราให้อยู่กับที่ไม่บิดตัวเมื่อลงน้ำหนัก พบเห็นครั้งแรกในการเปิดตัว Nike LunarGlide+ รุ่นแรก
การเปลี่ยนรองเท้าวิ่งไม่ได้ง่ายเหมือนกันเปลี่ยนถุงเท้าเนื่องจากเท้าของเราปรับตัวเข้ากับรองเท้าคู่เดิมอย่างช้าๆ จนเป็นหนึ่งเดียวกัน พื้นรองเท้าค่อยๆ สึกหรอไปทีละน้อย เท้าของเราก็ปรับตัวตามไปทีละน้อยเช่นกัน จากภาพข้างบนจะเป็นได้ชัดว่าพื้นรองเท้า Air Pegasus+ 26 หมดไปมากเท่าไหร่ เมื่อต้องมาใช้รองเท้าใหม่ที่มีพื้นรองเท้าเต็ม เท้าของเราก็ต้องทำความรู้จักกับเพื่อนใหม่เช่นกัน ไหนจะเนื้อโฟมที่รับแรงกระแทกใหม่ ความยืดหยุ่นอาจจะยังไม่เข้าที่ พื้นรองเท้าใหม่ประกอบกับ Heel cup ที่ช่วยดูแลส้นเท้าของเราไปตลอดการวิ่ง เรียกได้ว่าเป็นขั้นตอนที่มีความน่าสนใจไม่น้อยเลยทีเดียว
ตั้งใจว่าจะตามดูรองเท้าใหม่สักสิบวันเพื่อให้การเปลี่ยนผ่านราบรื่นที่สุด
Day 1 – 16 มิ.ย. 2555 – เท้าเริ่มเรียนรู้พื้นรองเท้าใหม่และสิ่งใหม่ที่เรียกว่า Heel cup
Day 2 – 17 มิ.ย. 2555 – เริ่มปรับตัวเข้ากับรองเท้าใหม่ได้ดีขึ้น
Day 3 – 18 มิ.ย. 2555 – รู้สึกว่าความเร็วตกลงมากทั้งที่วิ่งเหมือนเดิม, เริ่มปรับตัวเข้ากับรองเท้าใหม่ได้ดีขึ้น
Day 4 – 19 มิ.ย. 2555 – พบว่า Nike+ Sensor ที่รองเท้าน่าจะเริ่มมีปัญหา, เริ่มปรับตัวเข้ากับรองเท้าใหม่ได้ดีขึ้น
Day 5 – 22 มิ.ย. 2555 – พบความเร็วที่วัดได้จาก Nike+ Sensor มีปัญหาแน่นอน, แทบจะปรับตัวเข้ากับรองเท้าใหม่ได้แล้ว
Day 6 – 25 มิ.ย. 2555 – ทดลองผูกเชือกรองเท้าให้แน่นขึ้น ปัญหาเรื่องความเร็วดูเหมือนจะหมดไป, การเปลี่ยนผ่านสู่รองเท้าใหม่ใกล้สมบูรณ์แล้ว
Day 7 – 26 มิ.ย. 2555 – ปัญหาเรื่องความเร็วยังคงพบอยู่, การเปลี่ยนผ่านสู่รองเท้าใหม่ใกล้สมบูรณ์แล้ว
Day 8 – 28 มิ.ย. 2555 – ชุดรับแรงกระแทกของรองเท้าใหม่ดีจริงๆ, การวัดความเร็วของ Nike+ Sensor ยังมีปัญหาอยู่
Day 9 – 30 มิ.ย. 2555 – การเปลี่ยนผ่านสู่รองเท้าคู่ใหม่สำเร็จเรียบร้อยแล้ว
ปรากฏว่าทำได้แค่เก้าวันแต่ก็ผ่านไปได้ด้วยดีจนรองเท้าใหม่พร้อมแล้วสำหรับการใช้งานแม้จะต้องหยุดไปบ้างเนื่องจากภารกิจสำคัญของครอบครัวที่กำลังย้ายบ้าน
เมื่อเสร็จภารกิจการย้ายที่พำนักจากบ้านมาอยู่ที่อาคารชุดไม่ใกล้ไม่ไกลจากเดิมนัก ก็ต้องเริ่มต้นกันใหม่อีกครั้งกับอุปกรณ์สำหรับการออกกำลังใหม่ทั้งหมด ประกอบไปด้วย iPod nano เครื่องใหม่, Nike + iPod Sport Kit ชุดใหม่, Nike Air Pegasus+ 28 คู่ใหม่ และอุปกรณ์วัดอัตราการเต้นของหัวใจ Polar WearLink®+ transmitter Nike+ ที่มาช่วยเสริมทัพครั้งใหม่ เพราะจำเป็นต้องเรียนรู้การใช้งานและการวิ่งบนลู่วิ่งไฟฟ้าที่มีให้บริการอยู่
Day 4 – 12 ก.ค. 2555 – วันที่ 4 ของการหัดใช้งานลู่วิ่งไฟฟ้าเป็นวันที่ 3 ของการใช้อุปกรณ์ชุดใหม่นี้
ในเว็บไนกี้พลัสมีการแสดงอัตราการเต้นของหัวใจให้ดูควบคู่ไปกันระยะทาง
หากต้องการดูข้อมูลหัวใจอย่างเดียวก็เพียงคลิ้กที่ปุ่ม Heart Rate ทางมุมซ้ายบน
สามารถเลื่อนดูช่วงอัตราเร็วที่หัวใจเต้นได้ว่าคิดเป็นช่วงเวลานานเท่าไหร่ในการวิ่งครั้งนี้ ข้อมูลนี้ดีอย่างไร เราจะได้เข้าใจว่าที่กำลังออกกำลังกายอยู่นั้น ‘หนัก’ พอหรือเปล่า ยิ่งหากต้องการลดความอ้วนข้อมูลนี้จะช่วยให้วางแผนการออกกำลังให้สัมฤทธิ์ผลอย่างที่หวัง
การคำนวณอัตราการเต้นของหัวใจที่เหมาะสมคือ นำอายุไปลบออกจาก 220 จะได้ตัวเลขอัตราการเต้นของหัวใจสูงสุดสำหรับตัวเอง จากนั้นวางแผนให้ออกกำลังจนกระทั่งหัวใจเต้นอยู่ที่ระดับ 80% ของอัตราสูงสุดเป็นระยะเวลานานมากพอก็จะเผาผลาญไขมันให้น้อยลงไปได้ ผลก็คือน้ำหนักตัวลดลงนั่นเอง
อุปกรณ์ใหม่ชุดนี้จะได้ทำหน้าที่อย่างดีเพื่อเป้าหมายเรื่องการสร้างสุขภาพที่มุ่งมั่น แต่ยังมีปัจจัยเรื่องการปรับตัวเข้ากับที่อยู่ใหม่และภารกิจต่างๆ เพิ่มเข้ามาในแผนการออกกำลัง ถือว่าเป็นพัฒนาการของชีวิตขึ้นไปอีกขั้นหนึ่ง
The New Nike+ Website
เห็นเว็บไซต์ไนกี้พลัสใหม่แล้วช่างน่าตื่นตาตื่นใจยิ่งนัก ที่เห็นได้ชัดเจนคือส่วนประกอบต่างๆ มีขนาดใหญ่ขึ้นจนต้องปรับแสดงผลให้เต็มหน้าจอ 15 นิ้วที่ใช้งานอยู่ นอกจากหน้า Home Page ที่จะแสดงข้อมูลสรุปจากผู้ใช้ Nike+ ทั่วทุกมุมโลกแล้วมาดูกันว่ามีอะไรใหม่บรรจุไว้บ้าง
หน้า Profile
มาดูสรุปข้อมูลการออกกำลังที่ผ่านมา จะได้ทราบคะแนน NikeFuel ที่สะสมได้, ระยะทางรวมที่สะสมได้, จำนวนครั้งทั้งหมดที่ออกกำลังกาย และความเร็วเฉลี่ยจากการออกกำลังกายทั้งหมดที่ผ่านมา หากคลิ้กรูปสามเหลี่ยมที่ขอบล่างของกรอบนี้จะแสดงข้อมูล ‘ดีที่สุด’ เพิ่มอีก
นั่นคือ ระยะทางที่เคยทำได้ไกลที่สุด, ระยะเวลาที่เคยใช้มากที่สุด, เวลาต่อระยะทาง 1 ไมล์ที่น้อยที่สุด และ แคลอรี่ที่เคยเผาผลาญมากที่สุด ในการออกกำลังหนึ่งครั้ง
ที่ขอบซ้ายมือดูเหมือนมีหางริบบิ้นสีดำอยู่ ลองชี้ดูพบว่ามีระยะทางบอกว่าเหลืออีกกี่กิโลเมตรจะถึง ระดับขั้น Level ถัดไป
หากคลิ้กที่เครื่องหมายคำถามจะพบข้อมูลอธิบายว่า เมื่อสามารถสะสมระยะทางได้ถึงกิโลเมตรที่เท่าไหร่แล้วจะได้เลื่อนขั้นถัดไป มีสีประจำแต่ละขั้นเป็นตัวช่วยแสดงความแตกต่าง
ลองชี้ที่จุดดูจะแสดงระยะทางสำหรับระดับขั้นย่อยให้เห็นชัดๆ
สิ่งสำคัญคือมีหมุดหลักใหม่ที่ระยะ 15000KM ใช่แล้ว ‘หนึ่งหมื่นห้าพันกิโลเมตร’ เป็นสีเขียวตองอ่อน หลังจากที่มีสีดำเป็นขั้นสูงสุดมาตั้งแต่เริ่มเปิดบริการ
ถัดลงมาเป็นรายการรางวัลทั้งหมดที่เคยได้รับ ระบบจะคอยให้รางวัลอยู่เนืองๆ เพื่อเป็นกำลังใจ
จะเห็นโล่ห์ Anniversary มีถึง 5 โล่ห์ หมายถึงวันครบรอบการใช้งาน Nike+ ผ่านไปแล้วถึง 5 ปี
ต่อมาเป็นกิจกรรมที่เพิ่งผ่านไป สามารถเลือกดูได้ 3 รายการล่าสุดด้วยการคลิ้กที่ปุ่มด้านล่าง
ดูกราฟความเร็วและข้อมูลสรุปรวมของการออกกำลังแต่ละครั้งได้อย่างรวดเร็ว
หน้า Dashboard
เริ่มต้นหน้านี้ด้วย Goal แสดงความก้าวหน้าของเป้าหมายที่ตั้งขึ้นเพื่อท้าทายตัวเองให้มุ่งมั่นออกกำลังกายยิ่งขึ้น
คลิ้กที่แถบนี้จะปรากฏคำอธิบาย ปุ่มสำหรับปรับแต่ง และปุ่มสำหรับเผยแพร่ Goal นี้ผ่านทาง Facebook และ Twitter ได้อีกด้วย
ต่อมาคือข้อมูลการออกกำลังกาย 7 ครั้งล่าสุด สามารถคลิ้กดูทีละรายการได้ที่แท็บทางซ้ายมือ เมื่อเทียบกับส่วน Recent Activity ในหน้า Profile ตรงนี้มีข้อมูลประจำการออกกำลังที่บันทึกเอาไว้แสดงคู่กันไปด้วย รวมถึงปุ่มสำหรับเผยแพร่ไปที่ Facebook และ Twitter
ทางขวามือมีสรุปข้อมูลสั้นๆ แสดงระยะทางรวมที่ผ่านมา, ความเร็วเฉลี่ยจากการออกกำลังทั้งหมด, จำนวนการออกกำลังรวม และระยะทางเฉลี่ยสำหรับการออกกำลังแต่ละครั้ง แน่นอนว่าชี้ไปที่หางริบบิ้นทางซ้ายมือจะแสดงระยะทางที่เหลือสำหรับเลื่อนไปยังระดับขั้นถัดไปนั่นเอง
ด้านล่างมีข้อมูลเปรียบเทียบกับนักวิ่งท่านอื่น โดยสรุปรวมจาก 30 วันผ่านมา แบ่งเป็นข้อมูลของเราเอง, ข้อมูลเฉลี่ยของนักวิ่งที่รุ่นราวคราวเดียวกับเรา และข้อมูลเฉลี่ยของทุกคนจากทุกมุมโลก
เริ่มที่ ระยะทางรวม
ตามด้วย ระยะทางเฉลี่ยต่อครั้ง
ต่อมาเป็น เวลาเฉลี่ยที่ใช้ต่อระยะทางหนึ่งกิโลเมตร
และสุดท้ายเป็น คะแนน NikeFuel สูงสุดที่ทำได้
หน้า Activity
เป็นหน้าแสดงข้อมูลการออกกำลังทั้งหมดอย่างละเอียด มาดูกันทีละหัวข้อว่ามีอะไรบ้าง
ข้อมูลการออกกำลังกาย
แสดงผลเป็นรูปกราฟบอกความเร็วที่ทำได้ (แกนตั้ง) เทียบกับระยะทางที่ผ่านไป (แกนนอน) แบ่งเป็นแต่ละกิโลเมตรอย่างชัดเจน กราฟที่ขึ้นสูงกว่าแกนเฉลี่ยกลางจะเป็นสีเหลืองจนถึงสีเขียว กราฟที่ต่ำกว่าจะแสดงเป็นสีส้มจนถึงสีแดง สามารถดูความเร็วแต่ละระยะได้อย่างละเอียด
ที่มุมขวามือบนมีปุ่มสำหรับเผยแพร่ข้อมูลไปที่ Facebook และ Twitter ตามด้วยปุ่มสำหรับสั่งลบข้อมูลที่ดูอยู่นี้ หากเป็นข้อมูลที่มีปัญหา
ถัดลงมาใต้กราฟมีข้อมูลสรุปรวมให้เห็นกันชัดๆ ต่อด้วยบันทึกส่วนตัวประจำการออกกำลังครั้งนี้ ปิดท้ายด้วย Splits เป็นข้อมูลรายกิโลเมตรแสดงเวลาและความเร็วที่เปลี่ยนแปลงไปในแต่ละช่วง
สิ่งใหม่ที่เพิ่มมาในบันทึกส่วนตัวก็คือข้อมูลรองเท้าที่ใช้
ช่วยให้ติดตามดูได้ว่ารองเท้าคู่ปัจจุบันนี้ใช้ไปแล้วกี่กิโลเมตรสำหรับวางแผนการใช้งาน มีประโยชน์มาก
ข้อมูลรายสัปดาห์
ช่วยให้เห็นความเป็นไปแต่ละวันในสัปดาห์ เหนือรูปกราฟเป็นข้อมูลระยะทางเฉลี่ยที่ทำได้ในแต่ละครั้ง และสามารถชี้ที่กราฟแท่งเพื่อดูข้อมูลของแต่ละวันได้ ถัดลงมาเป็นข้อมูลสรุปรวม
สามช่องล่างสุดได้แก่
• แนวโน้มความเร็วที่ทำได้ในสัปดาห์นี้ ช่วยให้เห็นเลยว่าดีขึ้นหรือแย่ลงขนาดไหน
• รวมลักษณะพื้นที่ที่ไปออกกำลังตลอดสัปดาห์
• สรุปเวลาที่ไปออกกำลังว่าเป็นช่วงเช้า ช่วงเที่ยงและช่วงเย็นมากน้อยแค่ไหน
ข้อมูลรายเดือน
คราวนี้ได้เห็นข้อมูลทุกวันและภาพรวมของทั้งเดือน
ข้อมูลรายปี
ได้เปรียบเทียบความก้าวหน้าในแต่ละเดือนตลอดทั้งปี ข้อมูล Snapshot ด้านล่างยิ่งเห็นแนวโน้มของความเร็วแม่นยำยิ่งขึ้น ช่วยให้วางแผนและออกแบบการออกกำลังกายได้ดียิ่งขึ้น
ข้อมูลทั้งหมด
คราวนี้แสดงผลแบบรายวันแต่สามารถเลื่อนดูตั้งแต่วันแรกที่เริ่มใช้ Nike+ ได้เลย ข้อมูลสรุปรวมต่างๆ ที่แสดงออกมาช่วยให้เห็นความสำเร็จที่ค่อยๆ สะสมมาตลอดระยะเวลาที่ได้ออกกำลังกาย
ทุกหน้าที่แนะนำไปตั้งแต่ข้อมูลรายสัปดาห์เป็นต้นมาจะมีข้อมูลอีกชุดหนึ่งแสดงผลอยู่ถัดลงมา นั่นคือ
เป็นข้อมูล ‘ดีที่สุด’ ที่เคยทำได้อย่างละเอียดถึง 6 ชุดได้แก่
• วันที่เผาผลาญพลังงานได้มากที่สุด พร้อมข้อมูลพลังงานที่ใช้ไป
• วันที่ทำระยะทางได้มากที่สุด พร้อมตัวเลขกิโลเมตร
• วันที่ใช้เวลาออกกำลังนานที่สุด พร้อมตัวเลขชั่วโมง นาที วินาที
• วันที่ทำระยะทาง 1 กิโลเมตรได้เร็วที่สุด พร้อมตัวเลขนาที วินาที
• วันที่ทำระยะทาง 5 กิโลเมตรได้เร็วที่สุด พร้อมตัวเลขนาที วินาที
• วันที่ทำระยะทาง 1 ไมล์ได้เร็วที่สุด พร้อมด้วยตัวเลขนาที วินาที
ตั้งแต่เปิดตัวเว็บใหม่ ทางไนกี้ยังมีการปรับปรุงระบบอยู่หลายครั้งหลายครา จนกระทั่งวันนี้โทนสีของเว็บอาจแตกต่างไปจากที่เห็นในบทความนี้ไปบ้าง แต่สิ่งที่ไนกี้ไม่ยังยอมแก้ไขคือ ยังกำหนดให้วันจันทร์เป็นวันเริ่มต้นของสัปดาห์ จำเป็นต้องสื่อสารไปยัง @NikeSupport จนได้คำตอบว่าต่อไปนี้จะเป็นอย่างนี้ตายตัว จึงต้องแย้งไปว่านี่เป็นสิ่งที่รับไม่ได้ ทั้งที่ตั้งแต่เริ่มเปิดให้บริการ ผู้ใช้สามารถเลือกได้ว่าจะให้วันอาทิตย์หรือวันจันทร์เป็นวันเริ่มต้นสัปดาห์ ต่อมาวันอาทิตย์ถูกกำหนดไว้ตายตัวเปลี่ยนแปลงไม่ได้อีก ทำไมวันนี้ต้องเปลี่ยนเป็นวันจันทร์ทั้งที่ของเดิมดีอยู่แล้ว ทาง @NikeSupport ยอมรับและจะส่งข้อมูลนี้ไปถึงผู้พัฒนาระบบต่อไป
หวังว่าเว็บไนกี้พลัสใหม่นี้จะทำงานได้ดีขึ้นเรื่อยๆ เมื่อเวลาผ่านไป
2012.8.12 Game On, World
วันเวลาล่วงเลยจนมาถึงช่วงต้นเดือนสิงหาคม ณ วันที่ 12 เป็นวันสำคัญอย่างยิ่งของคนไทยด้วยเป็นวันเฉลิมพระชนม์พรรษาของสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ และเป็นวันแม่แห่งชาติ ประจวบเหมาะอย่างดีที่ทางไนกี้จัดงานรวมพลังนักวิ่งจากทั่วทุกมุมโลกโดยให้ชื่อว่า Game On, World หมายถึงทุกกิจกรรมที่เกิดขึ้นบนโลกนี้ถือได้ว่าเป็นการละเล่น
นับว่าเป็นวันดีมากจึงตั้งใจจะทำระยะ 10K ให้ได้อีกครั้ง การฝึกซ้อมเป็นไปเพื่อเพิ่มระยะทางขึ้นเรื่อยๆ หลังจากที่หยุดพักและซ้อมเบาๆ อยู่นานพอสมควร
และก็สามารถทำได้สำเร็จ แม้บรรยากาศที่ ‘สวนสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ฯ’ จะพลุกพล่านเกินกว่าเคย
สองวันให้หลัง ไนกี้ประกาศสถิติรวมครั้งประวัติศาสตร์
ดังนี้
• รวมคะแนน NikeFuel ได้มากถึง 596,317,887 คะแนน
• รวมการะกระโดด 278,908 ครั้ง
• รวมระยะทาง 811,758 ไมล์ หรือประมาณ 1,306,398 กิโลเมตร
• มีผู้ร่วมกิจกรรมนี้ 2,003,758 คน จาก 25,678 เมือง ใน 86 ประเทศ
นับตั้งแต่งาน Human Race หยุดไปหลายปี ก็เพิ่งมีงาน Game On, World นี้ที่เป็นกิจกรรมใหญ่ประจำปี มีความภูมิใจที่ได้เป็นส่วนหนึ่งของงานนี้ในวันสำคัญอย่างยิ่งของปวงชนชาวไทย และยังได้ออกวิ่ง ณ สวนที่ได้รับพระราชนานพระนามมาบรรจุไว้ นับรวมแล้วทุกสิ่งล้วนเป็นสิริมงคล
ชีวิตยังคงต้องเดินหน้าต่อไป เป้าหมายคือหมุดหลักต่อไปอีกหลายหมุดยังรออยู่ข้างหน้า อุปสรรคทั้งจากภายในและภายนอกผ่านเข้ามาทดสอบกำลังสติปัญญา บันทึกนี้จึงเป็นส่วนหนึ่งของการพัฒนาจากภายในให้ส่งผลออกสู่ภายนอก อย่างน้อยเมื่อใดที่อาจจะต้องการตัวช่วย ข้อมูลเหล่านี้ก็จะมีอยู่เพื่อทำประโยชน์ในตัวเองต่อไป
ข้อมูลเพิ่มเติม